กัญชาเพื่อการแพทย์ ยาศุขไสยาศน์ ตำรับยาโบราณ ตั้งแต่สมัยพระนารายน์ ที่ตกทอดมาจนปัจจุบัน สรรพคุณช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นและเจริญอาหาร
การนอนหลับคิดเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุด และเป็นกิจกรรมที่สำคัญของมนุษย์ที่กินเวลา 1 ใน 3 ของอายุขัยของคนเรา ผู้ที่มีปัญหาการนอนไม่หลับสะสมกันเป็นเวลานานต่อเนื่องย่อมส่งผลกระทบต่อร่างกายและสภาพจิตใจ ซึ่งมีผลสัมพันธ์กัน
จากการสำรวจในปี 2562 พบว่า มีคนไทยประมาณ 19 ล้านคนที่มีปัญหาการนอนที่ไม่มีคุณภาพส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพในการทำงาน จึงทำให้เกิดสินค้าและยาเสริมอาหารมากมายที่ตอบโจทย์ปัญหานี้วางขายทั่วโลก นอกจากนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคต่างๆ ที่อาจตามมา จากอาการนอนไม่หลับ
โดยจากบันทึกในหนังสือแพทย์ตำบล ซึ่งเป็นตำราหมอประจำบ้านในสมัยรัชกาลที่ 6 กล่าวไว้ว่า “กัญชามีรสเมา ทำให้ใจขลาด รับประทานน้อย ๆ เป็นยาชูกำลัง เจริญอาหาร’’ สืบกลับไปไกลนานกว่านั้น ในตำรับโบราณ สมัย พระนารายน์ ได้มีวิธีการเยียวยารักษาผู้ที่มีอาการนอนไม่เพียงพอจนเกิดปัญหานี้ไว้ด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช็กลิสต์ความต่าง กัญชง กัญชา สองพืชพี่น้องสกุล Cannabis และประโยชน์ใช้งาน
ที่แรก! "ศิริราช" ออก 5 กฎเหล็ก ห้ามใช้ - ขายอาหารและเครื่องดื่มที่ผสม "กัญชา"
ผลสำรวจนิด้าโพล ความคิดเห็นของประชาชน ต่อการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด
เอกสารอ้างอิง คัมภีร์ธาตุพระนารายน์ (ฉบับใบลาน) กรมหลวงวงสาฯ กรมหมื่นไชยนาท ประทาน พ.ศ. 2459. ยาศุขไสยาศน์ เป็นตำรับยาที่มีใบกัญชาปรุงผสมอยู่ถึงร้อยละ 15.38 กล่าวว่า
ยาศุขไสยาศน์ ให้เอา การบูร 1 ส่วน ใบสเดา 2 ส่วน สหัสคุณเทศ 3 ส่วน สมุลแว้ง 4 ส่วน เทียนดำ 5 ส่วน โกฏกระดูก 6 ส่วน ลูกจันทน์ 7 ส่วน ดอกบุนนาค 8 ส่วน พริกไท 9 ส่วน ขิงแห้ง 10 ส่วน ดีปลี 11 ส่วน ใบกันชา 12 ส่วน ทำเปนจุณละลายน้ำผึ้งเมื่อจะกินเศกด้วยสัพพีติโย 3 จบ แล้วกิน พอควร แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลังกินเข้าได้ นอนเป็นศุขนักแลฯ
โดยมีสรรพคุณช่วยให้ นอนหลับสบายและเจริญอาหาร
ข้อห้ามใช้
จากข้อมูล วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2564 ระบุว่า การรักษาด้วยตำรับ ยาศุขไสยาศน์ ใช้ได้ผลดีในการรักษาช่วง 5 เดือนแรก แต่ยังขาดข้อมูลงานวิจัยเพิ่มเติมเนื่องจากก่อนหน้าที่จะปลดล็อกกัญชา อยู่ในยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ทำให้จำกัดวงในการทำงานวิจัย ขาดประสบการณ์การใช้ต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่ต้องมีการศึกษาวิจัยข้อมูลเพิ่มเติมอย่างเป็นระบบ
ในผู้ป่วย 25 ราย ที่มีประวัติคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี และมีการใช้ยาแผนปัจจุบันมาก่อนแล้วไม่ได้ผล พบว่า หลังจากใช้ไปคุณภาพการนอนหลับการนอนหลับของผู้ป่วยดีขึ้นตั้งแต่ครั้งแรกของการรักษา รวมทั้งสามารถลดการใช้ยานอนหลับได้ 52% และสามารถหยุดใช้ยานอนหลับ 32% ตั้งแต่ 1 เดือนแรกของการรักษา
โดยระบุว่าส่วนที่น่าจะมีผลกับการนอน คือ สาร CBD ที่ช่วยในการรักษาอาการนอนไม่หลับโดยหลายการศึกษาระบุว่า แคนาบินอยด์ สามารถช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนได้ ลดการถูกรบกวนการนอนหลับ และทำให้ระยะเวลาเข้าสู่การนอนหลับ (sleep latency) ลดลง
ผลวิจัยดังกล่าว พบว่า ยาศุขไสยาศน์ ช่วยลดปัญหาอาการนอนไม่หลับและลดยานอนหลับได้ร้อยละ 40 ของในกลุ่มตัวอย่างที่ทำการศึกษา ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้ทดแทนยานอนหลับของแพทย์แผนปัจจุบัน
นอกจากนี้ การรับประทาน ยาศุขไสยาศน์ ยังมีผลอื่น ๆ ในผู้ป่วยร้อยละ 40 ได้แก่ ลดอาการปวดเมื่อย เพิ่มความอยากอาหาร และทำให้มีกำลัง
ในส่วนด้านความปลอดภัย พบว่า ร้อยละ 64 เกิดอาการไม่พึงประสงค์ โดยพบการระคายเคืองทางเดินอาหารมากที่สุด
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในตำราโบราณระบุข้อควรระวังที่สำคัญไว้ว่า กัญชาบริโภคมากอาจทำให้มีผลต่อจิตใจ ซึ่งควรใช้ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ เพราะมีผลเกี่ยวข้องกับธาตุต่างๆ ในร่างกายซึ่งต้องมีผู้เชี่ยวชาญให้กับคำปรึกษาและสั่งจ่ายให้ตรงกับปัจเจกบุคคล ทั้งนี้ ยาศุขไสยาศน์ ไม่มีวางขายในร้านค้าทั่วไป สามารถปรึกษา-รับยาได้ทางคลินิกการแพทย์แผนไทยที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง
ยาศุขไสยาศน์ ถือเป็นทางเลือกในการักษาอาการนอนไม่หลับที่กัดกินสุขภาพคนไทยและทั่วโลก ในฐานะที่กัญชาเป็นพืชท้องถิ่นที่สามารถผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับส่งขายต่างประเทศทั้งนี้ก็ต้องพึ่งแรงสนับสนุนหนักๆ ส่งเสริมด้านงานวิจัยและประเมินผลติดตามการใช้งานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลส่งต่อให้กับเอกชนทำไปออกสินค้าที่มีมาตรฐาน