COP28 คืออะไร? มีความสำคัญอย่างไรต่อคนไทยและโลก? มีประเด็นไหนบ้างที่น่าสนใจ สปริงนิวส์ชวนติดตามการประชุมโลกร้อนที่ปีนี้มีผู้นำการประชุมคือผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก!
เมื่อโลกร้อนขึ้น จนเดินทางมาถึง “โลกเดือด” ตามการนิยามขององค์การสหประชาติล่าสุด เสี่ยงต่อความไม่มั่นคง ทั้งทรัพยากรที่เหลือน้อยลงของโลก การอยู่อาศัยและอาหารในอนาคต ในฐานะประชากรโลก ก็ต้องมาร่วมกันหาทางออกและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ดังนั้น การประชุม COP จึงสำคัญ ในการนำพาโลกสู่แสงสว่าง
การประชุม COP คืออะไร COP28 ที่จะถึงนี้มีความสำคัญอย่างไร และมีประเด็นใดบ้างที่ควรติดตาม สปริงนิวส์ ในคอลัมน์ Keep The World จะอธิบายให้เข้าใจง่าย
COP ย่อมาจาก Conference of the Parties การประชุมของประเทศภาคี หรือการประชุมที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (UN Climate Change Conference) ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากการลงนามรับรอง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ของชาติภาคีฉบับแรก เมื่อปี 1992 โดยมีประเทศเข้าร่วมจนถึงปัจจุบันประมาณ 200 ประเทศทั่วโลก
และตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มมีการประชุม COP เรื่อยมา (แต่ไม่ได้จัดทุกปี) เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและแนวทางของแต่ละประเทศว่าคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว โดยปัจจุบันได้เปลี่ยนมาจัดทุกปี เพราะวิกฤตสภาพอากาศรุนแรงขึ้น
ผู้เข้าร่วมจะมีตั้งแต่ ผู้นำประเทศ นายกรัฐมนตรี ตัวแทนรัฐบาลของแต่ละประเทศ เอกชน กลุ่มอุตสาหกรรม ไปจนถึงภาคประชาชนก็สามารถเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้
COP28 คือการประชุมที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 ประจำปี 2023 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคม ซึ่งในแต่ละวันจะมีวาระการประชุมที่แตกต่างกันออกไป ในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น สุขภาพ การเงิน อาหาร และธรรมชาติ เป็นต้น
เนื่องจากปี 2023 นี้ เจ้าภาพจัดงานคือดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศผู้มั่งคั่งน้ำมันอันดับต้น ๆ ของโลก และในปีนี้ผู้ที่ได้ขึ้นมาเป็นประธานการประชุมของประเทศเจ้าภาพ หรือประธานเจรจา COP28 คือ สุลต่าน บิน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบรรษัทบริหารธุรกิจน้ำมัน ที่กำลังมีแผนขยายกำลังการผลิตน้ำมันอยู่ด้วย
การที่บริษัทน้ำมันขึ้นมานั่งเป็นประธานการประชุมโลกร้อน นี่จึงเป็นสิ่งที่ดูจะย้อนแย้งและทำให้หลายคนไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่กับประธานการประชุมในปีนี้ จนกลุ่มรณรงค์ 350.org เปรียบเทียบจนเห็นภาพเลยว่า
“การเอาผู้ผลิตน้ำมันขึ้นมาคุยเรื่องโลกร้อน ก็เหมือนการแต่งตั้งซีอีโอบริษัทบุหรี่ขึ้นมาดูแลการประชุมเกี่ยวกับการรักษามะเร็ง”
เพราะเป็นที่รู้กันว่า การประชุมโลกร้อน ขับเคลื่อนด้วยการรณรงค์ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่แพร่หลายไปทั่วโลก อันก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น และน้ำมันของชาติตะวันออกกลางยังคงมีการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลและส่งออกน้ำมันเรื่อย ๆ ทุกปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กำลังเป็นอีกหนึ่งประเทศมาแรง ที่ส่งเสริมการขยายการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ มีการสร้างฟาร์มโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ โดยมีเป้าว่าภายในปี 2593 การใช้พลังงานไฟฟ้าภายในประเทศจะต้องมาจากแหล่งพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน 60%
สาเหตุที่ยังให้ 100% ไม่ได้เพราะ รัฐมนตรีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเรียม อัลเมห์รี เผยว่า “โลกยังไม่พร้อมยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะการยุติการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล จะส่งผลเสียต่อประเทศที่พึ่งพาเชื้อเพลิงเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้ อีกทั้งประเทศเหล่านั้นอาจยังไม่พร้อมในการทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วยพลังงานหมุนเวียน”
สหรัฐอาหรับฯ จึงเสนอให้ใช้เทคโนโลยีดักจับและจัดเก็บก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดความเข้มของก๊าซก่อนปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก ควบคู่ไปกับสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน
แน่นอน ว่าการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นตัวการหลักและตัวการใหญ่ที่สุดของปัญหาโลกร้อนที่มาจากหลายภาคส่วนอุตสาหกรรม ดังนั้น ในมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม การแก้โลกร้อนคือต้อง ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่การทยอยลด เพราะโลกอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว
การประชุม COP28 ปี 2023 นี้ เน้นไปที่ 4 ด้านหลัก คือ
แต่อย่างไรก็ตาม การประชุมในแต่ละวันจะมีธีมที่แตกต่างกันออกไป เพื่อเจรจาแลกเปลี่ยนปัญหาให้ตรงจุดมากขึ้น ดังตารางด้านล่างนี้
ในปีนี้ หลายภาคส่วนมุ่งความสนใจไปที่กองทุน ซึ่งในการประชุม COP27 มีการตกลงและทักท้วงกองทุนที่ชื่อว่า “การสูญเสียและความเสียหาย” (Loss and Damage Fund) เพื่อเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวย ผู้ที่ขึ้นชื่อว่าใช้ทรัพยากรของโลกจำนวนมากและปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา จ่ายเงินให้กับประเทศยากจน ผู้ที่ปล่อยคาร์บอนน้อยแต่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในเปอร์เซ็นที่ค่อนข้างเยอะ เพื่อรับมือและปรับตัวให้ทันโลกที่เปลี่ยนขั้วรุนแรงมากขึ้นทุก ๆ ปี
โดยในปี 2009 ประเทศร่ำรวยให้คำมั่นไว้ว่า จะระดมเงินมาบริจาคให้กับกองทุนนี้เป็นจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้ทันภายในปี 2020 แต่จนถึงปี 2023 เงินเหล่านั้นยังไม่ครบตามเป้า
สำหรับประเทศไทย จะเป็นทั้งผู้สนับสนุนและผู้เรียกร้องให้กองทุนนี้ประสบความสำเร็จ ประเทศไทยมีความต้องการการสนับสนุนด้านเงินทุน เทคโนโลยีและองค์ความรู้ ในการให้ประชาชนสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ โดยยังคงตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2050 และบรรลุเป้า Net Zero ให้ได้ภายในปี 2065 ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าการประชุมปีนี้จะมีบทสรุปอย่างไร และมนุษย์จะแก้ไขโลกเดือดทันหรือไม่?
ยังมีเรื่องราวน่าสนใจและน่าติดตามอีกมาก สำหรับเวที COP28 เรื่องราว COP28 ปีนี้จะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในคอลัมน์ Keep The World โดยสปริงนิวส์…
ที่มาข้อมูล
Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง