ทรัมป์ เตรียมเก็บภาษี “เกาะร้าง” ใกล้ ๆ กับขั้วโลกใต้ ซึ่งมีแต่เพนกวินอาศัยอยู่ และมีคนอยู่หนล่าสุดคือ 10 ปีที่แล้ว หรืองานนี้สหรัฐอเมริกากำลังถูกย้อมแมว ?
ชายผู้เกิดมาเพื่อเป็นตำนาน “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่กี่วันมานี้ ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศทั่วโลก ตัวเลขสูงชนิดนานาชาติทยอยออกมาขอเจรจาเป็นการเร่งด่วน เว้นก็แต่ “จีน" ที่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 34% สวนกลับทันควัน
แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อกวาดสายตาดูรายชื่อประเทศเป้าหมายที่ทรัมป์เตรียมขึ้นภาษี ก็ต้องสะดุดตากับเกาะเฮิร์ดและหมู่เกาะแมคโดนัลด์ อันได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ห่างไกงสุดขอบโลก ถูกเรียกเก็บภาษี 10% ทั้ง ๆ ที่ไม่มีคนอยู่ ยกเว้นแต่เพนกวินกับแมวน้ำเท่านั้น
เกาะเฮิร์ด (Heard Island) และหมู่เกาะแมคโดนัลด์ (McDonald Islands) คือเขตปกครองของประเทศออสเตรเลีย ตั้งอยู่ใกล้กับทวีปแอนตาร์กติกา ห่างจากออสเตรเลียราว 4,000 กิโลเมตร เป็นเกาะรกร้างปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง
บนเกาะไม่มีใครอาศัยอยู่ มีแต่กลุ่มน้องเพนกวิน และหนสุดท้ายที่มีมนุษย์เหยียบย้ำไปยังสถานที่แห่งนี้ก็ราว 10 ปีที่แล้ว การจะไปถึงที่นั่นมีวิธีเดียวคือ ต้องนั่งเรือจากชายฝั่งออสเตรเลียตะวันตกเข้าไป โดยใช้เวลา 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย
ดอน ฟาร์เรลล์ รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของออสเตรเลีย กล่าวกับ Australian Broadcasting Corporation (ABC) ว่าภาษีศุลกากรดังกล่าว “นกเพนกวินแก่ ๆ น่าสงสาร แต่พูดตามตรง นี่มันแสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่เร่งรีบ มันต้องทีอะไรผิดพลากแน่ ๆ”
นอกเหนือจากทั้ง 2 เกาะนี้ ยังมีดินแดนอื่น ๆ ของออสเตรเลียที่ถูกขึ้นบัญชีเรียกเก็บภาษีด้วยเช่นกัน อาทิ เกาะนอร์ฟอล์ก (Norfolk Island) ซึ่งมีประชากรอยู่ราว 2,188 คน ห่างจากเมืองซิดนีย์ไปราว ๆ 1,600 กิโลเมตร ก็ถูกเรียกเก็บภาษี 29%
ขณะที่ประเทศออสเตรเลียถูกเรียกเก็บภาษีแค่ 10% แต่ทำไมเกาะนอร์ฟอล์กถึงถูกเรียกเก็บภาษีมากถึง 29% ข้อมูลพบว่าปี 2023 เกาะนอร์ฟอล์กส่งออกสินค้ามูลค่า 655,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 22 ล้านบาท) ไปยังสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกหลักคือ รองเท้าหนัง มูลค่า 413,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 14.2 บาท)
ไมค์ คอฟฟิน จากมหาวิทยาลัยแทสเมเนีย (University of Tasmania) ซึ่งเดินทางไปเยือนเกาะแห่งนี้มาแล้วถึง 7 ครั้งเพื่อทำการวิจัย เขาสงสัยว่าเกาะแห่งนี้ไม่มีคน แล้วจะมีสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้ยังไง
เขาให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า “ไม่มีอะไรอยู่ที่นั่น” เท่าที่รู้มีเพียง 2 บริษัทจากออสเตรเลียเท่านั้น ซึ่งทำธุรกิจจับปลาหิมะ (Patagonian toothfish) และ ปลาแมกเคอเรล (Mackerel) เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ
ขณะที่ในปี 2022 ข้อมูลจากธนาคารโลก ระบุว่า สหรัฐฯ นำเข้า “เครื่องจักร” จำนวนเล็กน้อย มูลค่าเพียง 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 48 ล้านบาท ดังนั้น เราจะไม่ได้เห็นภาพการต่อรองเรื่องภาษีกันระหว่างสหรัฐฯ กับหมู่เกาะห่างไกลเหล่านี้อย่างแน่นอน
สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า การเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากหมู่เกาะนอร์ฟอร์ก รวมถึงเกาะอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าข้อมูลการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ มีข้อผิดพลาด และเมื่อลงไปเช็กดูก็พบว่า น่าจะเป็นการย้อมแมวมากกว่า
กล่าวคือ เป็นสินค้าที่ส่งมาจากประเทศอื่น แต่ย้อมแมวติดฉลากบนสินค้าว่าถูกผลิตขึ้นที่หมู่เกาะห่างไกลเหล่านี้ แอนโทนี แอลบานีส (Anthony Albanese) นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า “มันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย และนี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่มิตรเขาทำกัน”
ที่มา: BBC, The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง