‘วราวุธ’ ลงพื้นบางขุนเทียน แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อน จี้ต้องแก้ให้ถูกจุด ขณะที่ ‘ชัชชาติ-ส.ส.ก้าวไกล-ผู้สมัคร ชทพ.’ มาร่วมงานด้วย
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่สำรวจและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณบางขุนเทียน พร้อมรับฟังปัญหาและร่วมกันหาแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ณ อาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนพิทยาลงกรณ์ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชาชน อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล (อสทล.) มาร่วมงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาติไทยพัฒนา ชูนโยบาย ดันไทยศูนย์กลางเทรดคาร์บอนเครดิตแห่งเอเชีย-แปซิฟิก
วราวุธ ตั้งเป้าเร่งผลักดันป่าเศรษฐกิจ เพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ
นายวราวุธ ศิลปอาชา ให้ความเห็นว่า สาเหตุการกัดเซาะชายฝั่งของไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1) การกัดเซาะชายฝั่งโดยธรรมชาติ เช่น คลื่น กระแสน้ำชายฝั่ง น้ำขึ้น น้ำลง ลมมรสุม และพายุ
2) การกัดเซาะชายฝั่ง จากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การสร้างสิ่งก่อสร้างริมชายฝั่ง การสร้างรอดักทราย การสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำ เป็นต้น โดยการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณบางขุนเทียนนั้น สาเหตุไม่ได้มาจากระดับน้ำทะเลขึ้นสูง สังเกตได้จากหลักเขตกรุงเทพมหานคร หลักที่ 28 แบ่งพื้นที่ระหว่างเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร กับจังหวัดสมุทรปราการ และหลักที่ 29 พื้นที่ระหว่างเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร กับจังหวัดสมุทรสาคร ที่จัดสร้างขึ้นหลังจากมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน พ.ศ. 2502 ตลอดระยะเวลา 60 ปี หลักเขตนี้ก็ยังโผล่พ้นเหนือน้ำ หากเกิดการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างมีนัยสำคัญ หลักเขตนี้ควรจะจมอยู่ใต้น้ำ
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่น พร้อมได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดและได้มอบหมายนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามและกำกับการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด
ด้าน จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สาเหตุการทรุดตัวของแผ่นดิน เนื่องจากกรุงเทพ เป็นพื้นดินอ่อนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ บางส่วนของกรุงเทพ จึงอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง รวมทั้งการสูบน้ำบาดาลในอดีต การก่อสร้างอาคารที่มีน้ำหนักมาก การถมคลองเปลี่ยนเป็นถนนทำให้พื้นที่รับน้ำที่เคยมีจำนวนมากในอดีตหายไป การกีดขวางและการอุดตันการระบายน้ำ เป็นต้น สถานการณ์โลกร้อนที่มีผลต่อการจมน้ำของกรุงเทพ มีผลกระทบต่อเนื่องมาจากการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) และ เอลนีโญ (EI Nino) ที่ทำให้มีฝนมากหรือน้อยกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศก็ให้ความสำคัญ ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หรือ UNFCCC : NAPs ภายใต้กรอบการดำเนินงานด้านการปรับตัวแคคูน UNFCCC: Cancun Agreement เพื่อเป็นกลไกและวิธีการในการระบุความจำเป็น ต่อการปรับตัวในระยะกลางและระยะยาว นำไปสู่การบูรณาการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ากับนโยบาย แผนงาน และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและประกาศใช้ ต่อไป
ด้าน อภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) เปิดเผยว่า ในส่วนกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มีภารกิจที่เกี่ยวข้องในเขตบางขุนเทียน เป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวของกรุงเทพมหานครที่ติดทะเล ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร โดยสถานภาพชายฝั่งของกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน มีระยะทางชายฝั่ง ประมาณ 7.11 กิโลเมตร มีสภาพพื้นที่เป็นหาดโคลนอยู่ในแนวทางการฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง (Coastal rehabilitation) เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ได้มีการดำเนินการแก้ไขในพื้นที่ดังกล่าวแล้วทั้งหมด แต่ยังมีการกัดเซาะอยู่ประมาณ 2.60 กิโลเมตร และไม่มีการกัดเซาะเพิ่มระยะทาง 4.51 กิโลเมตร
ปัจจุบันมีโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ของกรุงเทพฯ ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น การปักเสาคอนกรีต เขื่อนหินป้องกันคลื่นนอกชายฝั่ง และเขื่อนหินทิ้ง เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ภายหลังการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แนวชายฝั่งในเขตบางขุนเทียนเริ่มปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งที่เป็นผลมาจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ในระยะเวลา 3 ปีย้อนหลัง