svasdssvasds

ฮ่องกง "เรียกเก็บค่าทิ้งขยะ" ผ่านมา 2 ปี ลดขยะได้จริงไหม มีอะไรที่ต้องกังวล?

ฮ่องกง "เรียกเก็บค่าทิ้งขยะ" ผ่านมา 2 ปี ลดขยะได้จริงไหม มีอะไรที่ต้องกังวล?

ฮ่องกงเรียกเก็บค่าธรรมทิ้งขยะมาตั้งแต่ปี 2021 พบว่า ช่วยลดการสร้างขยะจากต้นทางได้จริง ประชาชนต้องจ่ายค่าทิ้งขยะราว 11 ดอลลาร์ฮ่องกง แต่ในระยะยาวยังมีเรื่องที่ต้องกังวลนั่นคือ เรื่องการลักลอบทิ้งขยะแบบมิชอบด้วยกฎหมาย

รู้หรือไม่! ที่ฮ่องกงมีขยะมูลฝอยประมาณ 15,637 ตัน ถูกนำไปกำจัดทิ้งในกระบวนการฝังกลบ และใน 1 ปี จำนวนขยะที่เกาะฮ่องกงสร้างขึ้นอยู่ที่ประมาณ 6.4 ล้านตัน ทว่า มีอัตราการรีไซเคิลขยะแค่ราว 31% เท่านั้น

จึงนำมาสู่การขยับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ ในปี 2021 รัฐบาลฮ่องกงคลอด “พิมพ์เขียวด้านบริหารจัดการขยะ” หรือ “Waste Blueprint for Hong Kong 2035” เป้าประสงค์ของโครงการนี้คือ ต้องการลดปริมาณการทิ้งขยะในแต่ละระดับบุคคลลงให้ได้ 40 – 45% พร้อมทั้งสนับสนุนให้เกิดการรีไซเคิล

ฮ่องกงเรียกเก็บค่าทิ้งขยะมาตั้งแต่ปี 2021 Cr. Wikipedia

กลเม็ดเด็ดพลายอีกหนึ่งขยักของความเคลื่อนไหวในครั้งนี้คือ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทิ้งขยะ มีการรายงานว่าครอบครัวในฮ่องกงต้องจ่ายเงินสำหรับค่าทิ้งขยะราว HK$55 (250 บาท) ต่อเดือน Spring News ชวนติดตามแนวคิดการ “เก็บค่าทิ้งขยะ” เวิร์กจริงไหม มีอะไรบ้างที่ต้องกังวล? ติดตามได้ที่บทความนี้

ปัญหาขยะในฮ่องกง

จากข้อมูลของกรมควบคุมสิ่งแวดล้อมฮ่องกง หรือ Hong Kong Environment Protection Department (EPD) พบว่า ในปี 2021 มีอัตราการกำจัดขยะมูลฝอย 5.67 ล้านตัน โดยขยะจากชุมชนคิดเป็นสัดส่วน 70% ของขยะทั้งหมด

30% เป็นขยะอาหาร รองลงมาคือพลาสติก 21% และเศษกระดาษ 20% ชาวฮ่องกงกำจัดขยะมูลฝอยราว 1.53 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกถึง 2 เท่า ทว่ามีอัตราการรีไซเคิลเพียง 31% เท่านั้น

ถังขยะในฮ่องกง Cr. Wikipedia

ผู้อ่านอาจเกิดข้อสงสัยว่า แล้วมันน่าสนใจอย่างไร? จากข้อมูลของธนาคารโลก ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก สร้างขยะมากที่สุดในปี 2559 และคาดว่าจะขึ้นแท่นเป็นทวีปอันดับหนึ่งในการผลิตขยะชั้นนำในช่วงปี 2573 ถึง 2593

ในปี 2559 การบำบัดและการกำจัดขยะมูลฝอยก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1.6 พันล้านตัน คิดเป็น 5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก

ปัจจุบันนี้ ฮ่องได้ปิดสถานที่ฝังกลบไปแล้วกว่า 13 แห่ง เหลือไว้แค่ 3 แห่งได้แก่ West New Territories, South East New Territories, North East New Territories ซึ่งคาดการณ์ว่าจะถูกปิดลงทั้งหมดในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการลดขยะ

หลุมฝังกลบ South East New Territories Cr. Wikipedia

ด้วยความตระหนักถึงปัญหาขยะ ในปี 2021 รัฐบาลฮ่องกงได้ดำเนินเก็บค่าขยะมูลฝอยชุมชน ซึ่งถือเป็นก้าวครั้งสำคัญในการลดขยะ และจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โครงการเก็บเงินค่าทิ้งขยะ

โครงการนี้ถูกดำเนินการด้วยแนวคิดที่ว่า “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” โดยครอบคลุมการสร้างขยะจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ธุรกิจ รวมถึงสถานประกอบการณ์ต่าง ๆ โดยใช้ชื่อว่า “Waste Blueprint for Hong Kong 2035

พิมพ์เขียวด้านบริหารจัดการขยะ Cr. EPD

โครงการนี้เผยแพร่ออกสู่สาธารณะครั้งแรกในปี 2021 โดยมีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะลง 40 – 45% และต้องการเพิ่มอัตราการนำกลับมาใช้ใหม่ให้ได้ 55% โดยดำเนินการผ่านนโยบาย กฎระเบียบ หรือผ่านการส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน

เรียกเก็บเงินอย่างไร?

การเรียกเก็บเงินจากขยะ หลัก ๆ แล้วเกิดจาก 3 ส่วนด้วยกันได้แก่ จากถุง จากฉลากที่ได้รับอนุญาต และเรียกเก็บโดยน้ำหนักตอนผ่าน gate-free

ถุงในฮ่องกงกำหนดชำระเงินล่วงหน้า มีทั้งหมด 9 ขนาด โดยมีตั้งแต่ขนาด 3 ลิตร ถึง 100 ลิตร ราคา 0.11 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อลิตรในสามปีแรก และเรียกเก็บ 11 ดอลลาร์ฮ่องกง สำหรับกองขยะขนาดใหญ่

แผนที่แสดงหลุมฝังกลบทั้ง 3 แห่งที่เหลืออยู่ Cr. EPD

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 เป็นต้นไป ถุงที่มีฉลากที่รัฐกำหนดไว้ จะสามารถนำไปขายที่ร้านค้า หรือห้างร้านทั่วไปได้

เก็บค่าขยะชุมชนมีประโยชน์อย่างไร?

1. ช่วยลดขยะและส่งเสริมการรีไซเคิล

เนื่องจากพื้นที่กำจัดในฮ่องกงมีจำนวนจำกัด วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือ สร้างแรงจูงใจในการลดขยะตั้งแต้ต้นกำเนิด ด้วยการเก็บค่าธรรมเนียมในการกำจัดขยะ แรงกระเพื่อมส่วนนี้จะทำให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนลดขยะลงได้ ด้วยการหันมาใช้วิธีการรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น

ภายใต้มาตรการใหม่ ระบุว่า ครอบครัวในฮ่องกงต้อยจ่ายค่าธรรมเนียมในการกำจัดขยะสูงถึง HK$55 (250 บาท) ต่อเดือน ดังนั้น ภาคประชาชนและภาคธุรกิจในฮ่องกง กำลังพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ เพื่อต้องการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

อัตราค่าธรรมเนียมของขยะพลาสติก Cr. Hong Kong Free Press

2. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การศึกษาเกี่ยวกับระบบการกำจัดขยะในครัวเรือนในปี 2022 ระบุว่า มาตรการดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ในความหมายคือ อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดน้อยลง อันเนื่องมาจากขยะในชุมชนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ปริมาณขยะที่ลดลง ทำให้ก๊าซมีเทนที่เกิดจากกระบวนการฝังกลบลดลงถึง 8%

3. การควบคุมของเสีย

เงินมันหอมหวน คำนี้ไม่เกินจริง มาตรการนี้ สนับสนุนให้บุคคลและภาคธุรกิจลดสร้างขยะอย่างจริงจัง ซึ่งมีการรายงานอย่างชัดเจนว่ามาตรการดังกล่าวทำให้ปริมาณขยะในกระบวนการฝังกลบลดลง

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2008 ที่ได้ทดลองในประเทศญี่ปุ่นกว่า 954 แห่ง ด้วยแนวคิด ทิ้งเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น pay-as-you-throw พบว่า การสร้างขยะโดยรวมลดลง โดยสามารถลดขยะตกค้างได้ถึง 20% ถึง 30% และเมื่อนำมาตรการนี้ไปคำนวณกับ การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ ปริมาณขยะโดยรวมลดลงเป็นอย่างมาก

สรุปหลักการ Pay-as-you-throw Cr. Ecube Labs

ข้อกังวลในการเรียกเก็บเงินค่าทิ้งขยะ

ในปี 2544 – 2546 การศึกษาในประเทศเกาหลีใต้ พบว่า การกำหนดราคาขยะต่อถุงแทบไม่ส่งผลต่อปริมาณขยะโดยรวมของทั้งประเทศ กลับกัน การเรียกเก็บเงินกลับทำให้ อัตราการลักลอบทิ้งขยะอย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น 6%

หรืออีกหนึ่งเคสที่น่าสนใจ ต้องข้ามไปยังแดนอาทิตย์อุทัย ในปี 2003 เขตเทศบาลกว่า 533 แห่ง ที่ดำเนินการโดยสมาคมการจัดการขยะแห่งประเทศญี่ปุ่น พบว่า เทศบาลกว่า 68% ประสบปัญถูกลักลอบทิ้งขยะอย่างผิดกฎหมาย โดย 42% เกิดจากการทิ้งขยะที่ไม่เหมาะสม และอีก 26% เกิดจากการลักลอบทิ้งขยะที่มิชอบด้วยกฎหมาย

การทิ้งขยะตามข้างทาง เพื่อหลีกการจ่ายค่าธรรมเนียม Cr. Flickr

คงไม่ต้องกล่าวให้เสียเวลาว่าการกำจัดขยะอย่างไม่ถูกกฎหมายส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมของเราอย่างไร ทั้งทำลายที่ดินสาธารณะ ดูขัดลูกหูลูกตา รัฐบาลจำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อกำจัดขยะที่ถูกทิ้งอย่างไม่ถูกกฎระเบียบ

มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมของฮ่องกง ถูกใช้ควบคู่กับการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งบนโต๊ะอาหาร ซึ่งก็ผลิดอกออกผลเป็นอย่างดี ถือเป็นแนวทางการวางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เห็นผล และเกิดประโยชน์ต่อสังคม และสภาพแวดล้อมในภาพรวม

การทิ้งขยะตามข้างทาง เพื่อหลีกการจ่ายค่าธรรมเนียม Cr. Flickr

นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นก้าวครั้งสำคัญ ในการเดินหน้าสู่การกำจัดขยะที่ยั่งยืนของเมือง ประกอบกับการส่งเสริมให้ลดขยะ การรีไซเคิล และผลักภาระความรับผิดชอบไปให้บรรดาผู้ผลิต

แม้โครงการเรียกเก็บเงินจากขยะมูลฝอยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ถือเป็นนิมิจหมายอันดีที่จะทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ในระยะยาวจะสำเร็จหรือไม่นั้น ต้องติดตามกันต่อไปเรื่อย ๆ เพราะ ณ ตอนนี้ฮ่องกงยังไม่เจอปัญหาใหญ่อย่างการ ลักลอบทิ้งขยะแบบที่ญี่ปุ่นและเกาหลีเจอ

 

 

ที่มา: Earth.org

เนื้อหาที่น่าสนใจ

related