เปิดอีกหนึ่งสาเหตุ ทำไมฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่ กทม.พุ่งสูงขึ้น พบเพื่อนบ้านพาเสียระบบเผากันอย่างหนักหน่วง โดยในปี 67 พบจุดเผาในประเทศเพื่อนบ้าน 49,983 จุด มากขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 93% ทั้งที่ในประเทศไทยเอง จุดเผาลดลง 46%
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังคงสร้างความกวนใจในประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร และหลายๆจังหวัดในภาคเหนือและอีสาน ที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละวันแทบจะไม่มีค่าสีเหลืองปกติเลย มีแต่สีส้มกับสีแดง ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และระบบทางเดินหายใจ ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะมองไป ที่การขนส่งยานพาหนะ ว่าเป็นต้นตอของปัญหา
จากรายงานของ กรุงเทพมหานคร พบว่าอีก 1 ต้นเหตุที่ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงนี้สูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อประชาชนว่า ปัจจัยหลักที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ สูงขึ้น คือ ฝุ่นจากภายนอกกรุงเทพฯ และจากภายนอกประเทศ ซึ่งจากรายงานเกิดจากการเผา โดย 84% ของวันที่เกิน 37.5 มคก.ลบ.ม. ตรงกับวันที่พบการเผาในกัมพูชาเกิน 1,000 จุด และ 100% ของวันที่เกิน 50 มคก.ลบ.ม. ตรงกับวันที่พบการเผาในกัมพูชาเกิน 1,000 จุด
จากข้อมูลพบว่าในปี 2566 ตรวจพบจุดเผาในประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 25,856 จุด และในปี 2567 เพิ่มเป็น 49,983 จุด มากขึ้นถึง 93% ส่วนในประเทศพบจุดเผาในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก โดยปี 2566 พบจุดเผา จำนวน 5,981 จุด และในปี 2567 ลดลงเหลือ 3,252 จุด ลดลง 46% ส่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ 2566 พบจุดเผา เพียง 6 จุด ส่วนปี 2567 พบจุดเผา 1 จุด ลดลง 83%
นอกจากนี้ ยังพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างค่าฝุ่นจากเครื่องตรวจวัดระดับพื้นดิน ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่จตุจักร เทียบกับ เครื่องตรวจวัดเสาสูงระดับ 110 เมตร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เมื่อค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับพื้นดินสูงกว่า 50 มคก.ลบ.ม. = มีโอกาส 71% ที่ค่าฝุ่นของของเครื่องตรวจ 110 ม. จะสูงกว่าอย่างมีนัยยะ (มากกว่า 10 มคก.ลบ.ม.)
เมื่อค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับพื้นดินต่ำกว่า 37.5 มคก.ลบ.ม. = มีโอกาส 80% ที่ 1) ค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับ 110 ม. จะตํ่ากว่า หรือ 2) ค่าฝุ่นของเครื่องตรวจวัดระดับ 110 ม. จะสูงกว่าอย่างไม่มีนัยยะ (ในอัตราที่น้อยกว่า 5 มคก.ลบ.ม.)
คือจุดที่ดาวเทียมตรวจพบค่าความร้อนสูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลก ซึ่งส่วนมากก็คือความร้อนจากไฟ แสดงในรูปแบบแผนที่เพื่อนำเสนอตำแหน่งที่เกิดไฟในแต่ละพื้นที่แบบคร่าวๆ การได้มาซึ่งข้อมูลจุดความร้อนอาศัยหลักการที่ว่า ดาวเทียมสามารถตรวจวัดคลื่นรังสีอินฟราเรดหรือรังสีความร้อนที่เกิดจากไฟ (อุณหภูมิสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส) บนพื้นผิวโลก จากนั้นก็ประมวลผลแสดงในรูปแบบจุด
ข้อมูลจาก : กรมอุตุนิยมวิทยา, GISTDA, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
หากย้อนกลับไปดูปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในปีที่ผ่านมาๆ สาเหตุล้วนมาจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ และจุดความร้อนที่กระจายตัวอยู่ทั้งในประเทศและประเทศอนุภูมิภาคแม่โขง ได้แก่ ลาว เมียนมา เวียดนาม กัมพูชา ซึ่งจุดความร้อนหรือ hotspot ในประเทศเพื่อนบ้านที่ทำให้เกิดฝุ่นควันข้ามพรมแดนมายังไทย พบส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่า ไร่ข้าวโพด
ซึ่งวิธีแก้ปัญหาฝุ่นข้ามแดนที่ตรงจุดที่สุดคือการขอความร่วมมือและหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้รู้ข้อมูลถึงผลลัพธ์การทำเกษตรลักษณะนี้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5
ความคืบหน้าล่าสุดกับการแก้ปัญหา นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้สั่งการให้อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกโทรศัพท์หารือกับนายฮุน ซาเรือน เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เพื่อร่วมกันหาแนวทางลดพื้นที่ hot spot ลงโดยเร็ว โดยฝ่ายไทยเองก็อยู่ระหว่างดำเนินการเช่นเดียวกันในฝั่งของไทย ซึ่งเอกอัครราชทูตกัมพูชาฯ รับจะรีบแจ้งไปยังเมืองหลวงภายในวันนี้ต่อไป และเห็นพ้องว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญของนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้สั่งการให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ พบหารือกับผู้แทนระดับสูงของกัมพูชา โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ มีกำหนดจะโทรศัพท์ถึงนาย Eang Sophalleth รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของกัมพูชา ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ ในโอกาสที่เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ จะเข้าพบกับนาย Sophalleth เพื่อเร่งแก้ไขปัญหา PM 2.5 ร่วมกันโดยเร็วต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ค่าฝุ่น PM2.5 กทม. ดีขึ้นต่อเนื่อง GISTDA ชี้ 20 จังหวัดอีสานอ่วมพิษฝุ่น
"ฝุ่น PM 2.5" กรุงฮานอยเข้าขั้นวิกฤต! ทำเที่ยวบินดีเลย์กว่า 100 ไฟลท์
ฝุ่น PM2.5 วันนี้ 31 ม.ค. 67 กทม. ฟุ้งทั่วพื้นที่ เกินมาตรฐาน 46 จังหวัด