รู้หรือไม่? ใน 1 ปี เรืออวนโลกทั่วโลกมีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน 340 ล้านตัน เทียบเท่า 8 ปีของชาวกรุงเทพ ถือเป็นยานพาหนะที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะปล่อย Co2 มากถึงเพียงนี้ แต่นอกเหนือจากมลพิษแล้ว มีผลกระทบด้านอื่น ๆ ต่อท้องทะเลหรือไม่ ติดตามได้ที่บทความนี้
ด้วยปัญหาด้านสภาพอากาศที่โลกกำลังเผชิญ หลายประเทศกำลังพยายามอย่างหนัก เพื่อหากลวิธีในการลดการปล่อยคาร์บอนลง ไม่ว่าจะเป็น การรณรงค์ให้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หันมาใช้พลังงานสะอาด เพื่อผ่อนจากหนักเป็นเบา
“ยานพาหนะ” ถือเป็นอีกหนึ่งตัวการที่ปล่อยมลพิษออกสู่ชั้นบรรยากาศ เครื่องบิน รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ รถบัส หรือเครื่องบิน เหล่านี้อาจเป็นสิ่งแรก ๆ เมื่อนึกถึงคำดังกล่าว แต่รู้หรือไม่ว่า เรือ ถือเป็นยานพาหนะอีกชนิดที่ปล่อย Co2 ไม่แพ้ยานพาหนะชนิดอื่น ๆ
ข้อมูลจาก New Scientist ก็ทำช็อกอยู่ไม่น้อย โดยระบุว่า เรืออวนลาก (ทั่วโลก) ปล่อยก๊าซคาร์บอนประมาณ 340 ล้านตัน ต่อปี ขณะที่สำนักสิ่งแวดล้อมเผยว่า กรุงเทพฯ ปล่อยคาร์บอนราว 42 ล้านตันต่อปี
นั่นหมายความว่า ใน 1 ปี เรืออวนลาก (ทั่วโลก) ปล่อยคาร์บอนเทียบเท่ากับชาวกทม. ในระยะเวลา 8 ปีรวมกัน
ตัวเลขดังกล่าวมาจากการศึกษาชิ้นหนึ่งของ Trisha Atwood จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ ได้สำรวจการศึกษาเพื่อดูว่า เรืออวนลากปล่อย Co2 มากน้อยแค่ไหน ด้วยการเก็บข้อมูลของเรืออวนลากทั่วโลกจากองค์กร Global Fishing Watch
ผู้ศึกษาท่านนี้ ร่วมมือกับนักวิจัยที่พัฒนาแบบจำลองการไหลเวียนของมหาสมุทรด้วยคอมพิวเตอร์ พบว่า คาร์บอนประมาณ 55% ที่ถูกปล่อยลงน้ำโดยการลากอวนนั้น เมื่อผ่านไป 9 ปี จะไปจบที่ชั้นบรรยากาศ
Atwood กล่าวว่า เมื่อไปดูปริมาณคาร์บอนที่มนุษย์ทั่วโลกปล่อยออกมาในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 40.9 พันล้านตัน ดังนั้น หากการคำนวณของการศึกษาครั้งนี้ถูกต้องแม่นยำ พบว่า การลากอวนจะมีส่วนปล่อยคาร์บอนออกสู่โลกเป็นสัดส่วนร้อย 0.8 หรือเท่ากับร้อยละ 2.8 ของอุตสาหกรรมการบิน
ทว่า การศึกษาดังกล่าวถูกแย้ง มีนักวิจัยหลายท่านที่ไม่เชื้อในตัวเลขดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า คาร์บอนส่วนใหญ่ที่ถูกปล่อยสู่ก้นทะเลนั้นอยู่ในรูปแบบที่ยากต่อการสลาย หมายความว่าแม้จะถูกรบกวนจากสิ่งใด ก็คงไม่มีคาร์บอนลอยขึ้นสู่อากาศได้อีก
ผู้ทำการศึกษานี้ ตบท้ายว่า งานวิจัยเกี่ยวกับมลพิษการลากอวนนั้นมีน้อยมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการเริ่มนับอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศนั้น ๆ เอง ในการรู้ว่าควรควบคุมการปล่อยมลพิษหรือไม่
ยกเคสของไทยเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ก่อนอื่นขอปูพื้นภาพอุตสาหกรรมทางทะเลของประเทศไทยกันก่อน ปัจจุบันไทยมีเรือประมงราว 61,832 ลำ แบ่งได้เป็นเรือพาณิชย์ 10,595 ลำ เรือประมงพื้นบ้าน 51,237 ลำ และ 3,370 ลำในนั้นเป็นเรืออวนลาก ซึ่งมี 2,752 ลำที่ได้จดทะเบียนอยู่ที่อ่าวไทย และ 618 ลำ จดทะเบียน 618 ลำ
สิ่งที่ได้รับผลกระทบจากเรืออวนลากได้แก่
ข้อมูลจาก Greenpeace เขียนถึง “อวนลาก” ว่า การทำประมงด้วยการใช้เครื่องมืออวนลาก เพื่อไปจับปลาหน้าดิน (bottom trawling) เป็นการจับแบบหว่าน ในความหมายคือไม่ได้เจาะจงไปที่สัตว์น้ำชนิดใดเป็นพิเศษ อะไรอยู่แถวนั้นก็โดนรวบหมด
ลองนึกภาพว่า อวนลากขนาดใหญ่เมื่อถูกหย่อนลงทะเลไป อะไรที่อยู่ระแวกนั้นก็จะถูกกวาดเข้าไปแทบทั้งสิ้น เหตุนี้เองทำให้สัตว์น้ำที่อยู่นอกเหนือจากสัตว์น้ำเพื่อการค้า พลัดหลงเข้ามาในอวดลากจำนวนมาก
ทีนี้มาดูสถิติ CPEU หรือ ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ต่อหน่วยลงแรงประมง เพื่อดูว่าปลาที่ถูกจับได้นั้นมากแค่ไหน
จากข้อมูลการจับสัตว์น้ำของเรืออวนลากตั้งแต่ปี 2551 – 2562 พบว่า ปริมาณสัตว์น้ำลดลงจาก 784,991 ตัน (ปี 2551) เหลือ 637,213 ตัน (ปี 2562) หรือประมาณ 19% ทว่า...
น้ำหนักตันกรอสรวมของเรืออวนลากกลับเพิ่มสูงขึ้นจาก 154,972 (ปี 2551) เป็น 201,426 (ปี 2562) หรือประมาณ 30% แปลเป็นภาษาให้เข้าใจง่าย ๆ คือ มีการทำประมงเกินขนาด ซึ่งส่วนใหญ่หันมาใช้เรือที่มีไซส์ใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้จับปลาได้เยอะขึ้น
แหวกอวนลากออกมาอาจพบปลาชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นเป้าหมาย หรือเป็นปลาสินค้า เช่น ปลาหรือตัวอ่อนของสัตว์บางชนิดที่พลัดหลงเข้ามาด้วย
ย้อนกลับไปในปี 2021 เพจ IMAN Camera ได้โพสต์ภาพและคลิปวีดีโอ อวนขนาดใหญ่ถูกทิ้งและทับอยู่บนแนวปะการัง ที่บริเวณเกาะโลซิน จ.ปัตตานี
เป็นภาพที่ดูโหดร้ายพอสมควร เมื่อปะการังต้องตกอยู่ภายใต้อวนขนาดมหึมา แถมเจ้าหน้าที่ก็ไม่ทราบว่าเป็นอวนของใคร
สันนิษฐานกันไปต่าง ๆ นา ๆ ว่า เห็นมั้ยเนี่ย ว่าอวนลากมีปัญหายังไง บ้างก็ว่าน่าจะเป็นของชาวประมงที่อาจหลุด หรือถูก (ตั้งใจ) ทิ้งเอาไว้แบบนั้น โดยมิสนว่าสรรพชีวิตด้านล่างต้องเจอกับผลกระทบอะไรบ้าง
การที่ปะการังถูกอวนคลุมทับไว้อยู่ ทำให้พวกมันไม่สามารถรับแสงแดดได้ อีกทั้งอวนที่มาตึดอยู่กับพวกมัน ก็ถูกตะไคร่น้ำขึ้นอีกที และเมื่อปะการังไม่ได้รับแสงแดดเป็นเวลานานพวกมันก็จะค่อย ๆ เหี่ยวเฉาและตายไป โชคดีที่ในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่สามารถกู้สถานการณ์ไว้ได้ทัน
นอกเหนือจากสัตว์น้ำและปะการังแล้ว อวนลากอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเหลี่ยมมุมอื่น ๆ ด้วย อาทิ น้ำมันรั่วไหล มลพิษทางอากาศ เสียง ซึ่งเหล่าอาจเป็นอันตรายต่อประชากรใต้น้ำได้
เรืออวนลาก ถือเป็นยานพาหนะชนิดหนึ่งที่อยู่นอกเหนือความสนใจพอสมควร เมื่อพูดถึงเรื่องการปล่อยคาร์บอน อิงจากข้อมูล เรืออวนลากปล่อยคาร์บอนถึง 340 ล้านตันทั่วโลก หากเทียบในแวดวงยานพาหนะด้วยกัน ก็ถือว่าไม่น้อยหน้าไปกว่าใคร
ที่มา: มูลนิธิสืบนาคสเถียร , SDG MOVE , UtahstateUniversity , Greenpeace , ฐานเศรษฐกิจ , New Scientist
ข่าวที่เกี่ยวข้อง