svasdssvasds

วิกฤต Fast Fashion ในสหรัฐฯ กำลังจะจบลง ? หลังทรัมป์ยุติ De Minimis

วิกฤต Fast Fashion ในสหรัฐฯ กำลังจะจบลง ? หลังทรัมป์ยุติ De Minimis

โดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกกฎหมาย De Minimis สกัดสินค้าจีนราคาถูกเข้าสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีสินค้ามูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ 2 พ.ค. 68 หวังลดวิกฤตฟาสต์แฟชั่น

SHORT CUT

  • ทรัมป์สั่งยกเลิกกฎหมาย De Minimis ที่เปิดช่องให้สินค้าจากจีนมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐ เข้าสหรัฐฯ โดยไม่ต้องเสียภาษี ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแพลตฟอร์มอย่าง Temu, Shein และ AliExpress
  • ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 68 สหรัฐฯ จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์ในอัตรา 30% และเพิ่มเป็น 50% ตั้งแต่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป โดยเก็บแบบชิ้นต่อชิ้น
  • มาตรการนี้มุ่งหวังแก้ปัญหาการบริโภคฟาสต์แฟชั่นเกินจำเป็น และสกัดการลักลอบนำเข้าสารต้องห้ามอย่างเฟนทานิลที่สร้างวิกฤตในสังคมอเมริกัน

โดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกกฎหมาย De Minimis สกัดสินค้าจีนราคาถูกเข้าสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีสินค้ามูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่ 2 พ.ค. 68 หวังลดวิกฤตฟาสต์แฟชั่น

ท่ามกลางพายุหมุน “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร เลิกใช้กฎหมาย De Minimis ซึ่งเป็นช่องโหว่ให้สินค้า Fast Fashion จากจีนนำเข้าสู่สหรัฐฯ ได้โดยไม่ต้องเสียภาษี มีผลตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 68 เป็นต้นไป

Credit Reuters

 

ชวนรู้จัก De Minimis มาตรการทางศุลกากร ที่เอื้อให้สินค้าจีนทะลักเข้าสู่สหรัฐฯ

แพลตฟอร์มชอปปิ้งสินค้าจากจีน อาทิ Temu, Shein หรือ AliExpress ได้รับความนิยมสูงมากในสหรัฐฯ ในปี 2024 Temu มีจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนในสหรัฐอเมริกา เฉลี่ย 185.6 ล้านคน, Shein 46.9 ล้านคน และ AliExpress 24.2 ล้านคน

Credit Reuters

เหตุที่ได้รับความนิยมก็เพราะว่าสินค้าแทบทุกชนิดที่วางขายในแพลตฟอร์มดังกล่าว ราคาถูกกว่าท้องตลาด ซื้อง่ายขายคล่อง ทั้งยังเป็นแหล่งสินค้าฟาสต์แฟชั่นด้วย ในขณะเดียวกัน การมาถึงของบริษัทจีนเหล่านี้กำลังทำให้ธุรกิจของชาวอเมริกันต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ทีนี้ เราก็ต้องไปเข้าใจกฎหมาย De Minimis เจ้าปัญหากันก่อน

“De Minimis” คือมาตรการทางศุลกากรของสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 26,600 บาท) สามารถเข้าสู่ประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า และแทบไม่ต้องผ่านการตรวจสอบจากศุลกากร

เหตุฉะนี้ ในยุคที่สินค้าอีคอมเมิร์ซรุ่งเรือง บริษัทต่าง ๆ จึงเห็นช่องโหว่ในมาตรการดังกล่าว และนำเข้าสินค้าสู่สหรัฐฯ เมื่อพลิกไปดูงานวิจัยก็พบว่า สินค้าที่มีการขนส่งที่มีมูลค่าต่ำ หรือ De Minimis ทะลักเข้าสู่สหรัฐฯ มากถึง 1.4 พันล้านชิ้น มีสัดส่วนราว ๆ 1 ใน 10 ของมูลค่าส่งออกสินค้าจากจีนไปยังสหรัฐฯ เลยทีเดียว

Credit Reuters

แล้วช่องโหว่ที่ว่าคืออะไร ?

เมื่อสินค้าจากจีนไม่จำเป็นต้องเสียภาษีนำเข้าสักหยวน ดังนั้น บริษัทจีนจึงขนสินค้าเข้าสู่สหรัฐฯ และขายสินค้าเหล่านี้ให้กับชาวอเมริกันได้โดยตรง เสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่น คุณภาพต่ำ เน้นผลิตตามกระแสแฟชั่นที่กำลังมาแรง

ใช้เวลาไม่กี่ปี บรรดาแพลตฟอร์มจีนเหล่านี้ก็เติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งยังปลูกฝังพฤติกรรมเน้นการบริโภคไวของชาวอเมริกันไปโดยไม่รู้ตัว ปัจจุบัน เว็บไซต์ Uniform Market คาดการณ์อุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นในสหรัฐฯ ว่าอาจมีมูลค่าสูงถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2025)

ใครที่ติดตามเนื้อหาของ SPRiNG มาก็อาจจะพอรับรู้กันแล้วว่าวิกฤตฟาสต์แฟชั่น (Fast fashion) นั้นส่งผลกระทบต่อทุก ๆ มิติในสังคมอย่างไร

สหรัฐฯ ยุติมาตรการ De Minimis แล้ว แต่จะจัดการวิกฤต Fast Fashion ได้จริงไหม ?

หลังจากวันที่ 2 พ.ค. 68 เป็นต้นไป สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 26,600 บาท ต้องเสียภาษีในอัตรา 30% ของมูลค่าสินค้า แล้วจะเพิ่มอัตราภาษีเป็น 50% หลังจากวันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป ย้ำ เสียภาษีชิ้นต่อชิ้น !

แต่ประเด็นก็คือ มิใช่แค่สินค้าฟาสต์แฟชั่นเท่านั้นที่สหรัฐฯ หวังจัดการให้อยู่หมัด แต่รัฐบาลทรัมป์ต้องการสกัดการลักลอบขนส่งสารต้องห้ามหลายชนิดเข้าสู่สหรัฐฯ อาทิ เฟนทานิล (Fentanyl), กลุ่มยาโอปิออยด์ (opioids) อาทิ มอร์ฟีน ฯลฯ

จากข้อมูลของกรมศุลกากรและป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ ซึ่งเผยว่า ยึดสารเฟนทานิล (Fentanyl) ได้มากกว่า 21,000 ปอนด์ที่ชายแดน ซึ่งเพียงพอที่จะฆ่าคนได้มากกว่า 4 พันล้านคนในสหรัฐฯ ดังนั้น การที่ทรัมป์สั่งยุติมาตรการ De Minimis ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 1938 จะจัดการวิกฤตฟาสต์แฟชั่นได้ผลหรือไม่นั้น เรื่องนี้คงต้องติดตามกันไปยาว ๆ

 

ที่มา: Independent, CNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

related