"โลกรวน" ตัวการสำคัญ ทำสภาพอากาศทั่วโลกแปรปรวนหนัก จีน-เกาหลี หนาวปากสั่น แคนาดาอากาศอุ่นกว่าปกติ ขณะที่เทศอื่น ๆ ในยุโรป ถูกพายุฝนถล่มในช่วงหน้าหนาว ติดตามรายละเอียดได้ที่บทความนี้
ทราบกันถ้วนทั่วว่า ปัจจุบันเราไม่ได้อยู่ในยุคโลกร้อนอีกต่อไปแล้ว แต่เราอยู่ในยุคโลกเดือด ยุคสมัยที่สภาพอากาศทั่วโลกระอุขึ้น อันเป็นผลพวงมาจากการปล่อยมลพิษของมนุษย์ในหลากหลายกระบวนท่า
“โลกรวน” ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากโลกเดือด และ Climate Change ถือเป็นอีกหนึ่งสภาวการณ์ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ Little Big Green ระบุว่า โลกรวนคือปรากฎการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นแตกต่างไปจากเดิม รุนแรงขึ้น คาดเดาไม่เดา และเกิดบ่อยจนผิดสังเกต
สอดรับกันเหตุการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ ประเทศแถบเอเชียอย่าง จีนและเกาลีกำลังเผชิญกับสภาพกับอากาศที่หนาวจนปากสั่น หรือแม้แต่ประเทศโซนหนาว ในปีนี้กลับ หนาวแปลก ๆ เกิดพายุบ้าง เจอฝนกระหน่ำบ้าง ทั้งหมดนี้เป็นผลจากภาวะโลกรวนทั้งสิ้น
เอเชียเผชิญลมวนขั้วโลกเหนือ ตัวการหนาวปากสั่นที่จีนและเกาหลีใต้
ในวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม นครเซี่ยงไฮ้ของจีนทำสถิติใหม่ ด้วยการเผชิญกับอากาศเดือนธันวาคมที่หนาวเย็นจัดที่สุดในรอบ 40 ปี โดยอุณหภูมิต่ำสุดที่วัดได้คือ ติดลบ 4- ติดลบ 6 องศาเซลเซียส และตลอดทั้งวันอุณหภูมิก็ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียสอย่างต่อเนื่อง
แต่อากาศที่หนาวเย็นในเซี่ยงไฮ้ ยังเทียบไม่ได้กับอีกหลายมณฑลทางตอนเหนือของประเทศจีน เพราะหลายพื้นที่ก็ทำสถิติมีอุณหภูมิต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตลอดหลายวันที่ผ่านมาเช่นกัน
จริง ๆ แล้วฤดูหนาวที่หนาวเย็นถือว่าเป็นเรื่องปกติมากในประเทศจีน แต่อุณหภูมิที่ติดลบและหนาวแบบสุดขั้ว ประกอบกับช่วงเวลาที่คลื่นความเย็นพัดเข้าปกคลุมกินเวลานานขึ้น นับว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ โดยอากาศที่หนาวเย็นจัดรอบนี้ เป็นผลมาจากอากาศหนาวที่พัดมาจากขั้วโลกเหนือ หรือที่เรียกกันว่า ลมวนขั้วโลก
เฉา ซัน นักอากาศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเปิดเผยว่า กว่า 30 ปีที่ผ่านมา บริเวณวงกลมอาร์กติก หรือบริเวณพื้นที่วงกลมที่อยู่ในละติจูดสูงครอบคลุมบริเวณขั้วโลกเหนือ เผชิญกับปัญหาโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การทวีคูณของอาร์กติก ซึ่งปรากฏการณ์ที่ทำให้ภาวะเรือนกระจกเข้มข้นขึ้น
ปัญหาโลกร้อนนำมาซึ่งความอ่อนแอลงของลมวนขั้วโลกในขั้วโลกเหนือ แต่มันกลับทำให้อากาศหนาวเย็นถูกพัดพาออกมายังพื้นที่ทางตอนใต้มากขึ้น และทำให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นความหนาวในหลายประเทศของเอเชียเวลานี้
หนึ่งในประเทศที่เผชิญกับคลื่นความหนาวคือเกาหลีใต้ กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของเกาหลีใต้ประกาศเตือนตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ทางตอนกลางของประเทศจะต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็วไปจนถึงวันที่ 22 ธันวาคม โดยเป็นผลมาจากลมวนขั้วโลกที่พัดเข้ามา
โดยที่เขตชอลวอน ทางตอนเหนือของเกาหลีใต้ ติดกับชายแดนเกาหลีเหนือ อุณหภูมิเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมลดลงต่ำสุดที่ติดลบ 24.7 องศาเซลเซียส ขณะที่ในกรุงโซล เมืองหลวงของเกาหลีใต้ อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ติดลบ 14.4 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิที่ต่ำที่สุดอยู่ที่ติดลบ 22 องศาเซลเซียส
ขณะที่หิมะตกวัดความหนาได้ 1-5 เซนติเมตรต่อชั่วโมงบนเกาะเชจู จังหวัดชอลลาใต้ และจังหวัดชุงชอง และคาดว่า หิมะจะยังคงตกหนักในพื้นที่ดังกล่าวจนถึงวันที่ 22 ธันวาคม
กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติเกาหลีใต้ยังได้ประกาศเตือนภัยคลื่นความหนาวทั้งในโซล จังหวัดคยองกี จังหวัดคังวอน และบางพื้นที่ของจังหวัดชุงชองด้วย
ออสเตรเลียเตรียมเจอคริสต์มาสที่มีฝน
ตามปกติแล้วในช่วงเวลาคริสต์มาสของออสเตรเลีย อากาศจะค่อนข้างสดใสและอากาศจะค่อนข้างร้อน เพราะเป็นหน้าร้อนของที่นั่น
แต่ปีนี้ ดูเหมือนว่า ออสเตรเลียอาจต้องเผชิญกับเทศกาลคริสต์มาสที่มีฝนตกหนักมากกว่าปกติ เพราะพายุฝนฟ้าคะนองหลายลูกเตรียมเข้าถล่มทางตะวันออกของออสเตรเลียในช่วงวันที่ 25 ธันวาคม
ส่วนพื้นที่อื่นทางตะวันตก ตอนเหนือ และตอนกลางของออสเตรเลียยังคงจะมีคริสต์มาสที่อากาศร้อนและแห้งเหมือนเดิม
ยุโรปเหนือพายุเข้ารับคริสต์มาส
หลายประเทศในยุโรปทางตอนเหนือกำลังเผชิญกับคริสต์มาสที่แสนวุ่นวาย อย่างที่สหราชอาณาจักร พายุเพียเข้าพัดถล่ม ส่งผลทำให้เกิดลมกระโชกแรง
โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสหราชอาณาจักรประกาศเตือนลมกระโชกแรงทางตอนเหนือของประเทศวันที่ 21 ธันวาคม โดยคาดว่า จะเกิดลมวัดความเร็วได้ราว 70-80 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 112- 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทางตอนเหนือของสก๊อตแลนด์
ขณะที่พื้นที่อื่นๆของสก๊อตแลนด์ รวมถึงไอร์แลนด์เหนือ เวลล์เหนือ และอังกฤษทางตอนเหนือจากเบอร์มิงแฮม อาจเกิดลมวัดความเร็วได้สูงสุด 45-55 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือราว 72-88 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนก่อนถึงเทศกาลคริสต์มาส โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาเตือนว่าการเดินทางในพื้นที่เหล่านั้นอาจจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากไฟฟ้าอาจดับ
ประชาชนที่สถานีคิงครอสส์ และสถานีลอนดอนอัสตัน ในกรุงลอนดอน ก็ได้รับผลกระทบแล้วในวันที่ 21 ธันวาคม เพราะรถไฟจำนวนมากต้องล่าช้าหรือถูกยกเลิก
อันเนื่องมาจากพายุเพีย และการประท้วงผละงานอย่างกะทันหันของคนงานบริษัทยูโรเทินนอล ซึ่งดูแลอุโมงค์ข้ามช่องแคบอังกฤษ ดังนั้นการเดินทางระหว่างลอนดอนไปยังฝรั่งเศสจึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย
แต่พายุเพียเข้าพัดถล่มเดนมาร์กระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม โดยคาดว่า ความเร็วลมของพายุตอนเดินทางถึงจะมีความรุนแรงเทียบเท่าระดับเฮอริเคน ส่งผลกระทบต่อการเดินทางอย่างแน่นอน ขณะที่ทางการประกาศยกระดับพายุเพียเป็น “อันตรายมาก” เพราะคาดว่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง
ส่วนที่เยอรมนี สภาพอากาศในช่วงนี้ไปจนถึงอย่างน้อยวันที่ 23 ธันวาคม คาดว่าจะเผชิญทั้งลมกระโชกแรง โดยเฉพาะทางตอนเหนือและพื้นที่ภูเขา อีกทั้งมีฝนตกหนักทางตอนกลางที่เป็นพื้นที่ภูเขา และยังมีทั้งฝนตกหนักสลับกับหิมะตกหนักทางตอนใต้ของประเทศ
สหรัฐฯตะวันตกและตอนกลางก็เผชิญกับฝนตกหนัก
ประชาชนหลายล้านคนในสหรัฐฯกำลังเดินทางเพื่อไปฉลองเทศกาลคริสต์มาส แต่ทางตอนกลางและตะวันตกของประเทศเวลานี้ สภาพอากาศเลวร้ายส่งผลทำให้การเดินทางได้รับผลกระทบ
ทางตะวันตกของประเทศกำลังเผชิญกับฝนตกหนัก โดยวันที่ 21 ธันวาคม คาดการณ์ว่าเกิดฝนตกหนักในทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ทั้งในนครลอสแองเจลิส และเมืองซานดิเอโก ขณะที่สำนักงานสภาพอากาศของสหรัฐฯระบุว่า ฝนตกหนักอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันตามมาในบางพื้นที่
ส่วนระหว่างวันที่ 22-23 ธันวาคมนี้ ฝนจะเริ่มเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางทั้งทางบกและทางอากาศ
ขณะที่ทางตอนกลางของสหรัฐฯจะเผชิญกับฝนมากขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และคาดว่าในบางพื้นที่อาจมีฝนตกหนักยาวไปจนถึงวันคริสต์มาส อย่างไรก็ตาม ชายฝั่งทางตะวันตก เช่น กรุงวอชิงตันดีซีและนครนิวยอร์ก จะมีอากาศที่ค่อนข้างดีกว่าในช่วงคริสต์มาส
แคนาดายังไม่หนาวเท่าทุกปี
ทางการแคนาดาประกาศเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม แต่รายงานระบุว่า อากาศกลับยังไม่หนาวเท่าที่ควร โดยปีนี้มีการคาดการณ์ว่า เดือนธันวาคมจะอุ่นกว่าทุกปี หรือไม่หนาวมาก เพราะนับจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่พบอากาศหนาวต่อเนื่องในพื้นที่ใดของประเทศเลย สาเหตุก็เนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญนั่นเอง
หนาวเราไม่เท่ากันจริงหรือ?
ถ้าคำว่า “ไม่เท่ากัน” หมายถึงสภาพอากาศของแต่ละประเทศ แน่นอนว่าไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่หากเราตั้งต้นว่า ร่างกายมนุษย์รับความหนาวได้แค่ไหน หนาวแค่ไหนเสี่ยงถึงตาย คิดว่าหากมองในเหลี่ยมนี้จะดีกว่า
ภายในร่างกายของมนุษย์เราโดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 37 องศาเซลเซียส แต่ภาวะตัวเย็นเกินจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่ออุณหภูมิร่างกายลดลงไปอยู่ที่ราว 35 องศาเซลเซียสและต่ำกว่า โดยมนุษย์เราสามารถเกิดภาวะตัวเย็นเกินได้ ก็ต่อเมื่อไปอยู่ในอากาศที่หนาวเย็นตั้งแต่ติดลบ 1- ติดลบ 10 องศาเซลเซียส
เว็บไซต์ pobpad อธิบายว่า ภาวะตัวเย็น คือภาวะที่ร่างกายสูญเสียความร้อนอย่างรวดเร็วจนมีอุณหภูมิต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้ระบบหัวใจและระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้
สำนักงานสภาพอากาศแห่งชาติสหรัฐฯระบุว่า อากาศหนาวเย็นว่าอันตรายแล้ว แต่จะยิ่งอันตรายไปใหญ่ ถ้าหากว่า มีฝนร่วมด้วย ซึ่ง ร่างกายมนุษย์เราจะสูญเสียความร้อนเร็วกว่าถึงราว 25 เท่าถ้าหากอยู่ในน้ำ ไม่ใช่ในอากาศ
เมื่อเราอยู่ในอากาศที่ต่ำถึงติดลบ 34 องศาเซลเซียส แม้แต่คนที่สุขภาพดี แต่ถ้าหากไม่ได้สวมเสื้อผ้าป้องกันความหนาวอย่างดี ก็อาจจะเผชิญกับภาวะตัวเย็นเกินได้ภายในเวลาเพียง 10 นาที และยิ่งหนาวถึงติดลบ 40 –ติดลบ 45 องศาเซลเซียส ระยะเวลาก็จะลดลงเหลือเพียงราว 5-7 นาทีก็จะเกิดภาวะตัวเย็นเกินแล้ว
อากาศที่เย็นจัดก็จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายของมนุษย์ลดลง ถ้าหากลดลงไปจนอยู่ที่ 33 องศาเซลเซียส มนุษย์สามารถเกิดอาการเสียความจำ หากลดไปอยู่ที่ 28 องศาเซลเซียส มนุษย์สามารถหมดสติ และถ้าหากอุณหภูมิในร่างกายเราลดไปจนต่ำกว่า 21 องศาเซลเซียส ก็สามารถถึงตายได้เลย
เคยมีการบันทึกเอาไว้ว่า อุณหภูมิในร่างกายมนุษย์ที่ต่ำที่สุดเท่าที่มนุษย์จะมีชีวิตรอดได้คือ 13.7 องศาเซลเซียส ซึ่งเกิดขึ้นกับบุคคลที่จมน้ำแข็งเป็นเวลาสักระยะหนึ่ง
ที่มา: CNA , Korea Times , weather zone , sky news , crisis24 , usatoday , Reuters , Livescience
เนื้อหาที่น่าสนใจ