ไฟไหม้ลามจนกลายเป็นวิกฤต ? กรมอุทยานฯ ประกาศปิดอุทยาน เขตรักษาพันธุ์ฯ เขตห้ามล่าฯ เพื่อควบคุมป้องกันภัยพิบัติจากไฟป่าแล้ว 89 แห่ง ขณะที่ สัตว์ป่า จำนวนมากต้องดิ้นรนหนีเอาชีวิตรอดจาก วิกฤตไฟป่า ที่เกิดขึ้น ครั้งนี้
นับตั้งแต่ วิกฤตไฟป่า กำลังเล่นงานพื้นที่ป่าไม้ของไทย ในช่วงที่เข้าสู่ฤดูร้อน 2566 อย่างเป็นทางการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึง ได้มีการพิจารณาประกาศปิด/ควบคุมพื้นที่ป่าอนุรักษ์ (อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า) เพื่อป้องกันภัยพิบัติจากไฟป่าแล้ว จำนวน 89 แห่ง ดังนี้
1.สบอ.3 (บ้านโป่ง) จำนวน 6 แห่ง
2.สบอ.11 (พิษณุโลก) จำนวน 6 แห่ง
3.สบอ.12 (นครสวรรค์) จำนวน 5 แห่ง
4.สบอ.13 (แพร่) จำนวน 5 แห่ง
5.สบอ.13 สาขาลำปาง จำนวน 7 แห่ง
6.สบอ.14 (ตาก) จำนวน 11 แห่ง
7.สบอ.15 (เชียงราย) จำนวน 10 แห่ง
8.สบอ.16 (เชียงใหม่) จำนวน 18 แห่ง
9.สบอ. 16 สาขาแม่สะเรียง จำนวน 21 แห่ง
โดยแบ่งเป็น
1.อุทยานแห่งชาติ จำนวน 44 แห่ง
2.เตรียมการอุทยานแห่งชาติ จำนวน 9 แห่ง
3.วนอุทยาน จำนวน 11 แห่ง
4.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 22 แห่ง
5.เขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 3 แห่ง
(ข้อมูล ณ วันที่ 8 มี.ค.66 เวลา 16.00 น.)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• วิกฤตไฟป่า สัตว์ป่าต้องหนีเอาชีวิตรอด
โดยในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ วิกฤตไฟป่า ได้ส่งผลกระทบในหลากหลายมุม และในวงกว้าง ทั้งฝุ่น PM2.5 ทั้งมลพิษทางอากาศ รวมถึงส่งผลกระทบต่อสัตว์ด้วย โดย ข้อมูลจากเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2566 สถานีควบคุมไฟป่าเจ็ดสาวน้อย-สามหลั่น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 1 สาขาสระบุรี ออกดำเนินการดับไฟป่าต่อเนื่อง เป็นครั้งที่ 30 บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แก่งนกเค้า หมู่ 5 ตำบลชะอม อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งเข้าดับไฟ ตั้งแต่เวลา 10.30 น. และเสร็จสิ้น ในเวลา 19.00 น. มีพื้นที่เสียหาย 45 ไร่
โดยมีสภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ง ซึ่งตรวจพบได้จากการรายงาน Hotspot ในการดับไฟป่าครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้บันทึกภาพเต่าหนีตายจากไฟป่าไว้ได้ และ ได้ทำการช่วยชีวิตไว้ปลอดภัยแล้ว
การเผาป่านอกจากมีความผิดตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต สัตว์ป่าต้องหนีตาย เอาตัวรอด จากการเกิดไฟป่า และความรุนแรงจากไฟป่า ทำให้สัตว์ป่าเหล่านั้นต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ หากพบเห็นไฟไหม้ป่า ผู้ที่พบเห็นสามารถ แจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตลอด 24 ชั่วโมง