หารือประเด็นลดฝุ่น PM2.5 กทม. ชี้ การฉีดน้ำบนอาคารไม่จำเป็น เช่นเดียวกับการใช้รถฉีดละอองน้ำเคลื่อนที่ไปในจุดต่างๆ แต่หากเลือกฉีดในจุดที่เป็นพื้นที่กึ่งปิดกึ่งเปิด อาทิ บริเวณ ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS จะมีประโยชน์มากกว่า
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม คณะผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กทม. ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหิดล NIDA และนักวิชาการอิสระ ร่วมประชุม เพื่อหารือในประเด็นการฉีดพ่นละอองฝอยของน้ำต่อการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
โดยการหารือนั้น ประกอบด้วย ประสิทธิภาพของการกำจัดฝุ่นด้วยการฉีดพ่นละอองน้ำ และประโยชน์ของการล้างพื้นถนนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการ ฉีดพ่นละอองฝอยบนอาคารที่ทำการหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดหลายแห่ง และดำเนินการล้างถนน และป้ายรถโดยสารประจำทางอย่างต่อเนื่องเพื่อทำความสะอาดท้องถนน และลดฝุ่นละอองขนาดใหญ่ที่ตกบนท้องถนนไม่ให้ฟุ้งกระจายเพิ่มเติมจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อาศัยหรือประกอบอาชีพริมท้องถนนได้ ซึ่งนักวิชาการได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและตั้งข้อสังเกต โดยอ้างอิงงานวิจัยต่างๆ ในหลายประเด็น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
และได้ข้อสรุปใจความสำคัญว่า
การฉีดน้ำบนอาคารไม่จำเป็น เช่นเดียวกับการใช้รถฉีดละอองน้ำเคลื่อนที่ไปในจุดต่างๆ แต่หากเลือกฉีดในจุดที่เป็นพื้นที่กึ่งปิดกึ่งเปิด อาทิ บริเวณ ใต้สถานีรถไฟฟ้า BTS จะมีประโยชน์มากกว่า
สำหรับรถฉีดละอองน้ำจะให้จัดทำ Action Plan เพื่อกำหนดพื้นที่ปฏิบัติงานให้ชัดเจน และเกิด Impact ที่ไม่กระทบกับประชาชน
นอกจากนี้ จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพของรถดูดฝุ่น เพื่อให้สามารถนำมาใช้งานได้เหมือนเช่นเมืองใหญ่ๆ อีกหลายแห่ง รวมถึงจะให้ความสำคัญกับค่าฝุ่นในพื้นที่ในร่ม ให้มากขึ้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ในร่ม อินดอร์ ในส่วนของการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภายนอกจะร่วมมือกับกรมอนามัยดำเนินการตามแนวทางห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเพื่อให้ครบทุกรูปแบบ
“ในขณะนี้โรงเรียนสังกัด กทม.คือ ที่โรงเรียนวิชูทิศได้ทดลองทำม่านน้ำ มีระบบเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ โดยจะทดลองใช้ 2 สัปดาห์ จากนั้นศึกษาข้อมูล ผลกระทบ ซึ่งกรุงเทพมหานครจะแบ่งปันข้อมูลนี้ให้ผู้เชี่ยวชาญเพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต” นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็น