มลพิษทางเสียง หรือ Noise Pollution เป็นปัญหาที่แฝงอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงในสังคมเมือง สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของมนุษย์ได้
ผศ.ดร.ณัชนันท์ ชิตานนท์ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่าตามคำแนะนำของกรมควบคุมมลพิษ ระดับเสียงที่ปลอดภัยต่อหูในการรับเสียงต่อเนื่องไม่เกิน 24 ชั่วโมงนั้นไม่ควรเกิน 70 เดซิเบลเอ (dBA)และองค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำว่าเสียงที่ได้ยินต่อเนื่องนาน 8 ชั่วโมง ไม่ควรเกินที่ระดับ 85 เดซิเบล เอ (dBA) และระดับเสียงที่ต้องหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่งคือระดับความดังของเสียงตั้งแต่ 120 เดซิเบล เอ (dBA) เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อหูโดยตรง ทำให้สูญเสียการฟังอย่างถาวรได้
โดยความดังของเสียงในแต่ละระดับจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป อาทิ เสียงพูดโดยปกติทั่วไปของคนเราจะอยู่ที่ 50 – 60 เดซิเบล เอ (dBA) ซึ่งเป็นเสียงที่ฟังได้เป็นปกติ ไม่เป็นอันตรายต่อหู สำหรับเสียงในระดับความดังที่ 70 เดซิเบล เอ (dBA) คือ เสียงการพูดคุยในระดับที่ดังกว่าปกติ เช่น การตะโกน และเสียงในระดับ 85 – 90 เดซิเบล เอ (dBA) เช่น เสียงรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือรถแทร็กเตอร์ และ เสียงในระดับความดังที่มากกว่า 100 เดซิเบล เอ (dBA) คือ เสียงที่อยู่ในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม
นอกจากนี้เราจะสังเกตได้ว่าเสียงดังระดับไหนที่เริ่มเป็นอันตราย โดยสามารถสังเกตได้จากการพูดในระดับเสียงปกติทั่วไปควรคุยกันแล้วได้ยินในระยะ 1 เมตร หากพูดคุยด้วยเสียงระดับปกติและไม่ได้ยินในระยะ 1 เมตร อาจเป็นสัญญาณเตือนของการสูญเสียการได้ยินได้ ทั้งนี้การป้องกันเสียงรบกวนเป็นสิ่งที่ยังต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อร่างกายให้ได้มากที่สุด
ผศ. ดร.ณัชนันท์ ยังมีคำแนะนำในการออกแบบที่อยู่อาศัย และการลดเสียงรบกวน พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงผลกระทบหากได้รับเสียงรบกวนมากเกินไป และแนวทางในการจัดการควบคุมเสียงรบกวนรอบตัว เพื่อทำให้ดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ดังนี้
· สถาปัตยกรรมอะคูสติก (Architectural Acoustics) สร้างที่อยู่อาศัยอย่างไรไม่ให้มีเสียงรบกวน
สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัย เรื่องเสียงรบกวนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก เพื่อให้การพักผ่อนของผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด การนำนวัตกรรมด้าน สถาปัตยกรรมอะคูสติก (Architectural Acoustics) มาประยุกต์ใช้ ถือเป็นสิ่งสำคัญ และควรตระหนักถึงมากขึ้น
สำหรับสถาปัตยกรรม อะคูสติก คือ ศาสตร์ทางด้านเสียงที่เกี่ยวข้องกับด้านสถาปัตยกรรม เป็นแนวคิดเรื่องการป้องกันเสียงรบกวนทั้งจากภายนอกอาคาร และภายในอาคาร เช่น การสร้างกำแพงที่ป้องกันเสียงระหว่างห้องหนึ่งสู่ห้องหนึ่ง การป้องกันเสียงจากภายนอกอาคาร หรือการใช้วัสดุเพื่อซับเสียง เป็นต้น
· ผลกระทบจากเสียงรบกวน เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรละเลย
ผลกระทบด้านร่างกายจะเห็นได้ชัดมาก ระดับเสียงที่ดังเกินไปส่งผลให้เกิดการสูญเสียการได้ยินทั้งชนิดชั่วคราวและถาวรได้ นอกจากนี้เสียงรบกวนยังส่งผลทันทีต่อ ประสิทธิภาพการเรียน การทำงาน และการนอนได้เป็นพิเศษ กล่าวคือเสียงรบกวนส่งผลให้คุณภาพการนอนลดลง ร่างกายจึงไม่สามารถหลั่งฮอร์โมนมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งทำให้เกิดความเครียดเรื้อรัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตในระยะยาวได้
สำหรับผู้ที่ต้องเผชิญกับเสียงรบกวน หรือมลพิษทางเสียงอยู่เป็นประจำ ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียง สจล. จึงมีแนวทางในการจัดการปัจจัยที่ทำให้เกิดเสียงรบกวนไว้ 3 ส่วน
ผศ. ขจรศักดิ์ กิตติเมธาวีนันท์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้กล่าวว่า เสียงรบกวนที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเกิดขึ้น ณ สภาพแวดล้อมใดก็ตามสามารถเลือกจัดการได้ 3 ส่วน ดังนี้
1.จัดการ "แหล่งกำเนิดเสียง" เราสามารถจัดการได้เป็นอย่างแรกเพื่อลดการเกิดเสียงรบกวนที่ต้นกำเนิดเสียงโดยตรง เช่น การลดระดับความดังของเครื่องขยายเสียง หรือยานพาหนะ ซึ่งการลดระดับความดังสามารถทำได้ในหลายกรณี อาทิ การลดระดับความทั้งทุกย่านความถี่ หรืออย่างน้อยควรลดความดังในย่านความถี่ที่ไวต่อการรับรู้เสียงของมนุษย์มากที่สุด (ย่านความถี่ 1k – 5kHz โดยประมาณ)
2.จัดการ "ตัวกลาง" ที่เสียงเดินทางผ่านจากแหล่งกำเนิดเสียงมาถึงหูของมนุษย์ โดยเราสามารถลดความดังและความถี่ของเสียงรบกวนได้ ด้วยการทำผนังกันเสียง (Noise Barrier) หรือการใช้อุปกรณ์ซับเสียง หรือแม้แต่การทำแนวต้นไม้กันเสียง (Noise Barrier Trees) ตัวอย่างที่สังเกตเห็นได้ในชีวิตประจำวัน คือ ผนังกันเสียงระหว่างเขตที่พักอาศัยและพื้นที่ทางด่วนหรือแนวรถไฟฟ้า ที่ช่วยลดเสียงรบกวนจากการสัญจรของยานพาหนะไปสู่ชุมชนได้
3.จัดการ "ผู้รับเสียง" หรือจัดการที่ตัวเราเอง เช่น ใช้ Earplugs หรือ ที่อุดหูเมื่อเราอยู่ในพื้นที่ที่มีเสียงรบกวน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด และมักจะเป็นวิธีที่ถูกเลือกใช้ในกรณีที่เราไม่สามารถจัดการแหล่งกำเนิดเสียงและตัวกลางที่เสียงเดินทางผ่านได้ นอกจากการใช้อุปกรณ์ป้องกันการสูญเสียการได้ยินแล้ว
ในปัจจุบัน หูฟังที่มีระบบตัดเสียงรบกวน (Active Noise Cancellation) ก็เป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่สิ่งที่ควรระวังอย่างยิ่ง คือการปรับระดับความดังของหูฟังหรือโทรศัพท์ เพื่อให้กลบเสียงรบกวน ณ สภาพแวดล้อมเสียงขณะนั้น การทำเช่นนี้เป็นการปรับระดับความดังของหูฟังเพื่อกลบ (Mask) เสียงที่เราไม่ต้องการ ในระดับที่ดังเกินไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งนี้นอกจากจะไม่ช่วยลดระดับความดังของเสียงรบกวนแล้วยังเป็นการเพิ่มระดับความดังที่เป็นอันตรายโดยตรงต่อหู ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินอีกด้วย
ผศ.ดร.พิทักษ์ ธรรมวาริน คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนมากปัญหาเรื่องเสียงรบกวนมักพบเจอได้ตามที่พักอาศัย ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการร้องเรียนประเด็นดังกล่าวอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่เกิดจากภายในอาคารเดียวกัน หรือจากภายนอกอาคารก็ตาม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ต้องสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติมให้ประชาชนได้เข้าใจในเรื่อง 'เสียง' มากขึ้น โดยปัจจุบันผู้ที่มีความรู้ด้านเสียงอย่างลึกซึ้งยังมีไม่มากนัก
ซึ่งวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. มีความเชี่ยวชาญด้านเสียง รวมทั้งในการบูรณาการเอาองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ผสานเข้ากับองค์ความรู้ทางด้านศิลป์ แห่งแรกในประเทศและภูมิภาคอาเซียน มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดียิ่งขึ้น จึงมีเป้าหมายที่จะผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเสียง ที่มีทักษะทางด้านการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ออกแบบ รวมถึงทักษะทางด้านวิศวกรรม รวมทั้งปั้นบุคลากรด้านการผลิตเสียงในอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดนตรี และอุตสาหกรรมทางด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางเสียงและโสตทัศนะอุปกรณ์ทางการแพทย์อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคม และความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีมากยิ่งขึ้น
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สจล. ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/imsekmitl เว็บไซต์ http://imse.kmitl.ac.th หรือติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ของกิจกรรมภายในสถาบันได้ที่เว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th เพจเฟซบุ๊ก www.facebook.com/kmitlofficial