SHORT CUT
น้ำท่วม 2567 เป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมากในช่วงนี้ สถานการณ์ค่อนข้างยังไม่น่าไว้วางใจ ทำกทม.ลุ้นว่าน้ำเหนือจะเดินทางมาถึงวันไหน แต่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ออกมายืนยันว่าไม่เท่าน้ำท่วมปี 2554 แน่นอน
เรียกได้ว่าสถานการณ์น้ำเหนือตอนนี้ ทำเอาทุกคนกังวล ทั้งผู้ที่ประสบพบเจออยู่ และผู้ที่อยู่พื้นที่ระแวกใกล้เคียง ต่างคิดหาวิธีที่จะต้องรับมือกับน้ำท่วมในครั้งนี้ เพราะ เรามีเหตุการณ์ที่น่าจะจดจำกันได้ดี ในปี 2554 ทุกอย่างเสียกาย ข้าวของ รวมไปถึงเรื่องเงินเรื่องทอง
วันนี้ Spring จึงจะชวนมาดูเทคโนโลยีของม.มหิดล ที่ใช้ AI ในการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมกัน เพราะการวางแผนคือสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องการคำตอบ ณ เวลานี้
Weathernews นำ AI เตือนภัยพิบัติสภาพอากาศฉับพลันใน 3 ชั่วโมง Weathernews บริษัทพยากรณ์อากาศชั้นนำของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำวิจัยด้านสภาพอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีในการสำรวจ การประมวลและวิเคราะห์ผล เพื่อการคาดการณ์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากพิบัติภัยทางธรรมชาติ ได้นำการพยากรณ์อากาศที่ใช้ AI
ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพยากรณ์สภาพอากาศแบบไฮเปอร์โลคอล (Hyperlocal) ซึ่งเป็นการรายงานแบบเรียลไทม์ โดย AI จะเตือนลูกค้าถึงความเป็นไปได้ของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้สามารถเตรียมการป้องกันความเสียหายได้อย่างทันท่วงที
โดยระบบ AI ของ Weathernews สามารถรายงานแบบเรียลไทม์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดพายุฝนและน้ำท่วมฉับพลัน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบฉับพลันในพื้นที่ใกล้เคียงภายในเวลา 3 ชั่วโมง จึงสามารถทำให้เตรียมการป้องกันหรือขนย้ายอุปกรณ์ไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังได้มีการลงนาม MoU กับ Weathernews ในการ นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการคาดการณ์ เฝ้าระวัง และป้องกันบรรเทาสาธารณภัยทางธรรมชาติ เพื่อลดความเสี่ยงต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ล่าสุด กทม. ก็ได้มีการเอา AI เข้ามาลดความเสี่ยงในการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติในกรุงเทพฯ เช่นกัน โดยร่วมมือกับ WeatherNews ที่ให้การสนับสนุนกรุงเทพมหานครในการติดตั้งเรดาร์ตรวจอากาศ ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ และกล้อง CCTV รวมทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อประมวลผลแจ้งเตือนฝนให้ทราบล่วงหน้า พร้อมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลให้กับกรุงเทพมหานครเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติในกรุงเทพอีกด้วย
ผลงานของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล ที่ได้พัฒนานวัตกรรมป้องกันน้ำท่วมอัตโนมัติ หรือ Flood Prevention Protocol ซึ่งเป็นระบบระบายน้ำอัตโนมัติที่ใช้เทคโนโลยี AI ที่มีเครือข่ายระบบเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลน้ำจากประตูน้ำทั้ง 100 แห่งใน กทม.
โดยเป็นการพัฒนาระบบเปิด-ปิดประตูน้ำที่ก่อนหน้านี่ใช้คนควบคุมให้เป็นระบบอัจฉริยะควบคุมด้วย AI ที่สามารถให้ประตูระบายน้ำเปิด-ปิด ได้สอดคล้องกับสถานการณ์จริง พร้อมทั้งบูรณาการการประมวลผลด้วย Cloud Computing ที่ระบบสามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำ และความน่าจะเป็นใน 1 ชั่วโมงข้างหน้า
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำ Flow Rate Mapping ที่กำหนดเส้นทางการไหลของน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม อีกทั้งแสดงข้อมูลจากเครือข่ายเซ็นเซอร์มอเตอร์ และการไหลของน้ำทั้งหมดบนคอมพิวเตอร์ศูนย์ควบคุม SCADA หรือระบบมอนิเตอร์แสดงสถานะของแต่ละประตูน้ำที่เห็นภาพรวมได้อีกด้วย
โดยจุดเด่นของนวัตกรรมนี้ คือ การทำ Machine Learning เพื่อฝึก AI ให้เรียนรู้การคำนวณ ประมวลผล วิเคราะห์จากข้อมูลน้ำทั้งหมดในพื้นที่ แล้วคาดการณ์อนาคต (Event Prediction) โดยใช้ข้อมูลจากระดับน้ำ อัตราการไหล และอื่น ๆ
จากนั้นจึงเปิดหรือปิดประตูระบายน้ำแต่ละบานโดยอัตโนมัติด้วยระบบอัจฉริยะ ช่วยประหยัดทรัพยากรมนุษย์ ประหยัดเวลา ทำให้มีความแม่นยำในการแก้ไขน้ำท่วมอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสภาพน้ำในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เตือนภัยและสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ช่วยลดผลกระทบความเสียหายของประชาชนตลอดจนเกษตรกรที่จะได้รับจากน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่มา : Globalweathernews
ข่าวที่เกี่ยวข้อง