ปรากฏการณ์กุ้งล็อบสเตอร์เดินขึ้นมาเกยหาดในแอฟริกาใต้ 500 ตัน มันเกิดอะไรขึ้น? ทำไมกุ้งถึงขึ้นมาบนหาด มนุษย์มีส่วนผิดในเรื่องนี้ไหม แล้วจะแก้ไขได้ยังไง? Spring สรุปให้
Springnews สรุปให้ ทำไมกุ้งล็อบสเตอร์ถึงขึ้นมาเกยหาดเยอะขนาดนี้ ?
เมื่อวันพุธที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ชาวประมงท้องถิ่นใน เวสต์ โคสต์ (West Coast) จังหวัดเวสเทิร์น เคป ในแอฟริกาใต้ พบกองของกุ้งล็อบสเตอร์ขนาดใหญ่ จำนวนประมาณ 500 ตัน เกยตื้นขึ้นมาที่ชายหาด ชาวประมงถ่ายทอดเรื่องราวนี้ลงโซเชียลมีเดีย จนทำให้กรมป่าไม้ ประมง และสิ่งแวดล้อมของแอฟริกาใต้ประกาศใช้แผนงานฉุกเฉินและออกการแจ้งเตือนระดับสีแดง แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมพวกมันถึงมาอยู่บนหาดได้ล่ะ?
สาเหตุของการเกยตื้น
ปรากฏการณ์ครั้งนี้มาจากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีเพราะการเจริญเติบโตของสาหร่ายผิดปกติ หรือเรียกว่า 'Red Tide' หรืออีกชื่อหนึ่งคือ 'ขี้ปลาวาฬ' ที่น้ำจะเปลี่ยนสีไปตามสีของสาหร่ายในบริเวณนั้น แม้ว่าบางคนจะมองว่าสวยและแปลกตา แต่ปรากฏการณ์นี้อันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล
ทำไมสาหร่ายจึงเปลี่ยนสี?
สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของสาหร่ายเซลล์เดียวจำพวก “แพลงก์ตอนพืช” การเพิ่มขึ้นของแพลก์ตอนทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนสี โดนส่วนใหญ่จะเป็นสีแดงหรือเขียว หรือบางทีอาจเป็นสีม่วงหรือสีชมพูก็ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เมื่อโลมาไม่อยู่เคียงคู่ธารา หลังโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายจากไป บอกอะไรบ้าง?
IPCC ฉบับใหม่เผย มนุษยชาติกำลังล่มสลายจากภาวะโลกร้อน ต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้
รุนแรงมากไหม?
ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและระบบนิเวศทางทะเลในระดับความรุนแรงต่างกัน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ ออกซิเจนในน้ำบริเวณนั้นลดลง และเมื่อแพลงก์ตอนตายลง สารอินทรีย์ในแพลงก์ตอนจะกลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของแบคทีเรีย การเพิ่มขึ้นของแบคทีเรีย จะทำให้การใช้ออกซิเจนในน้ำสูงขึ้น และเซลล์ของแพลงก์ตอนที่ลอยในน้ำจะจับกลุ่มเป็นแพหรือเป็นก้อนขึ้นสู่ผิวน้ำ บดบังแสงที่จะส่องลงไปยังใต้น้ำ ออกซิเจนลดลงและแสงแดดที่ส่องไม่ถึง มีผลให้สัตว์น้ำเริ่มอยู่ไม่ได้ และจะเริ่มหาทางรอด
เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครมีส่วนทำให้เกิด?
ปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี มีสาเหตุด้วยกัน 2 ส่วน คือ ส่วนหนึ่งมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่อยู่ตามบริเวณชายฝั่ง เช่น น้ำเสียจากบ้านเรือนและชุมชน กิจกรรมจากการทำเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม และการขยายตัวของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง
ตามรายงานของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลอริด้าและมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ระบุใน journal Environmenteal Science & Technology ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศก็มีส่วนต่อการเจริญเติบโตของสาหร่าย ซึ่งในอนาคตเราจะควบคุมการเกิดปรากฏการณ์ลักษณะแบบนี้ได้ยากมากขึ้นหรืออาจไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เลย
และอีกส่วนหนึ่ง คือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย เช่น ฝนกตกหนักและคลื่นลมแรงทำให้ปริมาณธาตุอาหารและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป
และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่กุ้งล็อบสเตอร์กว่า 500 ตัน เดินขึ้นมาบนชายหาดเอง เพราะออกซิเจนใต้น้ำมีไม่เพียงพอ และรายงานอัพเดทล่าสุด กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านบางส่วน ได้นำพวกมันบางส่วนที่ยังคงมีชีวิตรอดอยู่ไปปล่อยในพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้ว
แล้วประเทศไทยเคยเกิดปรากฏการณ์นี้ไหม?
ปรากฎการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงในต่างประเทศเท่านั้น ประเทศไทยเราเองก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ด้วยเหมือนกัน ตามข้อมูลของ Marine Knowledge Hub ได้บันทึกปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีในประเทศไทย โดยปรากฎการณ์นี้เคยพบในปีพ.ศ. 2557-2558 ในจังหวัด ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ระยอง เพรชบุรี สมุทรสงครม สมุทรสาคร และชุมพร แต่ไม่พบการเสียชีวิตหรือการอพยพของสัตว์บนชายหาด
ปรากฎการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์มากน้อยแค่ไหน?
แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำกับระบบนิเวศทางทะเล และส่งผลกระทบต่อคนด้วย การลดลงของออกซิเจนในน้ำและแสงแดดที่จะส่องถึงพืชนั้น ทำให้สัตว์น้ำบริเวณดังกล่าวตายได้ง่ายๆเลย และหากพวกมันตาย ซากพืชและซากสัตว์อาจถูกคลื่นพัดขึ้นมาบนพื้นดินหรือชายหัด ทับถมกันจนเกิดกลิ่นเน่าเหม็น ทำให้เกิดมลพิษทางกลิ่นได้
อีกทั้งยังกระทบต่ออาชีพของชาวประมงที่อาจทำให้พวกเขาต้องขาดแคลนสัตว์น้ำและสูญเสียรายได้ไปชั่วขณะ รวมไปถึงการท่องเที่ยวก็อาจจะต้องชะงักไป และหากจับสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นมาก็ไม่สามารถรับประทานได้เนื่องจากมีพิษ สารพิษจะถูกถ่ายทอดผ่านสายใยอาหารจากสัตว์น้ำถึงมนุษย์ผู้เป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย อาจทำให้เป็นอัมพาต ความจำเสื่อม ท้องร่วง อาเจียน คลื่นไส้ กล้ามเนื้อไม่มีแรง สายตาพร่ามัว เป็นต้น
สามารถศึกษาความเป็นพิษของปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ที่ >>> Marine Knowledge Hub
มนุษย์จะเป็นตัวเร่งให้เกิดปรากฏการณ์ลักษณะแบบนี้บ่อยขึ้น
ข้อมูลจากสถาบันวิจัย The Environmental Protection Agency ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกและอุณหภูมิน้ำที่สูงขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงของสภพภูมิอากาศสุดขั้ว มีส่วนทำให้กลายเป็นยาเร่งสำหรับสาหร่ายดังกล่าว ให้เจริญเติบโตได้ดีกว่าเดิม และจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ง่าย
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปแบบสุดขั้วได้ อันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและกิจกรรมต่างๆของมมนุษย์ที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
เราช่วยอะไรได้บ้าง?
นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์และอีกหนึ่งเหตุผลที่เราควรหันมาช่วยกันควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพราะหากเกินมากไปกว่านี้โลกจะเข้าสู่ภาวะที่หวนกลับไม่ได้แล้ว เราเหลือเวลาอีกไม่กี่ปีเท่านั้นในการหยุดยั้งหายนะเหล่านี้ มาช่วยกันเปลี่ยนโลกปัจจุบันไปสู่โลกในอนาคตที่ดีกว่าเดิมกันเถอะ
ที่มาข้อมูล
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
Marine Knowledge Hub