นักวิทยาศาสตร์ของสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาโลกทำสถิติร้อนเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ปีนี้ โลกทุบสถิติร้อนที่สุดในรอบ 125,000 ปี ดูได้จากหลาย ๆ ประเทศที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลให้งาน COP 28 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ถูกจับตามองเป็นพิเศษ
สถิติมีไว้ทำลาย! ว่ากันว่านักกีฬาเมื่อประสบความสำเร็จและกลายเป็นเบอร์ 1 ของโลกแล้ว เป้าหมายต่อไปคือการทำลายสถิติของตัวเอง
เฉกเช่นเดียวกันกับโลกในปีนี้ ที่ทุบสถิติมีอากาศร้อนที่สุดในรอบแสนปี แต่การทุบสถิติในครั้งนี้อาจไม่ใช่เรื่องน่าอภิรมย์เท่าไร หากเทียบกับผลกระทบแง่ลบที่โลกอาจได้รับ
บรรดานักวิทยาศาสตร์ของสหภาพยุโรป ได้เปิดเผยกับสื่อต่างประเทศว่า ในปีนี้ โลกของเรามีสภาพอากาศอบอุ่นที่สุดในรอบ 125,000 ปี หลังจากเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โลกของเราทำลายสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์
ซาแมนธา เบอร์เกสส์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า อุณหภูมิในเดือนตุลาคมปี 2023 นี้ ทำลายสถิติเดิมของเดือนตุลาคมปี 2019 อยู่ 0.4 องศาเซลเซียส ซึ่งตัวเลข 0.4 องศาเซลเซียสหากเทียบกับผลกระทบที่โลกได้รับ นับว่าใหญ่หลวงทีเดียว
และถ้าหากไปดูค่าเฉลี่ยทั่วโลกจะพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนตุลาคมของปี 2023 สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยเดือนตุลาคมในช่วงปี 1850 – 1900 ถึง 1.7 องศาเซลเซียส
การที่เดือนตุลาคมปีนี้ทำลายสถิติเดิม ส่งผลทำให้ค่อนข้างแน่นอนแล้ว ที่ปี 2023 จะกลายเป็นปีที่มีอากาศร้อนที่สุด โดยอากาศที่ร้อนขึ้นเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจก จากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ ประกอบกับปีนี้โลกของเราเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกอบอุ่นขึ้น
ไมเคิล มานน์ นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เปิดเผยว่าส่วนใหญ่แล้วปีที่เกิดเอลนีโญจะเป็นปีที่ทำลายสถิติเรื่องของอากาศร้อน
ซึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้น เพราะเอลนีโญก่อให้เกิดภัยแล้งในหลาย ๆ ภูมิภาค แหล่งน้ำต่าง ๆ แห้งเหือดไป รวมถึงทำให้เกิดไฟป่าในหลาย ๆ ประเทศเช่น อินโดนีเซีย
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้เราพบเห็นภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในลิเบียปีนี้ ที่แสดงให้เห็นถึงสภาพอากาศที่ร้อนจัดในแถบอเมริกาใต้
หรือไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ในแคนาดา หรือโลกกำลังส่งเสียงเพรียกเตือนอะไรบางอย่างถึงเรา?มิเพียงเท่านั้นในหลาย ๆ ภูมิภาคก็ล้วนได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด ที่ทวีคูณความรุนแรงขึ้นเช่นกัน
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พายุเคียรันพัดเข้าถล่มหลายประเทศในยุโรป ทั้งสเปน เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และฝรั่งเศส ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7คน นอกจากนี้ยังทำให้ที่พักของประชาชนหลายล้านหลังคาเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้สอย
เฉพาะที่เมืองทัสคานี ประเทศอิตาลีเพียงเมืองเดียว พายุเคียรันได้คร่าชีวิตประชาชนอย่างน้อย 5 คน ซึ่งทำให้ทางการต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
และประธานาธิบดีแคว้นทัสคานีโพสต์ข้อความใน X หรือทวิตเตอร์เดิมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่ทัสคานีค่ำคืนนี้มีชื่อเสียงเรียงนามว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
รายงานระบุว่า พายุลูกดังกล่าวยังทำลายสถิติมากมาย ทั้งเรื่องความเร็วลมที่แรงกว่า 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และก่อให้เกิดลมกระโชกแรงวัดความเร็วได้มากกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส
หน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาของฝรั่งเศสเปิดเผยว่า พายุเคียรันน่าจะถูกจัดให้อยู่ใน 40 อันดับแรกของพายุที่มีความรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1980
ขณะที่ในอิตาลี เกิดน้ำท่วมหนัก หลังเกิดฝนตกหนักวัดปริมาณน้ำฝนได้เกือบ 200 มิลลิเมตรภายในเวลาเพียงสามชั่วโมงเท่านั้น ในบริเวณเมืองชายฝั่งหลายเมือง
ดูเหมือนว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะมีผลทำให้เกิดฝนตกหนักขึ้น โดยเห็นได้ชัดเจนเวลาเกิดพายุรุนแรงอย่างเช่นพายุเคียรัน
เบน คลาร์ก นักวิจัยของวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนเปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศคือการที่อากาศร้อนขึ้นทั้งในมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศของเรา นั่นเป็นเหมือนเชื้อเพลิงให้พายุก่อตัวและรุนแรงขึ้น เป็นผลทำให้เกิดฝนตกหนักขึ้น
เขายังทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า หากเรายังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเหมือนที่ใช้อยู่ในระดับนี้ เราจะต้องเสียอะไรมากมาย เพราะพายุที่รุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่ออังกฤษและยุโรป และสภาพอากาศที่เป็นอันตรายจะเกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นปกติทั่วโลก
หน่วยงานด้านความร่วมมือป่าไม้แห่งชาติชิลีต้องออกมาประกาศสั่งห้ามไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปยังธารน้ำแข็งชื่อดังในอุทยานแห่งชาติลากูนาซานราฟาเอล หลังเกิดการละลายอย่างรวดเร็วและสภาพของมันเกิดความไม่มั่นคง
เจ้าหน้าที่มองว่ามันไม่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การสั่งห้ามดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่นักท่องเที่ยวและไกด์นำเที่ยวท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
การปีนธารน้ำแข็งในจุดนี้ กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่สุดในภูมิภาคดังกล่าว ตลอดระยะเวลาอย่างน้อย 20 ปีที่ผ่านมา แต่หลังรัฐบาลส่งผู้เชี่ยวชาญไปทำการศึกษา กลับพบว่า ธารน้ำแข็งแห่งนี้กำลังมาถึงจุดที่ไม่มั่นคงซึ่งเป็นอันตราย
หน่วยงานป่าไม้เปิดเผยว่า มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากสภาพของธารน้ำแข็ง เพราะมันไม่ปลอดภัยสำหรับกิจกรรมการปีน
การปีนธารน้ำแข็งกลายมาเป็นกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างยิ่งจากปัญหาโลกร้อน อย่างเมื่อเดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว ธารน้ำแข็งมาร์โมลาดาในอิตาลีก็เกิดถล่มลงมาในเส้นทางการปีนที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง
ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 คนในขณะที่เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา หลายหน่วยงานก็ต้องสั่งยกเลิกการปีนภูเขามองท์บลังก์เป็นครั้งแรก เนื่องจากน้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งคำเตือนเรื่องหินถล่ม
การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของสหประชาชาติ หรือ Cop ซึ่งปีนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 28 กำลังจะเกิดขึ้นที่นครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคมนี้
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลก ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้ หลายฝ่ายจับตามองไปที่ประเด็นการเปลี่ยนผ่านจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแบบเก่า มาสู่พลังงานสะอาด โดยมีการแต่งตั้งสุลต่านอัล จาเบอร์ ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทน้ำมันของรัฐบาล นั่งเป็นประธานการประชุม COP 28
เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งประกอบไปด้วยน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพราะการเผาไหม้ของพวกมันปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศโลก
หลายฝ่ายหวังว่า ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุม COP 28 จะช่วยให้โลกบรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้ ตามที่เกือบ 200 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามไว้ด้วยกันในความตกลงปารีสเมื่อปี 2015
ที่มา: Reuters
เนื้อหาที่น่าสนใจ