SHORT CUT
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมอย่างมาก เนื่องจากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ทำให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมเรื่องระบบน้ำท่วมอันยอดเยี่ยม สิ่งนั้นเรียกว่า Delta Works
นับเป็นโครงสร้างป้องกันน้ำท่วมขนาดใหญ่ของเนเอร์แลนด์ หลังเกิดน้ำท่วมทะเลเหนือในปี 1953 ซึ่งครั้งนั้นทำให้อาคารบ้านเรือนกว่า 8 พันแห่งและพื้นที่เกษตรกรรม 9 เปอร์เซ็นต์ถูกน้ำท่วม
โครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหญ่ที่มีการวางเขื่อนเอาไว้ถึง 13 แห่ง และยังมีการติดตั้งเครื่องป้องกัน กำแพง พนังและอื่นๆ ตลอดแนวชายฝั่งทะเล และพื้นที่สามเหลี่ยมแม่น้ำไรน์ แม่น้ำเมิซ และแม่น้ำสเกลต์
โครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 1997 ใช้งบประมาณมากถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอยู่ภายใต้การดูแลของกรมระบายน้ำและงานสาธารณะ ซึ่งนอกจากการป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังมีงานน้ำดื่มและงานชลประทานด้วย โดยผลของโครงการดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในเนเธอร์แลนด์ดลงเหลือเพียงแค่ 1 ครั้งใน 4 พันปี
โครงการ Delta Works ยังได้รับการยอมรับให้เป็น 7 สิ่งมหัศจรรย์แห่งโลกยุคใหม่ โดยสมาคมวิศวกรโยธาแห่งอเมริกาด้วย กับความยาวของกำแพงกันน้ำที่ยาวถึง 10,250 ไมล์ หรือ 16,495 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆราว 300 ชิ้น
โครงการดังกล่าวช่วยลดน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และยังผันน้ำให้แก่การชลประทานด้วย
นอกเหนือจากระบบป้องกันน้ำท่วมแล้ว เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2019 นายกรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์ได้ริเริ่มโครงการ Valuing Water Initiative เพื่อเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วม โดยจะมีการวางแผน ในกรณีที่เกิดน้ำท่วมจะอพยพผู้คนขึ้นสู่ที่สูงอย่างไร
บรรดานักวิจัยเร่งผลักดันให้หลายประเทศในอาเซียนใช้มาตรการรับมือแก้ปัญหาน้ำท่วม อันเกิดจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างร้ายแรงในเรื่องของการเกิดความเสียหายต่อโครงการพื้นฐานและการจัดการพื้นที่ชายฝั่งที่เป็นที่ราบลุ่ม
Tjitte Nauta ผู้จัดการด้านเอเชียและโอเชียเนียของสถาบัน Deltares เปิดเผยว่า คนมักคิดว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงเป็นอะไรที่เรายังมีเวลาเหลืออีกเยอะ แต่นี่คือช่วงเวลาที่เราต้องทำการศึกษาและตัดสินใจให้ถูกต้อง ทางสถาบันจึงอยากจะผลักดันให้อาเซียนตระหนักมากกว่านี้ และอาเซียนสามารถเรียนรู้จากเนเธอร์แลนด์ได้
ทั้งนี้ ประเทศไทย ลาว เวียดนาม อินโดนีเซียและมาเลเซีย คือจุดเปราะบางของการเกิดน้ำท่วม และปัญหาชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะ
Nauta เปิดเผยด้วยว่า ทั้งเมืองกรุงเทพตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างมาก หากระดับน้ำทะเลเพิ่มถึง 2 เมตร 28 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในไทยและ 52 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะได้รับผลกระทบ
ดังนั้นสำหรับประเทศไทย มันชัดเจนมากที่จะต้องทำงานตามแผนระยะยาว ไม่ว่าพวกเขาจะตัดสินใจรักษาเมืองเอาไว้ให้ได้หรือย้ายเมืองหลวง หรืออะไรก็ตาม
ในขณะที่เพื่อนบ้านของไทยอย่างอินโดนีเซีย ระดับน้ำทะเลก็ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ราบลุ่มที่ใช้ปลูกปาล์มน้ำมัน เช่นเดียวกันกับเวียดนาม ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญอยู่ในสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงและแม่น้ำแดง
ที่มา: CNA
ข่าวที่เกี่ยวข้อง