ระดับออกซิเจนในทะเลสาบทั่วโลกลดลงจากภาวะโลกร้อน คลื่นความร้อน และมลพิษทางเกษตร ทำลายระบบนิเวศจนเกิด "โซนมรณะ" นักวิจัยเตือนอาจสูญเสียออกซิเจนถึง 9%
ผลการวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ระบุว่า ระดับออกซิเจนในทะเลสาบแห่งต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังลดลงอย่างน่าเป็นกังวล
นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มลักษณะเดียวกันนี้กับแม่น้ำและทะเลอีกหลายแห่งด้วย แต่ทะเลสาบบางแห่งสูญเสียออกซิเจนเร็วกว่ามหาสมุทรถึง 9 เท่า
งานวิจัยใหม่สามารถระบุได้ว่ากลไกต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของการสูญเสียออกซิเจนในทะเลสาบทั่วโลกนั้นมีส่วนร่วมในระดับใดบ้าง โดยในช่วงระหว่างปี 1980 ถึงปี 2017 ที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณออกซิเจนลดลง 5.5% ในชั้นผิวน้ำ และ 18.6% ในน้ำลึก
“อี้ป๋อ จาง” (Yibo Zhang) นักภูมิศาสตร์และทีมงานจากสถาบัน Chinese Academy of Sciences (CAS) ของจีน ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมร่วมกับการศึกษาข้อมูลทางภูมิศาสตร์และภมิอากาศ เพื่อสร้างเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสูญเสียออกซิเจนเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ โดยพบว่า ทะเลสาบกว่า 80% จากทั้งหมด 15,535 แห่งที่ดำเนินการตรวจสอบนั้นมีระดับออกซิเจนที่ลดลง
นอกจากนี้ ในระหว่างปี 2003 ถึงปี 2023 ที่ผ่านมา ยังพบว่าทะเลสาบเหล่านี้ราว 85% มีจำนวนวันที่เกิดคลื่นความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ความสามารถของออกซิเจนในการละลายน้ำลดลง
“จาง” และทีมวิจัยยังคำนวณว่าคลื่นความร้อนมีส่วนทำให้การสูญเสียออกซิเจนคิดเป็น 7.7% จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงของความสามารถในการละลายของออกซิเจนในน้ำ
นักวิจัยยังระบุว่า การแพร่พันธุ์และการจับตัวกันเป็นแพของสาหร่ายเซลล์เดียว (Algae Blooms) ที่รุนแรงขึ้น มีส่วนถึง 10% ของการสูญเสียออกซิเจน ขณะเดียวกันสถานการณ์นี้ยังรุนแรงขึ้นจากทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปริมาณสารอาหารที่เพิ่มขึ้นในน้ำ เช่น ปุ๋ยเคมีและมูลสัตว์ที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำ
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระยะยาวถือเป็นสาเหตุหลักของการลดลงของออกซิเจรในทะเลสาบ
นักวิจัยประเมินว่า ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันเป็นสาเหตุของการลดลงของระดับออกซิเจนในทะเลสาบมากถึง 55% พร้อมเตือนว่า หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป ทะเลสาบต่าง ๆ ทั่วโลกอาจสูญเสียออกซิเจนไปถึง 9% ในช่วงสิ้นศตวรรษนี้ ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายที่สุด
ทะเลสาบธรรมชาติและทะเลสาบเทียมที่มนุษย์สร้างขึ้น ครอบคลุมพื้นที่ราว 5 ล้านตารางกิโลเมตรบนพื้นผิวโลก และมักเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นที่ไม่สามารถพบได้ที่อื่น
การลดลงของออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรง ทำให้เกิด “โซนมรณะ” (Dead Zones) ซึ่งไม่มีออกซิเจนเพียงพอให้สัตว์น้ำดำรงชีวิตได้ และปริมาณออกซิเจนที่ลดลงอย่างรวดเร็วยังทำให้สัตว์น้ำล้มตายเป็นจำนวนมาก และแนวโน้มนี้กำลังเพิ่มขึ้นตามแหล่งน้ำแห่งต่าง ๆ ทั่วโลก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานสัตว์น้ำตายหมู่หลายครั้งด้วยกัน เช่น ปลาไหลในนิวซีแลนด์ ปลาค็อดเมอร์เรย์ในออสเตรเลีย ปลาหลายสายพันธุ์และหอยในโปแลนด์และเยอรมนี
นอกจากนี้ทะเลสาบแห่งต่าง ๆ ยังเผชิญกับการระเหยของน้ำมากขึ้น เนื่องจากชั้นบรรยากาศที่อุ่นขึ้นของโลกกักเก็บน้ำได้มากขึ้น ส่งผลทำให้วัฏจักรน้ำของโลกเกิดการเร่งตัว จนก่อให้เกิดสภาวะการสลับขั้วอย่างรุนแรงจากช่วงแห้งแล้งจัดกับช่วงที่เกิดน้ำท่วมรุนแรง
การเปลี่ยนแปลงทั้งหมด กำลังสร้างความเสียหายให้กับระบบนิเวศของทะเลสาบและเศรษฐกิจที่พึ่งพาระบบนิเวศเหล่านี้ รวมถึง คุกคามความมั่นคงทางอาหารของมนุษย์
ปัจจัยเหล่านี้ได้ทำลายทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกไปแล้ว
นอกเหนือจากความจำเป็นเร่งด่วนในการลดภาวะโลกร้อนแล้ว การลดปริมาณของเสียทางการเกษตร ที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำยังช่วยรักษาระดับออกซิเจนที่มีอยู่ให้คงอยู่ไว้ได้ต่อไป
“ชื่อ คุน” (Shi Kun) นักนิเวศวิทยาของสถาบัน CAS ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า การปลูกพืชใต้น้ำและการสร้างพื้นที่ชุ่มน้ำจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศของทะเลสาบได้เช่นเดียวกัน
ที่มา: Science Alert
ข่าวที่เกี่ยวข้อง