คุยเปิดอก สาคร สงมา ตัวแทนภาคประชาสังคมไทยในเวที COP28 เผยที่มาจาก NGO ตัวจ้อยจากพิษณุโลกสู่เวทีประชุมโลกร้อนระดับนานาชาติ ที่ยังไม่ทันเริ่ม ก็ชวนเหงื่อตก
อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เวทีการประชุม COP28 ก็กำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว และนอกจากตัวแทนทีมเจรจานโยบายโลกร้อนไทยจากทางฝั่งราชการแล้ว ภาคประชาสังคม นำโดยนักกิจกรรมและตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน ก็เป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่จะส่งตัวแทนเข้าไปมีบทบาท ในเวทีการต่อรองนโยบายแก้โลกร้อนในระดับโลกด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เราจึงมาคุยกับ สาคร สงมา ตัวแทนภาคประชาสังคมไทยที่จะไปร่วมขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เมืองดูไบ ในงาน COP28 นี้กันดีกว่า
Q: ช่วยเล่าที่มาที่ไปสักหน่อยได้ไหมครับ ว่าพี่เริ่มทำงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร
A: ผมมีที่มามาจากการทำงานเรื่องเกษตรทางเลือกร่วมกับชุมชนท้องถิ่นใน จ.พิษณุโลก แต่ต่อมาเมื่อเกิดเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ใน จ.พิษณุโลก ในปี 2549 ผมจึงได้มีโอกาสมาร่วมขับเคลื่อนในประเด็นการปรับตัวรับมือกับภัยพิบัติ และได้เข้าร่วมในการประชุม COP ครั้งที่ 17 ณ ประเทศแอฟริกาใต้ ดังนั้น นับตั้งแต่นั้นมา ผมก็ได้มีโอกาสไปขับเคลื่อนประเด็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกือบทุกปี
Q: เวลาตัวแทนภาคประชาสังคมไทยไปเข้าร่วมเวที COP พวกเราทำอะไรกันบ้าง
A: สำหรับภาคประชาชนไทยที่ไปเข้าร่วมเวที COP เราจะทำงานร่วมกับตัวแทนภาคประชาชนที่มาจากประเทศอื่นๆ โดยสำหรับในเวที COP28 ที่กำลังจะถึงนี้ เราก็ได้ร่วมงานกับทีมภาคประชาสังคมจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเราจะขับเคลื่อนประเด็นดังต่อไปนี้
โดยในแต่ละวันจะมีกำหนดการรณรงค์ประเด็นการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่ไปกับการประชุมเจรจาโลกร้อน ในแต่ละวันจะมีการเวียนประเด็นกันไป ตามกลุ่มภาคประชาสังคมแต่ละภูมิภาค และจะมีหนึ่งวันที่ภาคประชาสังคมทั่วโลกจะรวมตัวกันแสดงพลังรณรงค์ร่วมกัน
Q: ทำไมการขับเคลื่อนภาคประชาสังคม จึงมีความสำคัญในเวที COP
A: ผมเชื่อว่าถ้าไม่มีการขับเคลื่อนโดยภาคประชาสังคม การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่มีวันเป็นไปได้เลย เพราะในที่ประชุมโลกร้อน มีทั้งตัวแทนของประเทศผู้ปลดปล่อยมลพิษหลัก และตัวแทนภาคอุตสาหกรรมตัวการโลกร้อน โดยกลุ่มนี้มีอำนาจต่อรองในเวทีสูง และเป้าหมายหลักของพวกเขาไม่ใช่การแก้ปัญหาโลกร้อนเป็นหลัก แต่เป็นการรักษาผลประโยชน์ให้ได้ยาวนานที่สุด
ดังนั้น การมีภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วม ช่วยคานโมเมนตั้มการเจรจาการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนให้มีความเข้มข้นมากขึ้น จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ยิ่งไปกว่านั้น บางกลไกอย่าง Loss and Damage ก็มีที่มาจากภาคประชาชน และจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
Q: เรามีการทำงานร่วมกับตัวแทนคณะเจรจาของฝั่งรัฐบาลไทยอย่างไร
A: จริงๆ แล้ว ภาคประชาสังคมไทยทำงานเกี่ยวเนื่องกับภาครัฐอย่างค่อนข้างแน่นแฟ้นมาก ในการเตรียมตัวไปเจรจานโยบายแก้ปัญหาโลกร้อนในเวที COP เราจะมีการติดต่อประสานงานกันตลอด เช่น เวลาทางฝ่ายทีมเจรจาของภาครัฐจะเสนอแนวนโยบายอะไร ก็จะมีการมาถามข้อคิดเห้นจากเราด้วย รวมถึงฝ่ายภาคประชาสังคมเองก็ได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากฝ่ายทีมภาครัฐบ้างระหว่างการประชุม COP
Q: กังวลอะไรไหมในการเดินทางไปร่วมเวที COP28 ที่ดูไบ ในปีนี้
A: ปีนี้ผมยังไม่แน่ใจเลยว่าจะได้ไปหรือเปล่า (หัวเราะ) เพราะตอนนี้ทางฝั่งดูไบเข้มงวดมากๆ เรื่องการลงทะเบียนของฝั่งภาคประชาชน จนกระทั่งถึงตอนนี้ (15 พฤศจิกายน 2566) ทางผมก็ยังไม่สามารถลงทะเบียนได้ ตอนนี้กำลังคิดว่าเราจะไปขอโควต้ากับทางทีมเจรจาฝั่งรัฐบาลดีหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็อาจดำเนินการรณรงค์ได้ไม่มาก เพราะต้องเกรงใจว่าเราไปในนามตัวแทนรัฐบาลด้วย แต่ถ้าเราไปนามตัวแทนประชาสังคม เราจะสามารถทำอะไรได้มากกว่า
ยอมรับว่าปีนี้น่าจะมีการควบคุมการดำเนินกิจกรรมฝั่งภาคประชาสังคมโดยทางการดูไบ หนักกว่าการประชุม COP ครั้งก่อนๆ แต่เราก็ไม่ได้กังวลอะไรมาก ว่าจะไม่สามารถแคมเปญรณรงค์ได้ คงต้องหาแนวทางที่เราจะแคมเปญให้ได้ ไม่ว่าจะสามารถไปที่ดูไบได้หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง