svasdssvasds

เปิดข้อเสนอทางวิชาการ 3 แนวทาง แก้ปัญหาก่อน "กรุงเทพจมทะเล"

เปิดข้อเสนอทางวิชาการ 3 แนวทาง แก้ปัญหาก่อน "กรุงเทพจมทะเล"

มีข้อเสนอ แต่ไม่ได้สนอง...นักวิชาการบอก “กรุงเทพฯ จม” แน่ ต้องแก้ด้วย 3 แนวทาง แต่ผ่านมา 10 ปี ไทยไม่เลือกอะไรสักทาง หวังเห็นพิมพ์เขียวเพื่อให้สังคมเห็นร่วมกันว่าต้องป้องกันเรื่องนี้

SHORT CUT

  • คุยกับ รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตคณะทำงานศึกษาเรื่องกรุงเทพจมน้ำของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
  • นักวิชาการมี 3 ข้อเสนอที่จำเป็นต้องทำ ถ้ามิเช่นนั้น "กรุงเทพ มีโอกาสจมน้ำ" ได้จริง ในอีก 40-50 ปีข้างหน้า แต่ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 10 ปี ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม หรือการสื่อสารทางการเพื่อแสวงหาฉันทามติของสังคม
  • เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ใช้ทุนสูง ดังนั้นต้องขับเคลื่อนเรื่อง "เงิน-สังคม-สิ่งแวดล้อม" ไปพร้อมกัน ก่อนเมืองหลวงของไทย จะจมหายไปในทะเล

มีข้อเสนอ แต่ไม่ได้สนอง...นักวิชาการบอก “กรุงเทพฯ จม” แน่ ต้องแก้ด้วย 3 แนวทาง แต่ผ่านมา 10 ปี ไทยไม่เลือกอะไรสักทาง หวังเห็นพิมพ์เขียวเพื่อให้สังคมเห็นร่วมกันว่าต้องป้องกันเรื่องนี้

“กรุงเทพฯ จม” เคยเป็นวาระสำคัญที่บรรดานักวิชาการเคยเข้ามาทำงานอย่างเป็นรูปธรรมครั้งหนึ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง หลังรัฐประหารปี 2557 ก่อเกิด “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” ที่ทำงานตอบสนองวาระ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” เพื่อศึกษาปัญหาต่างๆ ทุกแง่มุมในสังคม เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา โดยตั้งอยู่บน 3 ปัจจัยก่อนกรุงเทพจะจม คือ แผ่นดินจะทรุดลงไหม? น้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้นกว่าเดิมไหม? ฝนที่เคยตกหนักจะตกหนักกว่าเดิมได้อีกหรือเปล่า? แล้วกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำ พื้นดินสูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่เกิน 2 เมตร จะรอดได้ไหม?

 

“ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ยังไงกรุงเทพฯ ก็จะจมน้ำ” คือคำที่ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ หนึ่งในคณะกรรมการการเตรียมการเพื่อรับมือวิกฤตการณ์ “กรุงเทพจม" ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ บอกสิ่งที่คณะทำงานคิดเอาไว้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ว่าสิ่งที่คาดการณ์ ทั้งเรื่องแนวโน้มน้ำทะเลจะสูงขึ้น ฝนจะตกหนักขึ้น ล้วนเกิดขึ้นครบแล้วทุกสิ่ง ตอนนี้กรุงเทพฯ ยังอยู่รอดเพราะแม่น้ำและคันกั้นน้ำริมตลิ่งยังทำหน้าที่ได้ดี แต่วันใดที่น้ำทะเลหนุนจนการพร่องน้ำในแม่น้ำมีปัญหา แม้จะขุดบายพาสเร่งระบาย ก็ระบายไม่ออกเพราะทะเลหนุน วันนั้นแหละต้องนับหนึ่ง “กรุงเทพฯ จม” โดยที่เราจะทำอะไรไม่ทัน

 

ดร.สุจริต บอกกับ SPRiNG ว่าคณะทำงานฯ เคยได้มีข้อเสนอแผน 3 แนวทางที่ต้องทำเพื่อป้องกันกรุงเทพฯ จม ใต้การคาดการณ์ว่าอีก 50 ปี ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 50 เซนติเมตร คือ ต้องยกคันกั้นน้ำริมตลิ่งให้สูงขึ้นเป็น 3.5 เมตร หรือสร้างเขื่อนปิดแม่น้ำสายสำคัญ เช่น เจ้าพระยา แม่กลอง หรือการสร้างเขื่อนกั้นปิดทะเลอ่าวไทยตั้งแต่หิวหินถึงสัตหีบ

 

แนวทางแรก ยกคันกั้นน้ำริมตลิ่งให้สูงขึ้น

จะรับได้ไหมถ้าต้องเสียทัศนียภาพ ความสวยงามของแม่น้ำไปเลย เพราะเราอาจจะต้องมีกำแพงริมแม่น้ำที่สูงมากเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเมือง

 

แนวทางที่สอง การสร้างประตูเขื่อนปิดปากแม่น้ำ

เมื่อน้ำทะเลขึ้นก็ปิด น้ำทะเลลดระดับก็เปิดให้น้ำระบายออก เพื่อไม่ให้น้ำขึ้นท่วมเข้ามาในเมือง  และยกระดับถนนสายสำคัญเพื่อเป็นคันกั้นน้ำ เป็นโมเดลที่หลายประเทศทำแล้ว เช่น ญี่ปุ่น แต่ข้อท้าทายคือระบบนี้จะต้องรื้อระบบบำบัดน้ำเสียของ กทม.ใหม่ทั้งหมด เพราะเมื่อไม่มีน้ำทะเลมาผสมฆ่าเชื้อโรค น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะเน่าทันทีภายใน 7 ชั่วโมง

 

แนวทางที่สาม การสร้างถนนหรือเขื่อนปิดแนวทะเลอ่าวไทย

จากหัวหินถึงสัตหีบ มูลค่าประมาณแสนล้านบาท แล้วสร้างแนวกังหันลมปั่นไฟจากลมทะเล แต่จะสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ต่อระบบนิเวศ ระบบมวลของน้ำจะไม่เหมือนเดิม น้ำขึ้น-น้ำลงจะเปลี่ยนไป ชายหาดจะเปลี่ยนไปตลอดกาล

“เราให้เวลา 10 ปีจากวันนั้นติดตามว่าการคาดการณ์แผ่นดินทรุดดีขึ้นไหม ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นหรือเปล่า และฝนจะตกหนักกว่าเดิมไหม จนถึงวันนี้ ผ่านมา 10 ปีพอดี (2558-2567) พบว่าเป็นไปตามที่คาดไว้ เดี๋ยวนี้ฝนตกแรงขึ้นจริง น้ำทะเลขึ้นอาจมีเวลาอีก 5-10 ปี แผ่นดินทรุดดีขึ้นเพราะหยุดสูบน้ำบาดาล แต่เรายังไม่ตัดสินใจว่าจะทำ หรือไม่ทำ แล้วถ้าทำจะทำในรูปแบบ 1, 2 หรือ 3” ดร.สุจริต กล่าว

 

ปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ศึกษาผลกระทบและออกแบบแผน ทำ Master Plan และ SEA แต่ก็ยังไม่มีการสั่งการอะไรจากทางการเมืองที่มีอำนาจจัดสรรงบประมาณ และเรื่องสำคัญกว่านั้นคือการสร้าง “ฉันทามติ” ของประชาชนทุกพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสียว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไร และเราต้องมีจุดหมายเดียวกันเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ งบประมาณเยอะ และกระทบต่ออนาคตของทุกคนอย่างไม่เลือกหน้า เป็นปัญหาเรื่อง “เงิน-สังคม-สิ่งแวดล้อม” ที่ต้องเดินไปพร้อมกัน


“ตอนนี้ทุกรัฐบาลเขามองแค่ว่าอีก 4 ปีจะเลือกตั้งยังไงให้กลับมาเป็นรัฐบาล ฉะนั้นอะไรที่ยาวให้นักวิชาการทำไปก่อน การแข่งขันทางการเมืองมันสูงมาก พอเราพูดกับเขา เขาบอกอาจารย์ทำไปก่อนได้ไหม ตอนนี้ของบศึกษาโครงการสัก 100-200 ล้านบาท ก็อาจจะไม่ได้ก็ได้นะ เพราะเอาไปทำดิจิทัลวอลเล็ตหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มันไม่มีใคร Take Care ทุกวันนี้กลายเป็น Short Term Benefit ไปหมด มันมีความสำคัญน้อยกว่าสิ่งที่เขาคิดอยู่”

 

related