งานวิจัยใหม่เผย แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลาย 30 ล้านตันต่อชั่วโมง เทียบเท่าเรือไททานิค 650 ลำจมลงสู่ก้นมหาสมุทรพร้อมกัน น้ำแข็งกรีนแลนด์ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร?
รุนแรงกว่าที่คาดไว้! การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกเดือดกำลังเร่งให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย โดยเฉพาะกรีนแลนด์
จากการศึกษาล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อระบุตำแหน่งสิ้นสุดของธารน้ำแข็งหลายแห่งในกรีนแลนด์ทุกเดือน ตั้งแต่ปี 1985 – 2022 จากการคำนวณน้ำหนักและขนาด แสดงให้เห็นการลดขนาดลงมหาศาลของกรีนแลนด์
โดยล่าสุด กรีนแลนด์สูญเสียน้ำแข็งโดยเฉลี่ย 30 ล้านตันต่อชั่วโมง หรือหากเทียบกับสิ่งที่หลายคนรู้จัก เราขอเทียบกับเรือไททานิคที่มีน้ำหนักราว ๆ 46,000 ตัน ดังนั้น 30 ล้านตันจึงคาดว่าจะเทียบเท่ากับเรือไททานิคจมลงสู่ก้นมหาสมุทรพร้อมกัน 650 ลำใน 1 ชั่วโมง ซึ่งมันแย่กว่าที่นักวิทย์คาดไว้ก่อนหน้านี้ซะอีก
นักวิทย์บางคนกังวลว่า น้ำแข็งจากกรีนแลนด์ละลายจะเพิ่มน้ำจืดลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการล่มสลายของกระแสน้ำในมหาสมุทร หรือที่เรียกว่า กระแสน้ำพลิกคว่ำในมหาสมุทรได้ (the Atlantic meridional overturning circulation (Amoc)) และที่สำคัญคือทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น
เมื่อกระแสน้ำเปลี่ยน ระดับน้ำเปลี่ยน รวมถึงรูปแบบของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน แน่นอนว่าจะกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารทั่วโลก ซึ่งนั่นคือพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีพของมนุษย์หลายพันล้านคน
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เผยว่า จากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ร่วมกับข้อมูลที่ศึกษามานานนับทศวรรษและการติดตามธารน้ำแข็งมากกว่า 235,000 แห่ง การศึกษาพบว่า ตลอดระยะเวลา 38 ปี แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์สูญเสียพื้นที่โดยรอบไปแล้ว 5,000 ตารางกิโลเมตร นับตั้งแต่ปี 1985
และจากการอัปเดตล่าสุดพบว่า น้ำแข็งกรีนแลนด์สูญหายไป 221 พันล้านตันทุกปี นับตั้งแต่ปี 2003 และการศึกษาใหม่นี้ก็ได้เพิ่มไปอีก 43 พันล้านตันต่อปี ซึ่งก็เท่ากับน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายประมาณ 30 ล้านตันต่อชั่วโมง
ที่มาข้อมูล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง