SHORT CUT
รถสองแถว EV เชียงใหม่ ทดลองวิ่งรับ-ส่ง ผู้โดยสาร ผู้ประกอบยืนยันประหยัดกว่ารถพลังงานน้ำมัน หวังเชียงใหม่มีรถสาธารณะพลังงานสะอาดเพิ่ม ด้านผู้จัดการโครงการสุดภูมิใจงานวิจัยสามารถนำมาใช้ได้จริง จี้รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนนำร่องรถแดง EV 100 คันแรก
ผู้ประกอบการรถสองแถวในจังหวัดเชียงใหม่นำร่องรถสองแถว EV หรือ รถสองแถวประจำทางที่ใช้ไฟฟ้า 100%
รับส่งผู้โดยสาร หลังจากก่อนหน้านี้อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาโดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
นายบริสุทธิ์ สันติวัฒนพันธ์ คนขับรถสี่ล้อประจำทางที่เปลี่ยนจากรถน้ำมันมาเป็นรถ EV เปิดเผยว่า การทดลองให้บริการรถสองแถว EV ให้บริการประชาชนมา 2 วันแล้ว โดยก่อนหน้านี้ก็ได้มีการทดสอบการใช้งานอยู่บ่อยครั้งก่อนจะนำมาใช้งานจริง ซึ่งในเรื่องของการใช้งาน รถโดยสาร EV ถือว่าใช้งานได้ดีกว่ารถโดยสารปกติที่ใช้พลังงานน้ำมัน ที่เคยใช้มาก่อนหน้านี้ในทุกๆด้าน และเนื่องจากรถโดยสารปกติที่ใช้พลังงานน้ำมัน มีขั้นตอนมากมายก่อนจะนำมาใช้งานได้ในแต่ละครั้ง การมีรถโดยสาร EV จึงถึงเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับตน
นอกจากนี้ในเรื่องของผลประกอบการ รถโดยสาร EV ยังทำให้ตนได้รับผลประกอบการที่ดีขึ้น เพราะรถโดยสารปกติที่ใช้พลังงานน้ำมันจะมีเรื่องของค่าใช้จ่ายต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่มาก เช่น ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆภายในรถ การใช้รถโดยสาร EV จึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ค่อนข้างมาก แต่ในปัจจุบัน รถโดยสาร EV ยังถือว่ามีจำนวนน้อย โดยหวังว่าในอนาคตเราจะมีรถโดยสารประเภทนี้มากขึ้น
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา พรมวังขวา อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และผู้จัดการโครงการฯ เล่าว่า โครงการรถโดยสาร EV นี้ ตนรู้สึกปลื้มใจและพึงพอใจมาก ที่ผลงานวิจัยตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา ถูกนำมาใช้จริงได้แล้ว ในการบริการประชาชนโดยเจ้าของรถที่นำรถมาทดลองในโครงการ ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างสูงและอยากต่อยอดโครงการนี้โดยการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการใช้ต้นแบบจากตัวอย่างรถโดยสาร EV ทั้งสองคันไปขยายการใช้งานกับรถโดยสารประจำทางที่มีลักษณะเดียวกัน
โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีรถโดยสารในลักษณะเดียวกันนี้อยู่มาก ถ้าจะให้ดีคือการมีโครงการนำร่องในการผลิตรถสี่ล้อแดง EV ต่อจากนี้จำนวนประมาณ 100 คัน เพื่อจะให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าการดัดแปลงรถโดยสารแบบใช้น้ำมันมาเป็นรถโดยสาร EV นั้นสามารถทำได้และสามารถนำมาใช้งานได้จริง โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลา 6-8 เดือนในการดำเนินงานต่อไป
"ในการเปลี่ยนรถ 2 แถว เป็นรถพลังไฟฟ้า มีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาทต่อคัน ซึ่งยังถือเป็นราคาที่สูงสำหรับผู้ประกอบการ ดังนั้นรัฐบาลควรจะเข้ามาช่วยเหลือด้วย" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา กล่าว
ทั้งนี้ในปัจจุบันนี้รถทั้งสองคันเสร็จเรียบร้อย ระยะทางในการวิ่งจะอยู่ที่ประมาณ 270 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง
ซึ่งเพียงพอต่อการที่เจ้าของรถที่จะกลับไปให้บริการในรูปแบบของรถประจำทาง ซึ่งจะวิ่งอยู่ที่ 150 ถึง 160 กิโลเมตรต่อวัน ทำให้เพียงพอต่อการออกไปรับ-ส่ง ผู้โดยสารตลอดทั้งวัน
และรถทั้ง 2 คัน เป็นรถของผู้ประกอบการ ที่มีอายุการใช้งานมานานมากกว่า 10 ปี ที่ปล่อยควันดำที่เป็นมลพิษออกมาจำนวนมาก ซึ่งการเปลี่ยนมาเป็นรถพลังไฟฟ้าก็จะสามารถช่วยลดฝุ่น PM2.5 ลงได้ และยังประหยัดมากขึ้นจากเดิมที่ใช้น้ำมัน จะเฉลี่ยอยู่ที่กิโลเมตรละ 3 บาทกว่าแต่หาการเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้าจะเหลืออยู่ที่กิโลเมตรละ 70 สตางค์