รวมข่าวสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2565 ข่าวสิ่งแวดล้อมทั่วโลก เกิดอะไรขึ้นบ้าง ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ถูกมองข้าม ข่าวสิ่งแวดล้อมวันนี้มีอะไรบ้าง
เดือนกุมภาพันธ์ แม้จะเป็นเดือนที่สั้นที่สุดของทุกปี แต่กลับมีเรื่องราวมากมายให้ได้ติดตามกันอยู่ไม่ขาดสายในทุกแวดวงของข่าวสาร และในหมวดของสิ่งแวดล้อมเองก็เช่นเดียวกัน ในเดือนกุมภาพันธ์นี้มีเรื่องราวเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกจนแทบเรียงลำดับกันไม่ถูกเลยทีเดียว Springnews จึงสรุปประเด็นเด็ดๆเด่นๆเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์มาไว้ให้ในบทความนี้
เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหมวดหมู่ของข่าวประเภทหนึ่งที่ทางผู้เขียนได้ติดตามและเฝ้าสังเกตมาตลอด และเห็นได้ชัดว่าทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปทั้งในทางที่ดีขึ้นและในทางที่แย่ลง ในหลายๆแง่มุมของปัญหานั้นๆ คือปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นั่นจึงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านทุกคนช่วยกันติดตาม และร่วมกันผลักดันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมไปสู่ทางออกไม่ทางตรงก็ทางอ้อมได้บ้าง เพื่อให้โลกใบนี้ดำเนินต่อไปได้และส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้กับคนรุ่นต่อไป
อนุญาโตตุลาการ เลื่อนอ่านคำวินิจฉัยคดีเหมืองทองอัครา
เหมืองทองอัครา เป็นอีกหนึ่งคดีใหญ่ของวงการการเมืองและสิ่งแวดล้อมไทยมาสักพักแล้ว และยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 คณะอนุญาโตตุลาการเลื่อนกำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัยตัดสินเหมืองทองอัคราออกไปอย่างไม่มีกำหนด เกิดเสียงวิพาร์กวิจารณ์จากประชาชนทันทีว่าเพราะอะไรทำไมถึงเลื่อน แล้วใครเป็นผู้ชดใช้ ภาษีของประชาชนหรือไม่ ใครรับผิดชอบ และสารพัดคำถามที่ประเดประดังเข้ามาไม่ขาดสาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หิมะเทียมโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ใช้เทคโนโลยี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นักวิทย์ฯยูเครนลาออก ขณะกำลังพิจารณาเผยแพร่รายงานสำคัญเรื่องภาวะโลกร้อน
ศตวรรษแห่งไฟ งานวิจัยชี้ไฟป่ารุนแรงขึ้นทั่วโลก เกิดขึ้น 1 ครั้งในรอบ 100 ปี
น้ำทะเล รอบสหรัฐฯ จะเพิ่มสูงขึ้น 1 ฟุตในปี 2050 โลกร้อน ทำให้ภัยมาเร็วขึ้น
คดีเหมืองทองอัครา คดีที่บริษัท คิงส์เกตคอนโซลิเดเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยื่นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศถึงในประเด็นที่รัฐบาลไทยมีคำสั่งห้ามประกอบกิจการเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตรและ จ.พิษณุโลก ด้วยข้อกฎหมายที่ไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2565 ว่า “ยังไม่แน่ว่าในวันที่ 31 ม.ค.นี้ จะมีการตัดสินของอนุญาโตตุลาการหรือไม่ เพราะอาจมีการเลื่อนออกไปอีกก็ได้ ซึ่งครั้งล่าสุดมีกำหนดว่าจะมีการประชุมกันที่สิงคโปร์แล้วก็เลื่อนออกไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19”
ซึ่งการอ่านคำวินิจฉัยคดีนี้ได้ถูกเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง และการเลื่อนครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์โควิด-19 และส่วนหนึ่งมาจากกรณีที่มีบางประเด็นที่ต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม
ส่วนประวัติและจุดเริ่มต้นของเหมืองทองอัครามีความเป็นอย่างไรนั้น อ่านต่อได้ที่ >>> อนุญาโตตุลาการ เลื่อนอ่านคำวินิจฉัยคดีเหมืองทองอัครา
ลิงแสมหลายพันตัวในอินโดฯถูกทารุณกรรมเพื่อส่งออกทำงานวิจัย
เว็บไซต์ Worldanimalnews รายงานภาพถ่ายและวิดีโออันโหดร้ายที่ถูกถ่ายได้ในประเทศอินโดนีเซีย พวกเขาไปพบกับธุรกิจขนาดใหญ่ ลักษณะธุรกิจคือการจับลิงแสมหางยาวในป่าจากกับดักที่วางเอาไว้เพื่อเป็นสินค้าส่งออกไปทำงานวิจัย หรือที่เรียกว่าสัตว์ทดลองกว่าหลายพันตัวต่อปี เรื่องราวนี้ถูกเปิดโปงโดย องค์กร Action for Primates
เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา เว็บไซต์องค์กร Action for Primates ได้เผยแพร่ภาพและฟุตเทจวิดีโอของเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซีย เป็นเหตุการณ์การทารุณกรรมลิงป่า มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งไล่จับพวกลิงหลายสิบตัวที่มาติดกับดักที่วางเอาไว้ มีการทุบตีและฆ่าลิงบางตัวที่พวกเขาไม่ต้องการ ซึ่งการปฏิบัติที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมเหล่านี้เป็นการละเมิดสวัสดิภาพสัตว์ตามหลักสากลอย่างชัดเจน
องค์กร Action for Primate และ Lady Freethinker กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯสั่งแบนการนำเข้าลิงทั้งหมดจากอินโดนีเซีย พวกเขายังได้กระตุ้นไปยังรัฐบาลอินโดนีเซียให้หยุดจับและส่งออกลิงเพื่อใช้ในการทดลองและให้ออกกฎหมายปกป้องประชากรลิงแสมหางยาวที่เป็นลิงพื้นเมืองของอินโดนีเซียด้วยทันที
ลิงเหล่านี้ถูกส่งออกจากอินโดนีเซียโดยจุดหมายของชะตาพวกมันคือเพื่อเข้าไปอยู่ในห้องทดลองในสหรัฐฯและประเทศจีน ข้อมูลการส่งออกที่จัดทำไว้โดยอินโดนีเซียประจำปี 2020 ระบุว่า อินโดนีเซียส่งออกลิงแสมหางยาวจำนวน 2,793 ตัวไปยังประเทศจีนและอีก 120 ตัวไปยังสหรัฐอเมริกา ตัวเลขการส่งออกสำหรับปี 2021 คาดว่าจะสูงขึ้นกว่านี้และมีความกังวลว่าลิงที่จับได้จะถูกส่งไปยังสหรัฐอเมริกามากขึ้น
อ่านเรื่องราวความโหดร้ายและรับชมคลิปวิดีโอเต็มได้ที่ >>> บีบหัวใจ! ลิงแสมหลายพันตัวในอินโดฯถูกทารุณกรรมเพื่อส่งออกทำงานวิจัย
20 ปีที่ผ่านมา กรีนแลนด์สูญเสียแผ่นน้ำแข็งมากพอจนสามารถท่วมได้ทั้งสหรัฐฯ
เมื่อไม่นานมานี้ มีการรายงานว่า อาร์กติกร้อนขึ้นเร็วกว่าที่ใดๆในโลก ตามข้อมูลดาวเทียมที่รวมรวมโดย Polar Portal ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันวิจัยของรัฐบาลเดนมาร์ก 4 แห่ง ซึ่งพวกเขากล่าวว่า กรีนแลนด์ได้สูญเสียน้ำแข็งไปแล้วกว่า 5,100 พันล้านตัน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หรือปริมาณเพียงพอที่จะทำให้น้ำท่วมทั้งสหรัฐอเมริกาได้เลยทีเดียว โดยน้ำจะท่วมสูงประมาณ 0.5 เมตร
อาจจะเป็นตัวเลขที่ดูน้อยหรือหากยังมองว่ามันรุนแรงไม่มากพอ เพราะยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่รู้ไหมว่าการสูญเสียปริมาณน้ำแข็งดังกล่าวนั้นมีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นครึ่งนิ้ว (1.2 เซนติเมตร) ในเวลาเพียงสองทศวรรษที่ผ่านมา
การเก็บข้อมูลของทีมงานวิจัยครอบคลุมระยะเวลากว่า 20 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2002 ถึงเดือนสิงหาคม 2021 และอิงจากการสังเกตการณ์ของดาวเทียม Gravity Recovery And Climate Experiment (GRACE) ซึ่งได้เปิดตัวในเดือนมีนาคมา 2002 ดาวเทียมเหล่านี้วัดการเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการกระจายมวลทั่วโลกเมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์อย่างยิ่งในการประมาณการเปลี่ยนแปลงของมวลน้ำแข็ง
ข้อมูลของ GRACE แสดงให้เห็นว่าการสูญเสียน้ำแข็งของกรีนแลนด์นั้นรุนแรงที่สุดในบริเวณชายฝั่ง ซึ่งน้ำแข็งจะบางลงอย่างรวดเร็วและตกลงสู่มหาสมุทร การสูญเสียน้ำแข็งโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนชายหาดเวสต์กรีนแลนด์ และยิ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำอุ่นไหลเวียนใต้ดิน ซึ่งมีส่วนทำให้น้ำแข็งละลายเร็สมากขึ้นตามรายงานของ NASA (ภารกิจ GRACE เป็นโครงการร่วมของ NASA และ German Aerospace Center)
น้ำแข็งละลายในกรีนแลนด์เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามรายงานของ NASA ขณะนี้กรีนแลนด์อยู่ในเส้นทางที่จะมีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลโลกสูงขึ้น 3-5 นิ้ว ภายในปี 2100 จากการศึกษาในปี 2019 ในวารสาร Nature ซึ่งอาจส่งผลที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น
อ่านบทความเต็มได้ที่ >>> 20 ปีที่ผ่านมา กรีนแลนด์สูญเสียแผ่นน้ำแข็งมากพอที่จะทำให้น้ำท่วมสหรัฐฯ
น้ำมันรั่วซ้ำรอบ 2 ที่ระยอง
ซ้ำเติมจุดเดิมต่อเนื่องกับอุบัติเหตุน้ำมันดิบรั่วกลางทะเลระยองรอบ 2 5,000 ลิตร เบื้องต้นวันที่ 10 ก.พ. พบคราบน้ำมันดิบลอยห่างจากทุ่นลอยประมาณ 3 ไมล์ เร่งตรวจสอบหาสาเหตุ ล่าสุดทัพเรือภาค 1 ส่งเฮลิคอปเตอร์ ขึ้นไปฉีดสาร Dispersant จุดที่เกิดคราบน้ำมันแล้ว
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยว่า บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จํากัด (มหาชน) ได้แจ้งมายังศูนย์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่ออ่อนใต้น้ำของทุ่นลอย (SPM) อยู่ระหว่างการเก็บกู้ขึ้นมาตรวจสอบและหาสาเหตุ
จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบคราบน้ำมันดิบลอยห่างจากทุ่นลอยประมาณ 3 ไมล์ คาดว่ามีปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลมาบตาพุด จ.ระยอง ประมาณ 5,000 ลิตร จากการตรวจสอบ บริษัทฯได้ปรับแต่งท่อจนเกิดการรั่วของท่อน้ำมันดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ท่อน้ำมันรั่ว เพราะน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลค่อนข้างไกล
ด้านบริษัทฯ ขอใช้น้ำยาขจัดคราบน้ำมัน หรือ Dispersant ประมาณ 5,000 ลิตร ภายใต้การควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แต่ คพ.ไม่อนุญาต เนื่องจากขอใช้ในปริมาณที่มากเกินความจำเป็น ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเร่งด่วนรับมือสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วครั้งนี้แล้ว
กองทัพเรือภาค 1 ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปฉีดสาร Dispersant จุดที่เกิดคราบน้ำมันแล้ว ยืนยันว่าบริเวณไม่กว้างมาก และควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้แล้ว
โคอาล่า สุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์ ปัญหา Climate change ในออสเตรเลียคือตัวเร่ง
สถานการณ์โคอาล่าในประเทศออสเตรเลีย 2022 กำลังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงและเข้าใกล้คำว่าสูญพันธุ์ไปทุกขณะ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เร่งเข้าช่วยเหลือหรือหาทางปกป้องพวกมัน
สำนักข่าว BBC ระบุตัวเลขของจำนวนโคอาล่าที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย พร้อมกันนี้รัฐบาลกลางของออสเตรเลีย ได้ระบุว่า รัฐควีนแลนด์, นิวเซาธ์เวลส์ และเมืองหลวงของออสเครเลียอย่างซิดนีย์ ให้ทำการเฝ้าระวัง สำรวจและวิเคราะห์ปัจจัยการลดลงของจำนวนโคอาล่า
สาเหตุการลดลงของจำนวนโคอาล่านั้น เป็นเพราะที่อยู่อาศัยของพวกมันน้อยลง ผนวกรวมกับปัญหา Climate change หรือภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจัยย่อยของปัญหาภาวะโลกร้อนคือ ปัญหาไฟป่าในออสเตรเลียและภัยแล้งที่ทำให้โคอาล่าไม่สามารถหาอาหารได้และสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยไป
ประเทศออสเตรเลียถือว่าละเลยเรื่องนี้มานานพอสมควร ในการพยายามปกป้องพวกมันจากภาวะการณ์ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปีนี้ ประมาณ 10 ปีแล้วที่ออสเตรเลียถูกจัดให้ สัตว์ภายในประเภทอยู่ในกลุ่มสัตว์เปราะบาง และโคอาล่าก็เป็นหนึ่งในนั้นเพื่อผลักดันเข้าสู่แผนการอนุรักษ์
แต่จวบจนทุกวันนี้ พวกมันก็ยังคงลดจำนวนเรื่อยๆ จึงเกิดคำถามที่ว่า แล้ว 10 ปีที่ผ่านมา มันเกิดการอนุรักษ์จริงๆใช่หรือไม่ และมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ไม่สามารถปกป้องพวกมันได้
อ่านเรื่องราวของเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ที่ >>> โคอาล่า สุ่มเสี่ยงสูญพันธุ์ ปัญหา Climate change ในออสเตรเลียคือตัวเร่ง
ป่าแอมะซอนทุบสถิติอีกครั้ง สูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 7 เท่าของแมนฮัตตัน
ป่าแอมะซอน ใครๆต่างก็ทราบกันดีว่าเป็นป่าผืนใหญ่ที่เปรียบเสมือนปอดของโลก ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่อันกว้างใหญ่ และการปล่อยก๊าซออกซิเจนและช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทั่วโลกปล่อยมาได้มากที่สุดตามธรรมชาติ
แต่ผู้ครอบครองผืนป่าแห่งนี้คือประเทศแถบอเมริกาใต้ และหนึ่งในนั้นคือประเทศบราซิล เสียงวิพาร์กวิจารณ์จากประชาชนเรื่องความไม่โปร่งใสในการบริหารงานและการจัดสรรทรัพยากรป่าไม้ในป่าแอมะซอนของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายซาอีร์ โบลโซนาโร (Jair Bolsonaro)นั้นไม่แน่นอน เพราะตั้งแต่ดำรงตำแหน่งมา ป่าไม้ในผืนป่าแอมะซอนก็ลดลงเรื่อยๆจนน่าใจหาย
รายงานจากรัฐบาลเผยว่า พื้นที่ที่ถูกทำลายนั้นใหญ่กว่าปี 2021 ถึง 5 เท่า ซึ่งเป็นยอดรวมสูงสุดตั้งแต่มีการบันทึกมาเมื่อปี 2015 แม้ว่าในการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ COP26 ในเมืองกลาสโกว์เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลมากกว่า 100 ประเทศให้คำมั่นที่จะหยุดและยุติการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2030 แต่ยอดของการตัดไม้ในแอมะซอนกลับสูงขึ้นสวนทางกับประชาคมโลก
อ่านบทความความชอกช้ำของป่าแอมะซอนเพิ่มเติมได้ที่ >>> ป่าแอมะซอนทุบสถิติ สูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 7 เท่าของแมนฮัตตัน
ฝนตกหนัก น้ำท่วมดินถล่มในบราซิล เสียชีวิตร้อยกว่ารายและสูญหายเพียบ
เหตุการณ์ภัยพิบัติเป็นสิ่งที่อาจคาดคิดได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร เราในฐานะมนุษย์มีแต่วิถีทางในการป้องกัยภัยเหล่านั้น แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีต้นทางให้แก้ไข เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา มีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างน้อยกว่าร้อยรายแล้ว จากเหตุการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมและดินถล่มที่เมือง Petropolis ในบราซิล จนต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน
ความเสียหายนอกเหนือจากชีวิตผู้คนจำนวนมากแล้วก็เป็นทรัพย์สินอย่างอาคารโบราณต่างๆที่ถูกโค่นล้มลงไป ผู้คนส่วนใหญ่มากว่ามันคือภัยพิบัติที่ควบคุมไม่ได้ แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งมองว่า ส่วนหนึ่งอาจมาจากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าที่ทำให้ไม่มีต้นไม้มาคอยดูดซับน้ำฝน ดินจึงสไลด์ลงมาทับบ้านเรือนที่แออัดอยู่ด้านล่าง
อีกปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักเกินค่าเฉลี่ยตลอดทั้งเดือนทำให้หน้าดินอุ้มน้ำไม่ไหว และทำเลที่ตั้งของเมืองนั้นอยู่ใกล้กับภูเขาสูง จึงเสี่ยงต่อการเกิดดินสไลด์ได้ง่าย
อ่านเนื้อหาข่าวเพิ่มเติมได้ที่ >>> ดินถล่มบราซิล จากฝนตกหนัก คร่าชีวิตผู้คนบราซิลไปแล้วกว่า 94 ชีวิต
พายุ Eunice ถล่มสหราชอาณาจักร 17,000 ครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้
รายงานจากสื่อต่างประเทศ รายงานว่า วันจันทร์ที่ 21 ก.พ. สหราชอาณาจักรต้องเผชิยหน้ากับพายุยูนิส (Eunice) ความแรงลมอยู่ที่ 107 กม./ชั่วโมง และแรงสุดคือ 144 กม./ชั่วโมง ทำให้การคมนาคมหยุดชะงักและเป็นอัมพาตอยู่นาน ส่วนหนึ่งเพราะมีต้นไม้ใหญ่ล้มทับรางรถไฟด้วย
ทางด้านเครือข่ายพลังงานของสหราชอาณาจักร (UK Power Networks) ประกาศว่า ผู้อยู่อาศัยบางคนในซัสเซกซ์ (Sussex) ไม่มีไฟฟ้าใช้ตั้งแต่เช้าวันศุกร์ โดย "ลูกค้าส่วนใหญ่" ได้รับพลังงานคืนในเย็นวันอาทิตย์ และบางรายอาจจะต้องรอจนกว่าจะถึงเวลา 5 ทุ่มในวันจันทร์ ทั้งนี้เนื่องจาก "ความเสียหายอย่างกว้างขวาง" ที่เกิดจากลมเหนือศีรษะจากลม 80 ไมล์ (129 กม.) ต่อชั่วโมง ยังมีบ้านอีก 5,800 หลังในอีสต์ซัสเซกซ์ บ้าน 3,100 หลังในเวสต์ซัสเซกซ์ และ 8,000 หลังในเมืองเคนท์ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ รวมไปถึงไม่มีน้ำใช้เนื่องจากไม่มีไฟฟ้าให้ปั๊มน้ำ
ตั้งแต่สิ้นปียาวจนถึงต้นปี สหราชอาณาจักรถือว่าได้เผชิญกับภัยธรรมชาติรอบด้าน ไม่ว่าจะพายุหิมะ พายุฝน พายุลมแรง และปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ฯลฯ ส่วนหนึ่งเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทั่วโลก
อ่านข่าวเพิ่มเติม >>> พายุ Eunice ถล่มสหราชอาณาจักร 17,000 ครัวเรือนไม่มีไฟฟ้าใช้
โปรตุเกสเผชิญภัยแล้งทั้งแผ่นดินเป็นประวัติการณ์
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. สำนักอุตุนิยมวิทยา (IPMA) ได้เผยรายงานว่า ภัยแล้งรุนแรงได้แผ่ขยายไปทั่วแผ่นดินใหญ่ของโปรตุเกสในเดือนกุมภาพันธ์ คุกคามพืชผลและแหล่งน้ำเป็นพื้นที่กว้าง มากกว่าช่วงที่เคยแห้งแล้งเป็นประวัติการณ์ครั้งล่าสุดในปี 2005 หรือก็คือ ครั้งนี้รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมานั่นเอง
ค่าดัชนีล่าสุด จากเว็บไซต์ สำนักอุตุนิยมวิทยา (IPMA) เผยว่า พื้นที่ทางใต้มีความเข้มของสีน้ำตาลมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ซึ่งหมายความว่า อยู่ในระดับ แห้งรุนแรงขั้นสุด (extreme drought) ถึง 11.5% บริเวณเมือง Portimão (ปอร์ติเมา) ในเขตเทศบาลฟาโร (Faro) แต่พื้นที่ปกติมีค่าดัชนีเป็น 0% ซึ่งเท่ากับว่าแห้งทั้งแผ่นดินโปรตุเกสแล้ว ถือว่ารุนแรงขึ้นเป็น 2 เท่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์
ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสำหรับวันที่ 1-15 กุมภาพันธ์ มีเพียง 7% ของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในช่วง 30 ปี แถลงการณ์ระบุเพิ่มเติมว่า คาดการณ์ว่าฝนจะไม่ตกหนักในช่วงที่เหลือของเดือน นอกจากนี้ยังคาดว่าอุณหภูมิจะสูงกว่าปกติและภัยแล้งจะรุนแรงขึ้น
ณ จุดเดียวกันในปี 2005 เมื่อโปรตุเกสต่อสู้กับภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 6 ทศวรรษ ภัยแล้งเหล่านั้นได้แผ่ขยายไปทั่ว 77% ของอาณาเขตประเทศ ซึ่งตอนนี้ปี 2022 ได้แซงหน้าสถิตินั้นไปแล้ว
กลุ่มนักสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ภัยแล้งเมื่อต้นปีได้หยุดไปอย่างผิดสังเกตในโปรตุเกสและควรได้รับการพิจารณาใหม่ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อากาศที่แห้งแล้งดังกล่าวมักนำไปสู่ไฟป่าครั้งใหญ่ในฤดูร้อน และไม่ใช่เพียงแค่โปรตุเกสเท่านั้นที่เผชิญกับไฟป่าเพราะความแห้งแล้งของดินและอากาศ ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับปัญหาเหล่านี้
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ >>> ภัยแล้งโปรตุเกสรุนแรงเป็นประวัติการณ์ เสี่ยงกระทบพืชผลและแหล่งน้ำ
รัสเซียเดินหน้าเข้ายึดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครน หวั่นสารพิษรั่วไหล
วันที่ 21 ก.พ. ได้รับรายงานเกี่ยวกับสงครามยูเครน-รัสเซียว่า กองกำลังรัสเซียเข้ายึดและควบคุมอดีตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล(Chernobyl)ได้แล้ว และจับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลโรงงานเป็นตัวประกัน ทั้งนี้จึงทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลเรื่องสารเคมีที่ยังตกค้างว่ารัสเซียมีเป้าหมายจะทำอะไรกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หรือเปล่า
เพราะหากย้อนไปก่อนหน้านี้ ณ ที่แห่งนี้ได้เกิดโศกนาฏกรรมร้ายแรงจากเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องที่ 4 ระเบิดและทำให้สารซีเซียม-137 ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หลุดลอยออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งแผ่กระจายเป็นวงกว้างไปทั่วทั้งพื้นที่ของสหภาพโซเวียต ลามไปจนถึง รัสเซีย เบลารุส และทางเหนือของยุโรป
โรงงานนิวเคลียร์ตั้งอยู่ในเมืองพรีเพียต (Pripyat) ในสมัยที่อยู่ใต้การปกครองของประเทศสหภาพโซเวียต ซึ่งปัจจุบันคือประเทศยูเครน การระเบิดครั้งนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 31 คนในบริเวรโรงงานไฟฟ้า ต่อมาได้รับรายงานเพิ่มเป็น 47 ราย และต่อมาคนอีกเป็นล้านคนได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีเรื่อยมาทุกๆปี และจนตอนนี้ก็ยังไม่มีท่าทีจะหมดง่ายๆ ที่แห่งนี้จึงประกาสเป็นเขตหวงห้ามเนื่องจากอาจยังมีสารเคมีรั่วไหลอยู่
อ่านเรื่องราวประวัติสาสตร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลต่อได้ที่ >>> ย้อนรอยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดในยูเครน ผลกระทบจากนิวเคลียร์
ทั้งหมดนี้คือ 10 เหตุการณ์เด่นๆด้านสิ่งแวดล้อมประจำเดือนกุมภาพัน์ที่ทาง Springnews คัดเลือกมาให้ แต่อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้หรือเดือนที่ผ่านมา มีเหตุการณ์หรือปรากฎการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมมากมายที่เกิดขึ้นอยู่ทั่วทุกมุมโลก และทุกเรื่องราวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการสูญเสียอารยธรรมมนุษย์ที่กำลังล่มสลายลงอย่างช้าๆ ซึ่งเรากำลังเพิกเฉยมันอยู่
การรายงานข่าวสารหรือองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การรายงานให้ทราบและปล่อยผ่านไป แต่เป็นการย้ำเตือนและประกาศสถานการณ์ต่างๆเกี่ยวกับโลกให้กับคุณผู้อ่านได้รับรู้ และเกิดการตระหนักเพื่อช่วยกันผลักดันและหาทางออกให้วิกฤตภัยเงียบเหล่านี้มันบรรเทาลง มาช่วยโลกไปพร้อมกันนะ