งานวิจัยใหม่เผย เด็กที่เกิดในวันนี้ จะต้องเผชิญหน้าพบเห็นการสูญพันธุ์ของสัตว์กว่า 1,000 ชนิด ตลอดช่วงชีวิตการเติบโตของพวกเขา เพราะห่วงโซ่อาหารทั่วโลกพังทลาย
บทความหนึ่งใน The Conversation ได้กล่าวถึงวิกฤตการสูญพันธุ์ที่กำลังเกิดขึ้นไว้น่าสนใจทีเดียว เพราะไม่ใช่วิกฤตแค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มันวิกฤตทั่วทั้งโลกแล้ว อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า เด็กที่เกิดในวันนี้ จะต้องเผชิญหน้ากับการสูญพันธุ์ของสัตว์กว่า 1,000 ชนิด ตลอดช่วงชีวิตการเติบโตของพวกเขา มันเกิดอะไรขึ้น เป็นอย่างนั้นได้จริง ๆ เหรอ? มาวิเคราะห์กัน
แน่นอน ทุกวันนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change กันอย่างหนาหนู เราเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เชื่อไหมว่า สิ่งที่เราได้ยิน ได้เห็น ได้รับรู้นั้น มันคือการประเมินที่ต่ำเกินไป หรือก็คือ ในความเป็นจริง ปัญหามันใหญ่กว่าที่เรารู้ไว้มาก
ส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดในศตวรรษนี้เลย คือ การสูญพันธุ์ ของสัตว์และพืชหลายชนิด งานวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่า 10% ของสัตว์บกอาจหายไปจากพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ภายในปี 2050 และเกือบ 30% จะหายไปภายในปี 2100 หรือเรียกง่าย ๆ ว่าหายไปจากโลกนั่นแหละ ซึ่งมากกว่าที่คาดการณ์ 2 เท่า นั่นหมายความว่า เด็กที่เกิดในวันนี้ปีนี้ ในตอนที่พวกเขาอายุ 70 ปี พวกเขาจะได้เห็นการล้มตาย สูญหายของสัตว์หายไปหลายพันตัว หลายพันธุ์ชนิดตลอดช่วงชีวิตของพวกเขา ตั้งแต่กิ้งก่า กบ ไปจนถึง ช้างและโคอาลา
ฟังดูน่ากลัว แต่มันอาจเกิดขึ้นจริง หากเราไม่ทำอะไรเลย โดยเฉพาะการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ทำไมคาร์บอนไดออกไซด์ถึงเกี่ยวข้องกับชีวิตของสัตว์เหล่านี้ล่ะ? แล้วเป็นอย่างไร ทำไมสัตว์ถึงสูญพันธุ์เยอะขนาดนั้น
ทำไมสัตว์ถึงสูญพันธุ์ในอีก 70 ปีข้างหน้า?
ตั้งแต่เราเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เราเข้าใจกันในเรื่องของห่วงโซ่อาหารใช่หรือไม่ มีนักล่าและมีเหยื่อ วนไปมา แต่หากเมื่อสายพันธุ์ในห่วงโซ่อาหารชนิดใดชนิดหนึ่งตายลง นั่นเท่ากับว่า เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วระบบนิเวศห่วงโซ่อาหารเลย
ยกตัวอย่างเช่น จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อสัตว์ชนิดหนึ่งสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกรบกวน เช่น การสูญเสียที่อยู่อาศัย ซึ่งเราเรียกมันว่า การสูญพันธุ์ “ขั้นต้น” ซึ่งอาจทำให้ผู้ล่าขาดแคลนเหยื่อไปเลยก้ได้ หรือยกตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้ว นั่นก็คือ การสูญเสียศักยภาพของพอสซัมแคระบนภูเขา (Burramys parvus) ที่ใกล้สูญพันธุ์ในออสเตรเลีย จากภัยแล้ง การสูญเสียที่อยู่อาศัย และแรงกดดันอื่น ๆ ทำให้เหยื่อหลักของมันอย่าง มอดโบกอง (Agrotis infusa) ลดลงอย่างรวดเร็ว
จนถึงขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถเชื่อมโยงสปีชีส์ในระดับโลกเพื่อประเมินจำนวนการสูญพันธุ์ร่วมกันที่จะเกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ที่ดินที่คาดการณ์ไว้ ดังนั้นการวิจัยจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อปิดช่องว่างข้อมูลนั้น
ทำไมคาร์บอนไดออกไซด์จึงเกี่ยวข้องกับชีวิตสัตว์
อย่างที่ทราบกันดีว่า ภาวะโลกร้อนเป็นหนึ่งในตัวการทำให้โลกทุกวันนี้แปรปรวน ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ ภัยพิบัติ และสัตว์สูญพันธุ์ สภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้ฤดูการเริ่มผันเปลี่ยนไม่เป็นไปตามปกติ ภัยพิบัติเกิดถี่ขึ้นอันเนื่องมาจากสภาพอากาศผิดปกติและปัจจัยเสริมที่มาจากกิจกรรรมของมนุษย์ สัตว์สูญพันธุ์อันเนื่องมาจากมลพิษทางเสียง การสูญเสียที่อยู่อาศัย หาอาหารยากมากขึ้น สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการดำรงชีวิต และอีกมากมาย
สิ่งที่เป็นต้นเหตุของปัญหาเหล่านี้หลัก ๆ คือ ก๊าซเรือนกระจก ที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก หนึ่งในก๊าซประกอบของเรือนกระจกคือ คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่วนใหญ่ที่สุดมาจากกิจกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์เราเอง เมื่อชั้นบรรยากาศของโลกถูกสะสมไปด้วยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก จึงนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ที่จะส่งผลโดยตรงต่อสภาพภูมิอากาศโดยทั่วของโลกใบนี้ ที่มีอยู่เพียงใบเดียว
ชะตากรรมของสัตว์ป่าต่อจากนี้
เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเด็กในอนาคตกำลังจะต้องพบเจอกับสัตว์สูญพันธุ์ครั้งใหญ่ หนึ่งในการวิจัยได้กล่าวว่า พวกเขาได้ใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ประเภทหนึ่งเพื่อจำลองโลกเสมือนจริงนี้ และได้จำลองการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของการใช้ที่ดิน เช่น การตัดไม้ทำลายป่า เพื่อคาดการณ์การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก
โลกเสมือนจริงที่จำลองขึ้นของเรามีเส้นใยอาการ (Food Web) มากกว่า 15,000 เส้นที่เราจะนำมาใช้ทำนายชะตากรรมที่เชื่อมโยงสิ่งมีชีวิตจนถึงสิ้นศตวรรษที่ 21 และจากการทดลองเราก็พบว่า
หากคำนวนการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นเฉลี่ย 2.4 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 และ 4.4 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 แม้ว่าตอนนี้เรากำลังรณรงค์ทำอย่างไรก็ได้เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิมุ่งไปถึง 2 องศาเซลเซียส
ซึ่งหากเป็นไปตามนี้จริง ระบบนิเวศบนบกทั่วโลกจะสูญเสียความหลากหลายของสัตว์ในปัจจุบันไป 10% ภายในปี 2050 โดยเฉลี่ย และตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 27% ภายในปี 2100 อีกทั้ง การสูญพันธุ์ร่วมจะส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพได้มากถึง 34% มากกว่าการพิจารณาการสูญพันธุ์ชั้นต้นเสียอีก ดังนั้น การคาดการณ์ก่อนหน้าจึงถูกมองว่า มองโลกในแง่ดีเกินไป
เราจะลดความเสี่ยงเรื่องนี้ได้อย่างไร?
การประชุมความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติสิ้นสุดลงในสัปดาห์นี้ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เราอาจยังมีหวังกับรัฐบาลที่ต่างพยายามที่จะตกลงร่วมกันในการดำเนินการระดับโลกชุดใหม่เพื่อหยุดยั้งการสูญเสียธรรมชาติ และเป็นไปตามการประชุม COP27 ที่จะต้องดำเนินการให้ทันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด
เพราะหากพูดจริง ๆ แล้ว อำนาจที่จะสามารถช่วยเหล่าสัตว์ได้มากที่สุดคือ มนุษย์เราเองนี่แหละ หากภาคประชาชนช่วยกันกดดันหรือสนับสนุนรัฐให้เร่งดำเนินการเพื่อช่วยโลก เราก็อาจสามารถช่วยเหลือพวกมันได้ทันก่อนที่โลกใบนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
และหวังว่า เด็กที่เกิดในวันนี้ จะได้มีโอกาสเห็นสัตว์น้อยใหญ่ที่ยังมีลมหายใจอยู่ในปัจจุบันต่อไปได้อีกหลายร้อนหลายพันปีนับจากนี้ เพื่อให้พวกเขาสามารถอนุรักษ์ รักษา และพัฒนาระบบการดูแลการจัดการให้ดีขึ้น เพื่อให้สัตว์ยังคงอยู่คู่กับโลกใบนี้ได้อีกหลายล้านปีไปพร้อม ๆ กับอนาคตของโลก คุณล่ะคิดเห็นอย่างไรกับงานวิจัยชิ้นนี้ เห็นด้วยหรือไม่?
ที่มาข้อมูล
Science Advances : Coextinctions dominate future vertebrate losses from climate and land use change