svasdssvasds

#สรุปให้ ประกาศ ก.ดิจิทัลฯ ใหม่ สั่งปิดเว็บได้ใน 24 ชม. ไม่ต้องมีคนร้องเรียน

#สรุปให้ ประกาศ ก.ดิจิทัลฯ ใหม่ สั่งปิดเว็บได้ใน 24 ชม. ไม่ต้องมีคนร้องเรียน

กระทรวงดิจิทัลฯ ออกประกาศใหม่ เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่กระทรวง สั่งปิดเว็บได้เลยภายใน 24 ชั่วโมง ใครไม่ทำตาม ให้สันนิษฐานว่าผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ผู้นั้น ร่วมมือ สนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) ออกประกาศกระทรวง เรื่อง “ขั้นตอนการแจ้งเตือน การระงับการทำให้แพร่หลายของข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2565” โดยเนื้อหาสาระสำคัญส่วนใหญ่ เป็นการเพิ่มอำนาจและตัวบทลงโทษให้กับเจ้าหน้าที่กระทรวงในการสั่งปิดเว็บไซต์ผิดกฎหมายให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

โดยภายในประกาศ ระบุถึง ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และ ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ไว้ด้วย และระบุต่ออีกว่า หากไม่ปฎิบัติตามให้สันนิษฐานว่าผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ผู้นั้น ร่วมมือ สนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด

สำหรับประกาศดังกล่าว ใช้อำนาจตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 หรือที่เราเรียกติดปากว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

มีอะไรเพิ่ม ?

ภายในตัวประกาศมีการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ หากพบความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ว่า ผู้ใดนำเข้าข้อความอันเป็นเท็จ , มีผลต่อความมั่นคงหรือผิดกฎหมายอาญา และนำเข้าหรือส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจาร

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ต้องทำอะไรภายในกี่วันบ้าง ?

ตามประกาศใหม่มีการระบุว่า ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ จะต้องนำข้อมูลออกจากระบบดังต่อไปนี้

  • ความผิดตามมาตรา 14 (1) เรื่องข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน ต้องลบออกภายใน 7 วัน
  • ความผิดตามมาตรา 14 (2) และ (3) เรื่อง ภัยต่อความมั่นคง หรือผิดคดีอาญา ต้องลบออกภายใน 24 ชั่วโมง
  • ส่วนความผิดตามมาตรา 14 (4) เรื่องสื่อลามก ต้องลบออกภายใน 3 วัน แต่หากเป็นภาพลามกเด็ก ต้องลบออกภายใน 24 ชั่วโมง

ถ้าไม่ทำตามจะถูกสงสัยว่ามีส่วนร่วมมือ

จากประกาศฯ ข้อ 9 ระบุว่า ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ อย่างครบถ้วนและภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้สันนิษฐานว่าผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ผู้นั้น ร่วมมือ สนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิด แต่ทั้งนี้หากปฎิบัติตามก็จะได้รับการยกเว้นโทษ

ซึ่ง iLaw ตั้งข้อสังเกตุว่า “กลายเป็นการเขียนกฎหมายโดยให้ "สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด" ทำให้เกิดประเด็นว่า ประกาศนี้อาจจะขัดกับ “หลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์” (presumption of innocence) ซึ่งรับรองไว้ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ เนื่องจากการเขียนกฎหมายในลักษณะนี้อาจทำให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียที่ "ลบ" เนื้อหาไม่ทันภายในกำหนดเวลาจะกลายเป็นคนมีความผิดทันที และเป็นฝ่ายที่มีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ซึ่งแตกต่างกับหลักทั่วไปในคดีอาญาที่โจทก์ต้องมีภาระการพิสูจน์และนำสืบความรับผิดทางอาญาของจำเลยให้ศาลเห็น”

โต้เรื่องกลับได้ (แต่นานหน่อย)

ในประกาศข้อ 11 ระบุว่า ผู้ให้บริการหรือสื่อสังคมออนไลน์ และผู้ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ออกตามประกาศนี้ อาจอุทธรณ์คำสั่งโดยยื่นต่อปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือผู้ที่ฯ มอบหมาย ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อขอให้เพิกถอน แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว แต่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษรลงลายมือชื่อผู้อุทธรณ์ โดยระบุข้อโต้แย้งและข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่อ้างอิงประกอบด้วย

ตามด้วยข้อ 12 ที่ว่า ให้ผู้พิจารณาอุทธรณ์พิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ในกรณีที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ให้ดำเนินการมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมหรือปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นตามความเห็นของตนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวด้วย

ในกรณีที่ไม่เห็นด้วย ให้มีคำสั่งยกคำอุทธรณ์ และแจ้งผู้อุทธรณ์ทราบ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง

ข้อดีที่น่าสนใจ คือ กรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นเว็บพนัน เว็บผิดกฎหมายก็สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอใครสักคนมาร้องเรียนเพื่อทำตามขันตอนต่อไป แต่นัยหนึ่งก็อาจเป็นโอกาสให้รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือเซ็นเซอร์สื่อได้เช่นกัน

related