“น้ำท่วมกรุงเทพฯ” สถานการณ์ที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้น โดยล่าสุด น้ำท่วมทางภาคเหนือของไทยทุเลาลงแล้ว แต่ข่าวร้ายก็คือมวลน้ำเหล่านั้นกำลังเดินทางมายังกรุงเทพฯ ท่ามกลางข้อถกเถียงว่า กรุงเทพฯ จะน้ำท่วมไหม และเราพร้อมรับมือกับมันหรือยัง?
สำหรับคำถามแรกนั้น “สนธิ คชรัตน์” นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาไขกระจ่างผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัวว่ามีปัจจัยอยู่ 4 ข้อด้วยกัน ที่อาจทำให้กรุงเทพฯ นนทบุรี และปทุมธานี ถูกน้ำท่วม
สนธิ ชี้ว่าภาคเหนือมีเขื่อนกักเก็บน้ำอยู่แล้ว ยกเว้นบริเวณแม่น้ำยม ซึ่งหากฝนตกลงมามากเกินไป มวลน้ำจะไหลผ่านไปยังสถานีวัดน้ำที่จังหวัดชัยนาท และหากพบว่าเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายอยู่ที่ 2800 ถึง 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และอยุธยา เจอน้ำท่วมมากขึ้น
ทราบกันดีว่าประเทศไทยในช่วง ก.ย. จนถึง ต.ค.จะมีพายุเข้ามาอย่างน้อย 1-2 ลูก เป็นประจำอยู่ทุกปี ซึ่งหากมีฝนตกที่บริเวณท้ายเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพลมาก 3 จังหวัดในภาคกลางอย่าง กรุงเทพฯ นนทุบรี และปทุมธานี จะเจอปรากฏการณ์ “Rain Bomb” ซึ่งอาจทำให้น้ำไหลท่วมมากขึ้น
สนธิ ระบุว่า ช่วง ต.ค. เป็นเดือนที่มีน้ำทะเลหนุน หากแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถระบายน้ำลงสู่คลองต่าง ๆ และอ่าวไทยได้มากเท่าปกติ จะให้น้ำท่วมนานขึ้น
เมื่อธรรมชาติเป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมาย สนธิชี้ว่าการเตรียมตัวให้พร้อมที่สุดคือสิ่งสำคัญ ในที่นี้คือต้องเตรียมขุดลอกคูคลอง กั้นตลิ่งเพื่อระบายน้ำลงทะเล และสิ่งสุดท้ายคือการพร่องน้ำจากเขื่อน ซึ่งต้องรีบทำตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่น้ำเหนือจะหลากลงมา
สนธิ คชรัตน์ ทิ้งท้ายไว้ว่าสี่ปัจจัยนี้คือโจทย์ใหญ่ของ #น้ำท่วม67 ที่ต้องรีบหาบทสรุป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการป้องกันน้ำท่วม หากไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ภาพน้ำท่วมปี 54 อาจเวียนกลับมาให้เห็นกันอีกครั้ง และอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตาดูให้ดีคือปริมาณน้ำฝนช่วงเดือน ก.ย. - ต.ค.
ที่มา: Sonthi Kotchawat
ข่าวที่เกี่ยวข้อง