งานวิจัยของมหาวิทยาลัย University of Washington ยืนยันผลกระทบสภาวะโลกร้อนต่อประชากรหมีขั้วโลกเป็นครั้งแรก หลังสามารถพิสูจน์ได้ว่า ยิ่งเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเท่าใด อัตราการรอดตายของลูกหมีขั้วโลกยิ่งน้อยลงเท่านั้น
แม้ว่าจะมีนักวิจัยหลายต่อหลายกลุ่มออกมาชี้ถึงความเกี่ยวเนื่องระหว่างสภาวะโลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งทะเลอาร์กติกหดตัวอย่างต่อเนื่อง กับการลดลงของประชากรหมีขั้วโลกในแถบขั้วโลกเหนือ แต่ยังไม่มีรายงานใดที่สามารถพิสูจน์ความเกี่ยวเนื่องระหว่างสภาวะโลกร้อนกับการหายไปของประชากรหมีขั้วโลก จนกระทั่งบทความวิจัยของมหาวิทยาลัย University of Washington ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้
โดยงานวิจัยดังกล่าว พบว่า การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60 ล้านกิกะตัน หรือเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่โรงไฟฟ้านับร้อยแห่งในสหรัฐปลดปล่อยตลอดอายุการใช้งานราว 30 ปี จะทำให้อัตราการรอดตายของลูกหมีขั้วโลกลดลงถึง 4% นับเป็นครั้งแรกที่นักวิจัยสามารถเชื่อมโยงสถิติการลดลงของน้ำแข็งทะเลจากสภาวะโลกร้อน ให้เข้ากับอัตราการตายของลูกหมีขั้วโลกได้
“เรารู้มาสักพักแล้วว่า สภาวะโลกร้อนและการลดลงของน้ำแข็งทะเลส่งผลกระทบโดยตรงต่อทั้งจำนวนประชากรหมีขั้วโลก และแหล่งกระจายพันธุ์หมีขั้วโลก แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราสามารถพิสูจน์ความเกี่ยวโยงนี้ออกมาเป็นตัวเลขได้” Steven Amstrup หัวหน้านักวิจัยของงานวิจัยชิ้นดังกล่าว พูด
งานวิจัยอธิบายว่า การลดจำนวนของหมีขั้วโลกมีความสัมพันธ์กับการหดตัวของน้ำแข็งทะเล เพราะหมีขั้วโลกจำเป็นต้องใช้น้ำแข็งทะเลในการออกล่าเหยื่อ โดยหมีขั้วโลกมักจะใช้น้ำแข็งที่ลอยในทะเลในการดักรอเพื่อล่าเอาแมวน้ำที่ต้องโผล่ขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ นอกจากนี้หมีขั้วโลกยังใช้น้ำแข็งทะเลเป็นที่ในการหาคู่ครองและผสมพันธุ์ โดยพวกมันจะจับคู่กันระหว่างออกล่าเหยื่อบนแพน้ำแข็งทะเลระหว่างช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม
ดังนั้นเมื่อน้ำแข็งขั้วโลกหดตัวเล็กลงๆ ทุกปี เนื่องจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากสภาวะโลกร้อน กำลังทำให้หมีขั้วโลกที่ต้องอาศัยแพน้ำแข็งทะเลในการออกหากินและออกหาคู่จึงต้องตกที่นั่งลำบาก เพราะเมื่อแพน้ำแข็งทะเลลดลง ถิ่นหากินและออกหาคู่จึงลดลงไปด้วย ในบางพื้นที่ การลดลงของน้ำแข็งทะเลหมายถึงความตายก่อนวัยอันควรของลูกหมีขั้วโลก ที่ต้องอดตายเพราะแม่ของพวกมันหาอาหารมาไม่ได้ หรือในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด นักวิจัยถึงกับพบหมีขั้วโลกที่ต้องอดตายทั้งครอบครัว
“หมีขั้วโลกเป็นสัตว์ที่วิเศษสวยงามมาก และผมหวังว่าพวกมันจะอยู่รอดจากสภาวะโลกร้อน เฉกเช่นเดียวกับที่ผมหวังว่ามนุษย์เราก็จะรอดจากสภาวะโลกร้อน เพราะพวกเราเองก็เปราะบางต่อผลกระทบสภาวะโลกร้อน ไม่ต่างจากหมีขั้วโลก” Cecilia Bitz นักวิจัยร่วมในงานวิจัยฉบับนี้ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง