กรุงเทพมหานคร จัดงานเสวนาวิชาการ “แผ่นดินไหวตุรกี กทม.พร้อมแค่ไหน” ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง วานนี้ (22 ก.พ. 66) โดยมี รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
เปิดสาเหตุแผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย 2 ครั้งติด เสียชีวิตทะลุเกือบ 5,000 แล้ว
แผ่นดินไหวตุรกี-ซีเรีย ประมวลภาพความเสียหาย เสียชีวิตเกิน 4,000 คน
รวมภาพความเสียหาย แผ่นดินไหวไต้หวัน 7.2 แมกนิจูด ญี่ปุ่นเตือนภัยสึนามิด้วย
1. เรื่องกายภาพหรือโครงสร้าง
2. ประชาชน
ตลอดจนกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นหน่วยงานในการบริหารจัดการสถานการณ์ มีความเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหนในการที่จะทำให้ความปลอดภัยเกิดขึ้นและทำให้ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดกับโครงสร้างเหล่านี้ลดลง รวมถึงเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว หน่วยงานต่างๆ จะประสานงานกันให้ไม่เกิดช่องว่างในการบริหารจัดการได้มากน้อยแค่ไหน กรุงเทพมหานครจึงได้จัดงานเสวนาวิชาการในครั้งนี้ขึ้นเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการปรับปรุงอาคารให้มีความพร้อมรับมือกับการเกิดแผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องหลักในการจัดการภัยพิบัติคือการจัดการภัยพิบัติให้เหมาะสมกับสภาพความรุนแรงของภัยพิบัตินั้นในพื้นที่ สำหรับคำถามว่าประเทศไทยจะเกิดเหตุเหมือนที่ตุรกีหรือไม่ เนื่องจากแผ่นดินไหวเกิดจากมีการขยับของแผ่นเปลือกโลก และตุรกีอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งที่อันตรายต่อการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ คืออยู่บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก เมื่อแผ่นเปลือกโลกขยับเคลื่อนที่มาชนกัน แผ่นดินไหวที่ตุรกีจึงมีความรุนแรงมาก ในทางกลับกันความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยนั้นจะต่ำกว่า เพราะประเทศไทยมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ใกล้แต่ไม่ได้อยู่ที่บริเวณรอยต่อแผ่นเปลือกโลก
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าวต่อไปว่าหากเปรียบแผ่นเปลือกโลกเหมือนกระจก 2 แผ่น เมื่อเคลื่อนตัวมาชนกันก็จะทำให้เกิดรอยแตกเข้ามาในแผ่นกระจกหรือแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเราเรียกว่า “รอยเลื่อน” โดยรอยเลื่อนแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ รอยเลื่อนที่มีพลัง รอยเลื่อนที่มีโอกาสจะมีพลัง และรอยเลื่อนหมดพลัง สำหรับประเทศไทยมีกลุ่มรอยเลื่อน 16 รอยเลื่อนที่มีพลัง ซึ่งรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุดคือแถวกาญจนบุรี ระยะห่างประมาณ 200 - 250 กิโลเมตร ก็มีโอกาสสร้างความรุนแรงให้กับกรุงเทพฯ ได้
ส่วนรอยเลื่อนที่อยู่ไกล ความรุนแรงของแผ่นดินไหวก็จะลดลงตามระยะทาง อย่างไรก็ตาม การที่พื้นที่กรุงเทพมหานครมีดินอ่อน ทำให้การรับรู้แรงสะเทือนแม้จะอยู่ไกลก็สามารถจะรับรู้ได้ และยังสามารถที่จะขยายสัญญาณบางอย่างที่จะทำให้อาคารบางประเภทโดยเฉพาะอาคารสูงมีการตอบสนองมากกว่าปกติ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทราบในปัจจุบันคือเราจะต้องออกแบบอาคารให้สอดคล้องกับรอยเลื่อนที่มีพลังเหล่านี้
ด้าน ศ.ดร.นคร กล่าวว่า ปัญหาแผ่นดินไหวมีปัจจัย 2 ส่วนประกอบกันซึ่งจะทำให้เกิดความรุนแรงหรือไม่ คือ
1. อาคาร ซึ่งอาคารเหล่านี้จะมีการโยกตัวที่แตกต่างกัน
2. ลักษณะของดิน และคลื่นแผ่นดินไหวที่มาถึง โดยระดับความรุนแรงของการโยกตัวของอาคารเนื่องจากแผ่นดินไหวขึ้นอยู่กับคุณสมบัติเชิงพลศาสตร์ของอาคาร (Characterize response of the structure) และคุณสมบัติเชิงพลศาสตร์ของชั้นดิน (Site effects) ประเทศไทยได้มีการเรียนรู้เรื่องแผ่นดินไหวมาหลายปีและมีการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวให้มีความทันสมัยมากที่สุด อาทิ การปรับปรุงในเรื่องของระดับความเสี่ยงภัยของแผ่นดินไหวทั่วประเทศรวมถึงกรุงเทพฯ การศึกษาเรื่องผลกระทบของดินอ่อนโดยเฉพาะว่าจะขยายคลื่นเท่าไร การออกแบบอาคารสูงที่เกิดขึ้นมากในกรุงเทพฯ ภายในระยะ 10 - 20 ปีข้างหลัง การปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวให้มีความชัดเจนและปฏิบัติได้ถูกต้อง เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีข้อมูลใหม่ ๆ มากขึ้น ก็จะมีการปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ต่อไป
ศ.ดร.นคร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของอาคารเก่าซึ่งถูกสร้างก่อนปี พ.ศ. 2550 แม้จะมีการออกแบบให้สามารถต้านทานแรงลมซึ่งเป็นแรงทางด้านข้างเช่นเดียวกับแผ่นดินไหว แต่เงื่อนไขของการออกแบบต้านแผ่นดินไหวนั้นมีมากกว่า เช่น จะต้องมีการทำให้โครงสร้างนั้นเหนียว สามารถโยกตัวได้มากเพื่อรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ฉะนั้น อาคารที่ต้านทานแรงลมได้อาจจะไม่สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ 100%
เมื่อเรามีองค์ความรู้ที่ค่อนข้างเป็นปัจจุบันทั้งในเรื่องของแผ่นดินไหวและผลกระทบต่อพื้นที่ ในส่วนของฝั่งกฎหมายจะทำอย่างไรให้ทันกับองค์ความรู้ที่ได้เกิดขึ้น ดร.ธนิต กล่าวว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2558 ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ซึ่งเป็นฉบับที่ 5 เพื่อรองรับรายละเอียดและข้อกำหนดทางด้านเทคนิคต่าง ๆ ให้สามารถออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยแทนการปรับเปลี่ยนกฎกระทรวงซึ่งมีขั้นตอนเยอะกว่าได้
ดร.ธนิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกฎหมายแผ่นดินไหวปัจจุบันในตอนนี้จะมีโครงสร้างได้แก่ กฎกระทรวง ซึ่งเนื้อหาสาระจะเน้นในเรื่องของการบังคับทางกฎหมาย อาทิ พื้นที่ ประเภทอาคาร เป็นต้น ประกาศกระทรวงฯ เนื้อหาสาระจะเกี่ยวกับวิธีการออกแบบ งานด้านวิชาการ การประกอบวิชาชีพ สูตรสมการ ข้อมูลทางด้านเทคนิค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในการออกข้อกำหนดต่าง ๆ จะต้องยึดหลักให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันของเราด้วย
ส่วนคำถามที่ว่า “ทำไมจึงไม่ออกกฎหมายบังคับให้ปรับปรุงอาคารเก่า” ดร.ธนิต ตอบว่า การบังคับให้ปรับปรุงอาคารจะมีหลักการว่า อาคารเก่านั้นต้องมีสภาพหรือมีการใช้ที่อาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน ต้องผ่านการวิเคราะห์ที่รอบคอบ อีกทั้งยังเป็นภาระแก่เจ้าของอาคาร จึงยังไม่มีกฎหมายในลักษณะบังคับเช่นนั้น แต่ได้มีกฎหมายในลักษณะที่จูงใจให้เจ้าของอาคารเก่าที่อยู่ในพื้นที่ที่กระทบแผ่นดินไหว สามารถดัดแปลง เสริมความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างได้ โดยที่เรายังให้สิทธิ์ตามกฎหมายเก่าที่เขาเคยได้อยู่ อาทิ เรื่องของพื้นที่ ระยะร่น เป็นต้น
นายภุชพงศ์ ได้เล่าถึงประสบการณ์การเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ตุรกีว่า ในการปฏิบัติงานทีม USAR Thailand ที่ตุรกีที่ผ่านมา เหตุการณ์แผ่นดินไหวมีความรุนแรงอยู่ที่ประมาณ 7.8 ริกเตอร์ 6.7 ริกเตอร์ และ 7.5 ริกเตอร์ ในเวลาห่างกันไม่มากนัก ทำให้อาคารถล่มทั้งเมือง เราได้ไปปฏิบัติงานในอาคารที่ถล่ม และมีเครื่องจักรขนาดใหญ่ดำเนินการรื้อถอนอาคารอยู่ ทีม USAR Thailand จะต้องทำงานท่ามกลางความกดดันของญาติพี่น้องผู้ประสบภัยที่เต็มเปี่ยมด้วยความหวังว่าญาติของตนจะยังคงมีชีวิตอยู่ในซากอาคารนั้น ๆ โดยการเข้าช่วยเหลือของทีมจะเป็นไปตามแผนซึ่งได้มีการประเมินความเสี่ยงและปลอดภัยในการลงพื้นที่ เพื่อให้การปฏิบัติงานสำเร็จลุล่วงและเกิดความปลอดภัยแก่ผู้ประสบภัยและทีมกู้ภัยด้วย
นอกจากนี้ นายภุชพงศ์ยังได้เล่าว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครเคยมีเหตุอาคารถล่ม ซึ่งการเข้าช่วยเหลือครั้งนั้นทำให้เห็นว่าความรวดเร็วในการเข้าช่วยเหลือเป็นสิ่งสำคัญ โดยการลงพื้นที่อาคารถล่มแต่ละครั้งจะต้องมีวุฒิวิศวกร ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายและสามารถใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจเพื่อความปลอดภัยของทุกคนได้ เพราะหากผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรม อาจจะทำให้เกิดการประเมินความเสี่ยงที่ผิดพลาดและเกิดเหตุวิบัติซ้ำซ้อนได้ ส่วนปัญหาที่พบคือประเทศไทยมีสายด่วนหลายสาย อาทิ 191 199 1646 1669 จะต้องมีการประชาสัมพันธ์สายด่วนที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้ทราบและติดต่ออย่างถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือที่ทันท่วงที
ผู้สนใจสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ เฟซบุ๊ก “กรุงเทพมหานคร” หรือคลิก https://fb.watch/iRuh1uqIyA/?mibextid=cr9u03