การท่องเที่ยวในปัจจุบันได้มีการปรับตัวรับเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม จึงได้มีเทรนด์การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ ที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในประเทศไทยได้มีการทดสอบเส้นทางท่องเที่ยว Low Carbon Tourism ที่จังหวัดภูเก็ตและพังงาแล้ว
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวเริ่มให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ซึ่งผู้ประกอบการเริ่มให้ความสำคัญ โดยออกแบบกิจกรรมที่ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เชื้อเพลิง เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้สารเคมีในกระบวนการต่างๆ ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ รวมถึงลดการใช้วัสดุเพื่อลดปริมาณขยะ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ
กระบวนการต่างๆ ในการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ และจากนั้นก็ชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เหลือปล่อยที่ออกมาจากกิจกรรมท่องเที่ยวในเส้นทางต่างๆ โดยการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER มาชดเชย เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดความสมดุลกับค่าการลดคาร์บอนและเท่ากับศูนย์ หรือ Carbon Neutral
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
เปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อม เป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ
ส่องซื้อขายคาร์บอนเครดิตประเภทไหนมาแรง? เปิดตลาดซื้อขายคึกคัก
สหภาพยุโรป (EU) เตรียมเก็บภาษีสินค้า สำหรับบริษัทที่มีส่วนในการทำลายป่า
การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่บุคลากรในภาครัฐและภาคเอกชนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน อย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ซึ่ง ททท. ได้ดำเนินการออกแบบและสร้างสรรค์เส้นทางการท่องเที่ยว สินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว ต้นแบบการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอให้ ททท. สำนักงานสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทนำเที่ยวและหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการนำไปพัฒนาเส้นทางและรูปแบบกิจกรรมทางการท่องเที่ยวเสนอขายต่อไป
Low Carbon Tourism หรือการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ สอดคล้องกับการประชุมเอเปคที่ผ่านมา โดย ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า การรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก กำหนดทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นประเด็นหลักของการประชุมเอเปคในครั้งนี้ ทำให้นานาชาติเห็นความสำคัญของ BCG มากขึ้น เพราะไม่เพียงสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศ แต่ยังเสริมสร้างภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นว่าไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว และยังใส่ใจสิ่งแวดล้อมช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มีรูปแบบผสมผสานระหว่างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
Cr. www.bangkokbiznews.com