รู้หรือไม่ ! นับตั้งแต่ปี 2000 หรือสมัยยอดฮิต "Y2K" มีผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแล้วถึง 4 ล้านราย โดยส่วนใหญ่เสียชีวิตจากปัญหาสุขภาพ
คอลิน คาร์ลสัน นักระบาดวิทยาด้านสภาพอากาศ ตีพิมพ์บทความลงวารสาร Nature Medicine เมื่อวันที่ 30 มกราคม 67 ที่ผ่านมา เนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นเรื่องผู้เสียชีวิตจากผลพวงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยอ้างอิงการศึกษาของ แอนโธนี แมคไมเคิล นักระบาดวิทยาชาวออสเตรเลีย
คาร์ลสัน กล่าวว่า การคะเนตัวเลขผู้เสียชีวิตแบบเป๊ะ ๆ ยังเป็นเรื่องยาก และมีข้อจำกัดอยู่ แต่หากเอาปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นตัวตั้ง ตั้งแต่ปี 2000 หรือยุค Y2K จนถึงปี 2567 คาดว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ล้านรายทั่วโลก
“จำนวนผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ล้านราย มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ ว่าเสียชีวิตจากวิกฤตสภาพอากาศ” คอลิน คาร์ลสัน แสดงทัศนะให้เห็นภาพใหญ่ว่าภาครัฐไม่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาด้านอากาศมากเท่าที่ควร
โดยเขายกเคสของประเทศในแอฟริกาขึ้นมา และบอกว่าสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ที่ภูมิภาคนี้เกิดจากโรคมาลาเรีย โรคท้องร่วง หรือสภาวะขาดแคลนน้ำและอาหาร เพราะถูกพิษภัยแล้งถล่ม แถมเน้นย้ำอีกว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก
พร้อมทั้งพุ่งเปาไปที่ประเทศร่ำรวยหรือมหาอำนาจโลกทั่วโลก ว่าต้องกำจัดเชื้อเพลิงฟอสซิลออกจากระบบอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วน แล้วหันไปใช้พลังงานสะอาดแทน เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบไปแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยคือกลุ่มประเทศยากจน ที่ยังขาดแคลนระบบสาธารณสุขที่ดี หรือแม้กระทั่งสภาวะไร้แขนขาเมื่อต้องเจอภัยพิบัติอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
คาร์ลสันตั้งข้อสังเกตว่า หากไม่นับรวมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 7 ล้านคน จำนวนผู้เสียชีวิตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าวิกฤตที่ถูกกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เสียอีก
ในความหมายคือ ขณะที่โควิด-19 เป็นภัยคุกคามระดับมนุษยชาติ (ซึ่งเป็นจริง) แต่คาร์ลสันก็มองอีกมุมว่า แล้วผู้เสียชีวิตจาก Climate Change ล่ะ ไฉนจึงถูกมองข้ามไป และไม่มีการ take action อย่างจริงจังในระดับเดียวกันที่ปฏิบัติกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
อย่างที่กล่าวไป คนชายขอบของสังคม ซึ่งเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก Climate Change ไม่ว่าจะ ความแห้งแล้ง ปัญหาสุขภาพ และความอัตคัดในเหลี่ยมมุมต่าง ๆ หากแต่ละประเทศมีนโยบายที่พุ่งตรงไปแก้ปัญหาด้านนี้โดยตรง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนจะดีขึ้น
ข้อแนะนำของคาร์ลสันสรุปได้สั้น ๆ ดังนี้ว่า รัฐบาลควรวางระบบสาธารณสุขในท้องถิ่นให้แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกล หรือรกร้างเศรษฐกิจแค่ไหน หากมีผู้อาศัยอยู่รัฐต้องยื่นมือเข้าไปช่วย
ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรหยูกยา อาหาร น้ำสะอาด และปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิต เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้มีต้นทุนเพียงพอที่จะรักษาสุขภาพ และชีวิตของตัวเอง รวมถึงคนในครอบครัวให้รอดพ้นจากมหันตภัย Climate Change ไปได้
ที่มา: Euro News , Nature Medicine
ข่าวที่เกี่ยวข้อง