SHORT CUT
วัดขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ กลายเป็นวัดหนึ่งเดียวที่ยืนหยัดท่ามกลางน้ำทะเลที่รายล้อม ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและภาวะโลกร้อน กำลังทำให้ชุมชนแห่งนี้เหลือแต่ชื่อ
ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แผ่นดินไทยค่อย ๆ กลืนหายไปในทะเลอย่างเงียบ ๆ มีแต่ปากที่ไร้เสียง พยายามเพรียกหาความช่วยเหลือมาตลอด สปริงนิวส์ในคอลัมน์ Keep The World กับซีรีส์พิเศษ Sinking Bangkok ขอพาผู้อ่านเดินทางไปยังชุมชนแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่คนในหมู่บ้าน ย้ายบ้านมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง จากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ และภาวะโลกร้อน
ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน หมู่ที่ 9 ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ คืออีกหนึ่งด่านหน้าของกรุงเทพมหานครที่มีพื้นที่ติดกับอ่าวตัว ก. หรืออ่าวไทย เป็นชุมชนเก่าแก่หลายร้อยปี เดิมทีเป็นท่าเทียบสำเภาจีนที่เดินทางมาค้าขายกับสยาม
เพจเรารักพระสมุทรเจดีย์เล่าว่า เนื่องด้วยแผ่นดินไทยในช่วงนั้นดูอุดมสมบูรณ์ พืชพันธุ์หลากหลาย สัตว์น้ำมากมาย ชาวจีนบางส่วนจึงตั้งรกรากและสร้างครอบครัวร่วมกับคนท้องถิ่นซึ่งในปัจจุบัน ยังคงมีลูกหลานชาวจีนอาศัยอยู่ และมีศาลเจ้าพ่อลอยชาย (ศาลไหว้เจ้า) และพิพิธภัณฑ์บ้านขุนสมุทรจีนที่ยืนยันได้ว่า ในอดีตเมืองท่าแห่งนี้เคยมีชีวิตชีวามากเพียงใด
แต่ในปัจจุบัน ชุมชนนี้กำลังเหลือเพียงแค่ชื่อ เพราะปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะยังคงคืบคลานเข้าหาเสมอ โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2516 - พ.ศ. 2567 ภาพถ่ายจากดาวเทียมเผยให้เห็นว่า พื้นที่ของชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนได้หายไปหลายกิโลเมตรแล้ว สิ่งที่ยังยืนอยู่ได้ และเป็นหลักฐานที่เด่นชัด คือวัดขุนสมุทรจีน ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางน้ำ
ทีมงาน Keep The World ลงพื้นที่สอบถามคนในพื้นที่ นางเอ (นามสมมุติ) หนึ่งในคนท้องที่เล่าว่า ตนเกิดในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนปีพ.ศ. 2517 อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด ในอดีต มีชุมชนและบ้านเรือนหลายหลังตั้งอยู่หน้าวัดขุนสมุทรจีน ซึ่งครอบครัวของตนได้ย้ายบ้านมาแล้ว 3 ครั้ง ถอยร่นออกมาจากพื้นที่ชายฝั่งเข้ามาเรื่อย ๆ จากหน้าวัด ตอนนี้ไปอยู่หลังวัดกันหมดแล้ว เหตุเกิดจากน้ำทะเลกัดเซาะ โดยเฉพาะในช่วงที่ลมพายุรุนแรง จะยิ่งทำให้หน้าดินหายไปมากกว่าเดิม
ซึ่งชาวบ้านได้เคยร้องขอแนวทางแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานรัฐหลายครั้งแล้ว โดยหน่วยงานรัฐได้ลงมาช่วยบ้าง เช่น ให้งบประมาณค่าไม้ไผ่ สำหรับมาปักลดความแรงของคลื่น แต่ชาวบ้านมองว่า ไม้ไผ่แก้ไขปัญหาได้ชั่วคราวเท่านั้น อยู่นานไปก็หักก็หลุดลอยไป แก้ไขได้ไม่ยั่งยืนถาวร
ทีมงานได้เดินเข้าไปสัมภาษณ์อีกครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเป็นครอบครัวคนจีนและอาศัยอยู่ที่ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนมาตั้งแต่เกิด นายวิลภ เข่งสมุทร มีบ้านอยู่หลังศาลเจ้าพ่อลอยชาย เล่าว่า แผ่นดินบริเวณวัดขุนสมุทรจีนในช่วง 50 ปีนี้ หายไปแล้วหลายกิโลเมตร ตั้งแต่แยกย้ายออกจากครอบครัวมา บ้านหลังนี้ก็คือย้ายมา 3 ครั้งแล้ว โดยการย้ายบ้านหนึ่งครั้งจะเว้นช่วงห่างจากชายฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร
และหากถามว่าในปัจจุบัน ปัญหานี้ทุเลาลงหรือยัง คุณวิลภก็เล่าว่า ทุกวันนี้น้ำยังคงกัดเซาะเรื่อย ๆ อาจจะไม่รุนแรงเท่าอดีต เพราะชาวบ้านและบางหน่วยงานก็ช่วยนำเสาไฟเก่าที่เป็นปูน เป็นซีเมนต์มาวางเป็นแนวกันคลื่นให้ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่แก้ปัญหาให้ถูกจุด ปัญหาก็ยังคงมีอยู่และอาจจะท่วมลึกเข้าไปอีกจนถึงกรุงเทพฯก็ได้ ซึ่งตนคงอยู่ไม่ทันได้เห็น คงต้องปล่อยให้ลูกหลานมาแก้ปัญหาต่อเอง
นอกจากนี้ หากไปดูงานวิจัยในอดีตที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ของบ้านสมุทรจีนกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ปีพ.ศ. 2552 กรณีศึกษานำร่องเพื่อการออกแบบ ณ บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ โดย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุลและคณะ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า
ในปัจจุบัน (พ.ศ.2552) ประเทศไทยพบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลได้ทั่วไปตลอดแนวชายฝั่งทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามัน คิดเป็นระยะทางทั้งสิ้น 300 กิโลเมตร ชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนได้รับผลกระทบราว ๆ 150 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ติดต่อกัน 5 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาครและสมุทรสงคราม
ลักษณะของแผ่นดินส่วนใหญ่เป็นหาดเลน พบการกัดเซาะรุนแรงมากถึง 35 เมตรต่อปี ในบางแห่งถูกกัดเซาะไปมากกว่า 1 กิโลเมตรแล้ว
นอกจากนี้ บทความหนึ่งจากสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ได้เผยบทความ ภาวะโลกร้อนในมุมของนักวิทยาศาสตร์โดย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ภาคธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ผู้เขียนนามปากกา Meditate 13 ก.พ. 2008) ว่า
ปัจจุบันบริเวณอ่าวไทยตอนบน น้ำทะเลท่วมลึกเข้ามาในผืนดินไทย ปีละ 2-4 เมตรและเพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ บริเวณหมู่บ้านคลองด่านและบ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ พื้นดินหายไปในทะเลแล้วมากกว่า 180,000 ไร่ หมู่บ้านค่อย ๆ จมหายไป เสาไฟฟ้าอยู่ในทะเล โรงเรียนอยู่ในทะเล สะพานที่วิ่งลงสู่ทะเล อย่างไรก็ตาม ที่ดินบริเวณ จ.สมุทรปราการ มีการทรุดตัวเร็วมากขึ้นปีละ 3-5 เซนติเมตร เป็นภาวะที่อยู่ในระดับวิกฤตที่คนไทยต้องตื่นตัวได้แล้ว
สุดท้ายนี้ ในปัจจุบัน (พ.ศ.2567) ประเทศไทยยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จึงเป็นเหตุผลให้หลายครั้ง นักวิชาการต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคม ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องช่วยบ่งชี้ ถึงวาระและวลีฮิตที่ว่า “กรุงเทพฯจะจมบาดาลในอนาคตอันใกล้” นอกจากนี้ปัญหาภาวะโลกเดือดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็เป็นตัวเร่งให้คำกล่าวนี้ใกล้ถึงความจริงมากขึ้น เมื่อทวีปแอนตาร์กติกาเริ่มละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศก็เริ่มมีการปรับตัวแล้ว ดังนั้น ปัญหานี้จึงขึ้นอยู่กับว่า คุณจะเชื่อหรือไม่? และจะจัดการกับปัญหานี้ได้ทันท่วงทีอย่างไร จะเกิดขึ้นจริง จะปล่อยให้เกิด หรือจะปรับตัว ก็ขึ้นอยู่กับเราทุกคน