svasdssvasds

ไข้หวัดนกระบาดครั้งแรกในขั้วโลกใต้ เพนกวินหวิดติดเชื้อตายหมู่

ไข้หวัดนกระบาดครั้งแรกในขั้วโลกใต้ เพนกวินหวิดติดเชื้อตายหมู่

จากการรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศ ไข้หวัดนกชนิด H5N1 ได้เข้าสู่แหล่งธรรมชาติสำคัญของโลกอย่าง ‘ขั้วโลกใต้’ ไปเป็นที่เรียบร้อย เพนกวิน และสัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ เตรียมรับแรงกระแทก

ภายหลังการเสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุของนกสกัว (Skua) ที่เกาะเซาท์จอร์เจียในขั้วโลกใต้ หน่วยงานสำรวจแอนตาร์กติกของอังกฤษ (BAS) ได้เก็บซากนกเพื่อไปทดสอบหาสาเหตุที่มาของการเสียชีวิต

และผลตรวจที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 ต.ค.) บอกว่า นกสกัวติดไข้หวัดนักชนิด H5N1

นกสกัวที่ขั้วโลกใต้ Cr.Flickr

“หายนะกำลังจะมา” ดร.นอร์แมน แรตคลิฟฟ์ นักนิเวศวิทยานกทะเลจาก British Antarctic Survey กล่าว

“เกาะเซาท์จอร์เจียเป็นเกาะที่วิเศษมาก มีนกหลากหลายสายพันธุ์รวมกันอยู่ที่เกาะนี้ ก็น่ากังวลที่ไข้หวัดนกได้ลุกลามไปถึงที่นั่นแล้ว” ดร. นอร์แมน กล่าว

 

ไข้หวัดนกแพร่ได้เร็วแค่ไหน?

เกาะเซาท์จอร์เจียเป็นดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษ ตั้งอยู่บริเวณทางใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของนกอัลบาทรอส (Albatross) เพนกวินมาคาโรนี (Macaroni Penguin) เพนกวินเจนทู (Gentoo Penguin) และนกอีกหลายสายพันธุ์

การพบนกที่ติดเชื้อที่เกาะเซาท์จอร์เจียจึงเป็นสัญญาณเตือนว่า เพนกวินหรือนกอื่น ๆ อาจติดเชื้อจากการระบาดของโรคไข้หวัดนก ซึ่งสามารถติดเชื้อได้ผ่านอุจจาระ หรือผ่านการสัมผัสกันโดยตรง

นกอัลบาทรอส (Albatross) Cr. Flickr

เพนกวินมักกะโรนี Cr. Wikipedia Commons

เพนกวินเจนทู (Gentoo Penguin) Cr. Flickr

“ประชากรนกที่ขั้วโลกใต้หนาแน่นมาก หากไข้หวัดนกเข้าไปถึงได้เมื่อไหร่ มันจะเกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว” ดร. นอร์แมน กล่าว

 

ในปีที่แล้ว ทั่วโลกมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกในหลาย ๆ พื้นที่ นั่นทำให้นักวิทยาศาสตร์ต่างตั้งตารอว่า จะตรวจพบไข้หวัดนกชนิด H5N1 ที่ขั้วโลกใต้หรือไม่

ซึ่งตอนแรกก็คาดการณ์ว่าโรคไข้หวัดนกไม่น่าลุกลามไปถึงเกาะเซาท์จอร์เจียได้ แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นอย่างนั้น

ข้อสันนิษฐานจากนักวิทยาศาสตร์มีอยู่ว่า สาเหตุที่นกสกัว (Skua) นำพาโรคไข้หวัดนกไปที่ขั้วโลกใต้เกิดจาก นกได้บินอพยพกลับมาจากอเมริกาใต้ และนำเชื้อติดตัวมาด้วย นั่นก็เพราะในทวีปอเมริกาใต้มีการระบาดของไข้หวัดนกอยู่เป็นจำนวนมาก

จากการรายงานของ OFFLU กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดใหญ่บอกว่า 2 ประเทศในอเมริกาใต้อย่าง ชิลีและเปรู เป็น 2 ประเทศที่ได้สูญเสียประชากรนกป่าไปแล้วกว่า 500,000 ตัว และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 20,000 ตัว 

OFFLU คาดว่าตัวเลขการเสียชีวิตจริง ๆ น่าจะมีมากกว่านี้ เพราะข้อจำกัดในการรวบรวมข้อมูลและปริมาณของนกที่เยอะมาก ทำให้ไม่สามารถฟันธงได้ 

และเนื่องจากที่ขั้วโลกใต้ไม่เคยมีการระบาดของไข้หวัดนกมาก่อน หมายความว่า เพนกวิน ซึ่งเดิมทีมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้หวัดนกน้อย หรืออาจจะไม่มีเลย เสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตได้

ที่มา: telegraph

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related