svasdssvasds

MagikFresh แหล่งอากาศบริสุทธิ์ที่ช่วยให้ปอดคนไทยไม่เต็มไปด้วยฝุ่น PM2.5

MagikFresh แหล่งอากาศบริสุทธิ์ที่ช่วยให้ปอดคนไทยไม่เต็มไปด้วยฝุ่น PM2.5

สวทช. ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร เปิด “MagikFresh ต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่” ถือเป็นตัวช่วยด้านอากาศบริสุทธิ์สำหรับคนไทย

เนื่องจากในช่วงหลายปีมานี้ กรุงเทพมหานครมักเกิดฝุ่น PM2.5 ในช่วงตุลาคมไปจนถึงกุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นช่วงอากาศหนาว จึงได้ทดลองทำ “MagikFresh ต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่” ขนาด 100 ตรม. พร้อมติดตั้งเครื่องกรองฝุ่น PM2.5 ไว้ที่สวนจตุจักร เพื่อให้ประชาชนที่เข้าไปพักผ่อนสามารถเข้าไปสูดอากาศบริสุทธิ์ได้ ระหว่างพฤศจิกายน 2566 - พฤษภาคม 2567 เป็นระยะเวลา 7 เดือน 

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ  ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ  ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้ แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ และได้รับการพิจารณาเป็นโครงการสำคัญปี 2566 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้ชื่อโครงการนวัตกรรมสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่

โดยมี ดร.พรอนงค์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นหัวหน้าโครงการ ในการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยสร้างสรรค์พื้นที่สวนสำหรับการทำกิจกรรมนันทนาการและพักผ่อนหย่อนใจ ช่วงที่มีปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5

MagikFresh ตัวต้นแบบควบคุมการไหลเวียนของอากาศภายในพื้นที่กึ่งเปิด

ทั้งนี้ MagikFresh เป็นตัวต้นแบบในการพัฒนาโครงสร้างสำหรับควบคุมการไหลเวียนของอากาศภายในพื้นที่กึ่งเปิด ร่วมกับนวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการกรองฝุ่น PM2.5 ทำให้ประชาชนหายใจได้เต็มปอดโดยไม่ต้องกังวลต่อมลพิษฝุ่น PM2.5 และโครงสร้างได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ถอดประกอบการขนย้ายไปติดตั้งใช้งานในสถานที่ต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ด้วย

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร พร้อมสนับสนุนต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่กรุงเทพมหานครพยายามแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง ยาว ตั้งแต่ต้นตอของแหล่งกำเนิดฝุ่นรวมถึงการบำบัดอากาศซึ่งเป็นปลายทาง

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ใช้แอปพลิเคชัน Traffy Fondue ในการช่วยแจ้งเตือนเฝ้าระวังปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ กทม.รวมทั้งประชาชนยังมีส่วนร่วมถ่ายรูปและส่งทางไลน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว

ซึ่งทางกรุงเทพมหานครมีความยินดีที่จะช่วยสนับสนุนและใช้ผลงานวิจัยต่างๆ ของสวทช. แก้ปัญหาด้านมลพิษของประเทศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ที่กลายมาเป็นผลกระทบใหญ่ทางด้านสังคม สุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน และคาดหวังให้เป็นตัวช่วยในการบรรเทาปัญหาเพื่อช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น

ดร.พรอนงค์  พงษ์ไพบูลย์ นักวิจัยเนคเทค สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการ ฯ

ดร.พรอนงค์  พงษ์ไพบูลย์ นักวิจัยเนคเทค สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการ ฯ กล่าวว่า นวัตกรรม “MagikFresh” ประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ 

ส่วนของโครงสร้าง MagikFresh Pavilion

●    ส่วนของโครงสร้างที่เรียกว่า MagikFresh Pavilion ออกแบบและวิจัยพัฒนามาเพื่อให้รับลมเข้าจากช่องเปิดทางด้านข้างในรูปแบบที่เสริมกัน และเกิดการไหลเวียนของอากาศในพื้นที่ มีลักษณะเฉพาะคือ มีช่องเปิดด้านบน ดังนั้นอากาศสะอาดที่ไหลเวียนผ่านเครื่องกรองเข้ามาจะไหลเวียนออกสู่ช่องเปิดด้านบน การไหลเวียนของอากาศในพื้นที่นี้จะมากกว่า 10 รอบต่อชั่วโมงทำให้มีอากาศที่สะอาดและสดชื่นเหมือนการใช้ชีวิตอยู่ภายนอกอาคาร และมีค่าฝุ่น PM2.5 ที่ต่ำกว่าภายนอก การออกแบบ MagikFresh Pavilion จึงสามารถปรับขนาดได้ตามพื้นที่ที่ต้องการ

เครื่องกรองอากาศ MagikFresh Air Cleaner
●    ส่วนที่สองเป็นส่วนของเครื่องกรองอากาศที่เรียกว่า MagikFresh Air Cleaner ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่าการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิตย์แบบมีโอโซนต่ำ คือ หลักการของเทคโนโลยีนี้คือการปล่อยประจุให้ไปจับกับ PM2.5 แล้วให้เคลื่อนที่ผ่านไปยังชุดดักจับฝุ่นที่ประกอบด้วยแผ่นเพลทวางขนานกัน ซึ่งแผ่นดักจับฝุ่นนี้ สามารถถอดล้าง ช่วยลดขยะและลดต้นทุนในการใช้ไส้กรองอากาศได้ โดยเครื่องกรองอากาศนี้มีความสามารถในการสร้างอากาศสะอาดรวมทั้งหมด 6 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง  

ระดับค่าฝุ่น PM 2.5 ที่ต้องระวัง     

นอกจากนี้ สวทช. ยังตระหนักและให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาของฝุ่น PM 2.5 มาโดยตลอดโดยงานวิจัยและพัฒนาของ สวทช. แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 

1.    ด้านการรับมือที่ต้นตอของปัญหา มีการวิจัยพัฒนาเชื้อเพลิงการเผาไหม้ โดยการพัฒนาคุณภาพของสูตรน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล B10 และเพิ่มคุณภาพน้ำมันดีเซลด้วยกระบวนการ Hydrotreating ทั้งสองเชื้อเพลิงเป็นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ  
2.    ด้านการตรวจวัดและระบบสารสนเทศ มีการวิจัยพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่า PM 2.5 ด้วยเทคนิค Quartz Crystal Microbalance (QCM) ที่มีความแม่นยำสูง และการใช้ Supercomputer เพื่อคาดการณ์ระดับ PM2.5 ล่วงหน้า 
3.    ด้านการป้องกัน มีการวิจัยพัฒนาหน้ากากอนามัย nMask : Non-biological Mask ที่ได้ผ่านการทดสอบจากองค์กรมาตรฐานสากล (Nelson laboratory USA) ซึ่งสามารถกรองเชื้อไวรัส แบคทีเรีย จุลินทรีย์ คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน รวมทั้ง PM2.5 และการวิจัยพัฒนาเครื่องกรองฝุ่นละอองและกำจัดเชื้อโรคในอากาศ หรือเรียกว่า IonFresh+ ซึ่งเป็นผลงานของทีมวิจัยเดียวกันกับที่พัฒนาสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่นี้

นักพัฒนาและนักวิจัยจาก สวทช.

อย่างไรก็ตาม ในแง่ต้นทุนของการดูแลรักษา “MagikFresh ต้นแบบสวนนันทนาการอากาศสะอาดเพื่อเมืองน่าอยู่” นั้น ไม่ได้ใช้ต้นทุนที่สูงมากเพราะแผ่นกรองสามารถนำมาทำความสะอาดและใช้ซ้ำได้ รวมทั้งตัวเครื่องยังมีเซนเซอร์เช็กระดับฝนและอากาศได้ด้วย 

 

อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติม

related