ภาพถ่ายดาวเทียมและเรดาร์เผยภูมิทัศน์ของแม่น้ำโบราณที่ถูกฝังอยู่ใต้แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันออก ที่ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเวลาอย่างน้อย 14 ล้านปี เผยความลับขั้วโลกใต้เคยเป็นทวีปเขียวขจี อุดมสมบูรณ์
ผลสำรวจเรดาร์เผยความลับใต้ผืนน้ำแข็งขั้วโลกใต้
ขั้วโลกใต้เป็นทวีปที่เมื่อเอ่ยถึง ทุกคนจะมีจินตภาพในหัวเป็นดินแดนแห่งน้ำแข็งและหิมะ ที่ซึ่งธารน้ำแข็งหนากว่ากิโลเมตรกลบฝังผืนดินทั่วทั้งทวีป จนไม่มีสิ่งใดนอกจากสัตว์บางประเภทอย่าง แมวน้ำและนกเพนกวิน และพืชชั้นต่ำอย่างพวกมอสและไลเคนที่จะมีชีวิตอยู่ได้ในทวีปเยือกแข็งแห่งนี้
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังทำให้พืดน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกใต้ละลายบางลง นักวิจัยได้ใช้ดาวเทียมและเรดาร์เพื่อวิเคราะห์ภูมิประเทศที่ถูกฝังไว้ใต้ธารน้ำแข็ง ทำให้พวกเขาได้ค้นพบภูมิประเทศที่ถูกแช่แข็งไว้ในกาลเวลาและไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยมาหลายล้านปีภายใต้ชั้นนำแข็งหนา ประกอบด้วยเนินเขาและหุบเขาที่เกิดจากแม่น้ำที่เคยไหลผ่าน เมื่อยามที่ทวีปแอนตาร์กติกายังคงเขียวขจี
Stewart Jamieson และเพื่อนร่วมงานได้ใช้ดาวเทียมและเรดาร์เพื่อวิเคราะห์ภูมิทัศน์ใต้แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันออก ในแอ่งออโรรา-ชมิดต์ ด้านในของธารน้ำแข็ง Denman และ Totten พวกเขาพบว่าภูมิประเทศภายใต้ผืนน้ำแข็ง ประกอบด้วยพื้นที่หุบผาที่เคยมีแม่น้ำไหลผ่าน ซึ่งอยู่ห่างจากขอบแผ่นน้ำแข็งเพียงประมาณ 350 กิโลเมตร
Jamieson กล่าวว่า การค้นพบครั้งดังกล่าว ถือเป็นโอกาสอันดีในการศึกษาภูมิประเทศ สภาพอากาศ และระบบนิเวศโบราณของทวีปแอนตาร์กติกาก่อนที่ทั้งทวีปจะถูกแช่แข็งใต้ชั้นน้ำแข็งหนา แต่อุณหภูมิที่กำลังอุ่นขึ้นเรื่อยๆ จากสภาวะโลกร้อน หมายความว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่โลกในครั้งบรรพกาล ตอนที่ขั้วโลกยังปราศจากน้ำแข็ง และเป็นไปได้ที่แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันออกจะล่าถอยพอ ที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ในพื้นที่แถบนี้เป็นครั้งแรกในรอบอย่างน้อย 14 ล้านปี
“ภูมิอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกำลังเข้าใกล้ขอบเขตอุณหภูมิโลกเมื่อ 34–14 ล้านปีก่อน ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปัจจุบันประมาณ 3 – 7 องศาเซลเซียส ดังนั้นการทำความเข้าใจว่าแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอดีต จะช่วยให้เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าโลกของเราจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดในอนาคต เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสภาวะโลกร้อน" Jamieson กล่าว
อดีตขั้วโลกใต้ที่เคยเขียว
จากข้อมูลที่เสนอโดย PBS Eon ทวีปแอนตาร์กติกาในอดีต เคยเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยชีวิตมาก่อน โดยจากการศึกษาซากฟอสซิลสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ที่พบในทวีป พบว่าในช่วงยุคอีโอซีน ราว 56 ล้านปีก่อน หรือช่วงภายหลังจากการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ไม่นาน ทวีปแอนตาร์กติกาเคยปกคลุมด้วยป่าทึบ เต็มไปด้วยสรรพสัตว์มากมาย
ข้อมูลจากการศึกษาซากฟอสซิลยังพบว่า ผืนแผ่นดินขั้วโลกใต้เคยเป็นสะพานเชื่อมแผ่นดินแห่งสำคัญ ที่ทำให้ต้นตระกูลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้อง ข้ามจากทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้ ให้ไปแพร่พันธุ์ในทวีปออสเตรเลีย เป็นต้นกำเนิดที่ทำให้ออสเตรเลียเต็มไปด้วยสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องที่เป็นเอกลักษณ์มากมายทั้ง จิงโจ้ หมีโคอาลา หรือแทสเมเนียนเดวิล
นอกจากนี้ จากการต้นพบละอองเกสรและสปอร์ของพืชตระกูลปาล์มและเฟิร์น ยังเผยอีกว่า อุณหภูมิในอดีตของขั้วโลกใต้ยังมีความอบอุ่นเพียงพอที่จะทำให้พืชเขตร้อนอย่างต้นปาล์มและเฟิร์นเจริญเติบโตได้ในแอนตาร์กติกา
จากการวิเคราะห์อุณหภูมิเฉลี่ยของภูมิภาคแอนตาร์กติกาตะวันออกเมื่อราว 56 ล้านปีที่แล้ว ภูมิภาคแห่งนี้มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 16 องศาเซลเซียส หรือใกล้เคียงกับภูมิอากาศของกรุงโรม ประเทศอิตาลี หรือกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับสภาพภูมิอากาศของแอนตาร์กติกาตะวันออกในปัจจุบันที่นับว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในโลก โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ -12 ถึง -35 องศาเซียลเซียส และอาจติดลบได้ถึง -98 องศาเซลเซียสในช่วงที่หนาวที่สุด
อย่างไรก็ตาม ภูมิอากาศอบอุ่นและพืชพรรณเขียวขจีที่ขั้วโลกใต้ไม่ใช่สิ่งจีรังยั่งยืน จากการเคลื่อนตัวของทวีป ทำให้ทวีปแอนตาร์กติกาถูกตัดขาดออกจากทวีปข้างเคียงอย่าง ออเตรเลีย และอเมริกาใต้ ส่งผลให้เกิดกระแสน้ำเย็นไหลวนรอบทวีปแอนตาร์กติกา กลายเป็นปราการไม่ให้กระแสน้ำอุ่นจากเส้นศูนย์สูตรและดึงเอากระแสน้ำเย็นจากใต้สมุทรขึ้นมาไหลวนรอบทวีป ทำให้ภูมิอากาศขั้วโลกใต้หนาวเย็นลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นทวีปน้ำแข็งอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลูกเพนกวินจักรพรรดิตายนับหมื่น แผ่นทะเลน้ำแข็งแอนตาร์กติกาแตกออกจากกัน
ไข้หวัดนกระบาดครั้งแรกในขั้วโลกใต้ เพนกวินหวิดติดเชื้อตายหมู่
เลี่ยงไม่ได้แล้ว! น้ำแข็งแอนตาร์กติกตะวันตกละลายเร็ว ทำระดับน้ำทะเลเพิ่ม
ที่มาข้อมูล: Technology Networks / PBS Eon