ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ เช่น อาหาร มีการนำสารสกัดกัญชามาเป็นส่วนผสมมากขึ้น ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงมีการพัฒนาชุดตรวจสาร THC สารสกัดในกัญชา 'test kann (เทสกัญ)' เพื่อให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหาร ตรวจวัดค่าสารสกัดให้อยู่ในปริมาณที่กำหนดและปลอดภัยกับผู้บริโภค
นายแพทย์ ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า การพัฒนา ชุดตรวจกัญชา “test kann (เทส กัญ)” สามารถตรวจสารเตตราไฮโดรแคนาบินอล (Tetrahyrocannabinol ) หรือ THC ในสารสกัดกัญชาและน้ำมันกัญชาลักษณะการตรวจเป็นชุดทดสอบเบื้องต้นโดยใช้เทคนิคอิมมูโนโครมาโทกราฟิ หรือ IC ซึ่งอาศัยหลักการจับกันระหว่างแอนติบอดี้และแอนติเจนแบบแข่งขัน
วิธีใช้สะดวกรวดเร็วทราบผลภายใน 15 นาทีมีประสิทธิภาพและใช้ในภาคสนามได้ มีความไวในการตรวจวัดสาร THC ที่มีความเข้มข้น 2 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ซึ่งผลการทดสอบจะต้องปรากฎแถบสีม่วงที่บริเวณตำแหน่ง C ทุกครั้ง จึงสามารถอ่านผลสำหรับการแปลผล
วิธีใช้ ‘เทสกัญ’
- เริ่มจากเอาน้ำมันหรือสารสกัดกัญชาใส่ช้อนที่อยู่ในชุดตรวจ นำไปใส่ในสารสกัดในหลอดแล้วเขย่าให้เข้ากัน
- จากนั้นหยอดให้พอดีกับหลุมบนตลับทดสอบ
วิธีการแปลผล
- ผลบวก ปรากฏแถบสีม่วง 1 ขีด บริเวณตำแหน่ง C ที่ตลับชุดทดลอง แสดงว่ามี THC ในตัวอย่างที่ทดสอบเกิน 0.2
- ผลลบ ปรากฎแถบสีม่วง 2 ขีด บริเวณตำแหน่ง C และ T ที่ตลับชุดทดลอง แสดงว่ามี THC ในตัวอย่างที่ทดสอบไม่เกิน 0.2
- หากไม่แสดงผลเลย แสดงว่าชุดตรวจไม่สามารถใช้ได้
เนื้อหาที่น่าสนใจ :
test kann เป็นชุดตรวจสาร THC ในกัญชาเบื้องต้นเท่านั้น ผลที่ได้ไม่สามารถที่จะนำไปฟ้องร้องหรือมีผลทางกฎหมายได้ จนกว่าจะไปเจาะเลือดตรวจพิสูจน์ ชุดตรวจนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารที่จะตรวจวัดค่าปริมาณสารสกัดให้อยู่ในปริมาณที่กำหนดและปลอดภัยกับผู้บริโภค
ส่วนราคาเบื้องต้นของชุดทดสอบสาร THC ในกัญชา ต้นทุนไม่เกิน 100 บาท โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไม่มีอำนาจในการผลิตขาย แต่จะผลิตขึ้นมาจำนวนหนึ่งก่อน 15,000 ชุด แล้วแจกฟรี
ส่วนรายละเอียดการแจกจะมีการชี้แจงอีกครั้ง รวมถึงจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทที่มีศักยภาพในการนำไปผลิตจำหน่ายต่อไปในอนาคต หากมีความต้องการจำนวนมาก
โดย ชุดตรวจ เทสกัญ เหมาะสำหรับในกลุ่มผู้ผลิตกัญชาในรูปแบบ น้ำมัน ส่วนในระบบอุตสาหกรรม เช่น ในเครื่องสำอาง ชุดตรวจดังกล่าว อาจจะยังไม่เหมาะสม แต่จะเป็นโจทย์ในการพัฒนาต่อไป
ในส่วนการตรวจในอาหาร ยอมรับว่าไม่ง่าย ยังไม่มีเทสคิดแบบง่าย เบื้องต้นยังคงต้องส่งตัวอย่างอาหารนั้นๆ มาตรวจที่ห้องปฏิบัติอยู่ ซึ่งราคาค่อนข้างที่จะสูง โดยยังไม่มีชุดตรวจที่จะไปจุ่มเทสกับอาหารโดยตรง ทั้งนี้ การตรวจตัวอย่าง จะมี 2 ส่วน คือ ตรวจด้วยห้องปฏิบัติการโดยผู้ประกอบการที่ทำผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชา จะส่งตัวอย่างมาที่ห้องปฏิบัติการ แต่ราคาตรวจค่อนข้างแพง 1 สารอยู่ที่ 5,000 บาท กับชุดตรวจเทสกัญ ที่พัฒนาขึ้นมาให้ประชาชนสามารถตรวจได้แบบง่ายคล้ายกับชุดตรวจ ATK
สำหรับอีกชุดตรวจ คือ THC Test Kit ชุดทดสอบตรวจวัดพืชกัญชาและสารสกัดกัญชา ซึ่ง 1 ชุดจะมี 20 เทส ราคาประมาณ 4,000 บาท แต่ชุดนี้จะไม่เหมาะกับประชาชนโดยทั่วไป เนื่องจากจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อาจจะเหมาะสำหรับโรงงานหรือในส่วนที่มีคนจำนวนมาก
ส่วนชุดตรวจในคนที่กินกัญชา ที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ คือ ตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด คนที่กินกัญชา สูบกัญชาก็จะแสดงผลซึ่งการตรวจในปัสสาวะมีข้อเสีย คือ ผลตรวจสารกัญชาจะอยู่ในปัสสาวะนานกว่า 1 เดือน ถึงแม้จะไม่ได้กินกัญชาแล้วก็ตาม
ทั้งนี้มีแผนทำวิจัยประสานกับโรงพยาบาล ที่พบผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกัญชา โดยจะนำพลาสม่าของคนนั้นมาปั่น เพื่อนำน้ำเลือดมาตรวจ ซึ่งค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,400 บาทต่อตัวอย่าง
สำหรับการตรวจวิเคราะห์กัญชาในพลาสม่าเพื่อเฝ้าระวังในบุคคล โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง จะเริ่มตรวจได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป โดยใช้ปริมาณพลาสม่า 0.5 ซีซี