สหภาพยุโรป (European Union) เตรียมเก็บภาษีสินค้าทำลายป่า โดยออกข้อกำหนดให้บริษัทต่างๆ ต้องพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์ของตน รวมไปถึงขั้นตอนการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ได้เกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม หากไม่ดำเนินการจะต้องชำระค่าปรับ
คณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเป็นผู้ร่างกฎหมายแห่งสหภาพยุโรป (European Union) หรือ EU เสนอว่า 12 เดือนหลังจากกฎหมายเก็บภาษีสินค้าทำลายป่า มีผลบังคับใช้ บริษัทขนาดใหญ่ที่ขายสินค้าในตลาดของสหภาพยุโรปจะต้องแสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่ได้ ผลิตสินค้า หรือเพาะปลูกบนพื้นที่ที่ผืนป่าถูกทำลายหลังจากปี 2020 ขณะที่บริษัทขนาดเล็กจะต้องปฏิบัติตามหลังบังคับใช้ไป 24 เดือน รวมถึงต้องจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานะเพื่อชี้ให้เห็นว่าสินค้าถูกผลิตขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ และข้อมูลต้องสามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการตัดไม้ทำลายป่ามาจริงๆ หากบริษัทใดไม่ปฏิบัติตาม บริษัทนั้นๆจะต้องถูกปรับร้อยละ 4 ของผลประกอบการ
กฎหมายภาษีสินค้าทำลายป่าดังกล่าว จะบังคับใช้กับสินค้าประเภทถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ไม้ โกโก้และกาแฟ และผลิตภัณฑ์พลอยได้บางอย่างเช่น เครื่องหนัง ช็อคโกแล็ต และเฟอร์นิเจอร์ ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปกำลังเล็งเพิ่มสินค้าประเภทยางและข้าวโพดเข้าไปด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สำหรับ ภาษีสินค้าทำลายป่า ที่กำลังจะออกมานี้ Virginijus Sinkevicius คณะกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป กล่าวว่า อียูกำลังแสดงความรับผิดชอบต่อรูปแบบการบริโภค (Consumption Pattern) พร้อมเสริมว่ากฎหมายดังกล่าวจะเป็น “การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ” ในการช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลก
ขณะที่ Christophe Hansen ผู้นำในการเจรจาต่อรองแห่งรัฐสภากล่าวว่า ขณะนี้สหภาพยุโรปมีส่วนรับผิดชอบต่อการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลกจากการบริโภคผลผลิตบางชนิดประมาณ 10%
การตัดไม้ทำลายป่าเป็นตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) สหภาพยุโรปหวังว่ากฎหมายดังกล่าวจะช่วยเสริมจุดยืนในการประชุม COP15 ของสหประชาชาติให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
แต่หลายประเทศเช่นบราซิล อินโดนีเซีย และมาเลเซีย วิพากษ์วิจารณ์แผนของสหภาพยุโรป และชี้ว่าสร้างภาระจากค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับประเทศกำลังพัฒนา