ไฟป่าในบราซิล เมื่อปี 2020 ถือว่าเป็นอัคคีภัยที่รุนแรงที่สุด อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนและการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และได้ค้นพบว่า มีสัตว์ป่าตายไปแล้วกว่า 17 ล้านตัว
สถานการณ์ในสิ่งแวดล้อมบราซิล ผู้เป็นปอดผืนใหญ่ของโลกตอนนี้นั้นดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมาเกิดภัยพิบัติมากมาย ทั้งทางธรรมชาติ และน้ำมือมนุษย์ และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนจนเราไม่สามารถควบคุมได้ และผู้ที่รับกรรมเหล่านั้นคือ สัตว์ป่าน้อยใหญ่และระบบนิเวศน์หลายพันปี ที่โลกใบนี้เฝ้าทะนุถนอมตลอดมา
ท่ามกลางความเยือกเย็นและร้อนแรงของปี 2020 นักวิทยาศาสตร์ในบราซิลได้ให้ข้อสรุปการศึกษาการอนุรักษ์ที่สยดสยองชิ้นหนึ่ง ด้วยการที่พวกเขาพยายามนับจำนวนสัตว์ที่ถูกฆ่าโดยไฟป่าขนาดใหญ่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ Pantanal
พวกเขาประเมินได้ว่า สัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง สัตว์เลื้อยคลาน นก และพวกวานร ตายไปในเหตุการณ์ครั้งนี้ถึง 17 ล้านตัว ไฟป่าได้โหมกระหน่ำรุนแรงในช่วงระหว่างเดือนมกราคมจนถึงพฤศจิกายน ทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปมากถึง 30% การประมาณการการสูญเสียครั้งนี้ได้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Scientific Report
ดร.มาเรียนา นาโปลิตาโน เฟอเรรา (Dr. Mariana Napolitano Ferreira) หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ WWF ในบราซิล ได้อธิบายว่า เราได้บันทึกการเกิดไฟไหม้มาตลอด ซึ่งจากการบันทึกพบว่าในปี 2020 มีการเกิดไฟไหม้ถึง 22,000 ครั้ง และงานวิจัยชิ้นใหม่นี้ก็ทำให้เราได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกันภัยพิบัติดังกล่าวในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประเทศเคนย่าน่าห่วง โดนภัยแล้งโจมตี สัตว์ล้มตาย คนนับล้านขาดสารอาหาร
บราซิลสูญเสียพื้นที่ป่าอเมซอนเทียบเท่ารัฐเท็กซัสและนิวเม็กซิโกรวมกัน
สัตว์สูญพันธุ์จำนวนมากในรอบ 100 ปี และจะเพิ่มขึ้นอีกด้วยน้ำมือมนุษย์
ป่าอเมซอน สูญเสียพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 22% ในรอบปี เป็นสถิติสูงสุดในรอบ 15 ปี
Pantanal เกิดไฟป่าตามธรรมชาติมาบ่อยครั้ง แต่เมื่อครั้งปี 2020 ถือว่าเลวร้ายที่สุด ตามที่ ดร. อเล็กซ์ ลีส์ (Dr.Alex Lees) นักนิเวศวิทยาจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เมโทรโพลิแทน ซึ่งกระจายการทำงานออกไปอย่างกว้างขวางในภาคกลางของบราซิล รวมถึงใน Pantanal ด้วย
ดร.ลีส์ อธิบายว่า มันแตกต่างกันอย่างมากกับประสบการณ์ในภูมิภาคและวัฏจักรการเผาไหม้และการฟื้นตัวตามปกติ
“ไฟเหล่านี้ผิดปกติ เนื่องจากขนาดของมันที่ใหญ่มากๆกินเวลานาน และยังมีปัจจัยเพิ่มเติมมาจากภัยแล้งครั้งใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว Pantanal ไม่สามารถรับการเผาไหม้ระดับมหาศาลนี้ได้ทุกปี และความหลากหลายทางชีวภาพไม่สามารถกู้คืนได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”
การนับจำนวนสัตว์ที่ตาย
นักวิทยาศาสตร์จะสามารถเข้าไปในพื้นที่ชุ่มน้ำได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังเกิดเพลิงไหม้ พวกเขาต้องแข่งกับเวลา ในการเดินทางออกไปเป็นระยะๆและตรวจสอบสัตว์ที่ตายแล้วทุกตัวที่พบ เหมือนกับการวิ่งออกไปนับสัตว์ที่ตายแล้ว
ทีมงานจะระบุชนิดของสัตว์ 300 ชนิดที่ได้พบ จากนั้นพวกเขาก็จะประเมินและคาดการณ์รวมไปถึงตรวจสอบจำนวนสัตว์ที่เสียชีวิตให้แน่ชัด
Dr. Walfrido Moraes Tomas นักนิเวศวิทยาจากสถาบันวิจัย Embrapa Pantanal ในบราซิเลีย ซึ่งเป็นผู้นำการสำรวจศึกษา เขากล่าวว่า เขากับทีมไม่แปลกใจกับตัวเลขที่ได้พบ หากพิจารณาไปพร้อมกับความหายนะทางภูมิศาสตร์ที่กว้างใหญ่ไพศาล
แต่สิ่งที่ทำให้เขาประหลาดใจก็คือ การที่กลุ่มสปีชีส์บางกลุ่มได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เช่น งูจำนวนมากที่ถูกฆ่าตายในกองเพลิง ทำให้เราสงสัยว่ามันอาจเกี่ยวข้องกับผลกระทบของน้ำตก เพราะงูมักเป็นสัตว์นักล่าที่ล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก อาทิ กบ ผลกระทบนี้อาจส่งผลต่อความไม่สมดุลในระบบนิเวศน์อย่างที่คาดไม่ถึง พูดง่ายๆคือ การเปลี่ยนผันของวัฏจักรการล่าเพราะความหลากหลายทางชีวภาพลดลง
พื้นที่ชุ่มน้ำตั้งอยู่ทั่วบราซิล ปารากวัย และโบลิเวีย และเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก รวมสัตว์ไว้หลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งจากัวร์ ตัวกินมด และนกอพยพ ที่พวกมันอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้กว่า 140,000-160,000 ตารางกิโลเมตร
Dr. Ferreira จาก WWF Brazil อธิบายเพิ่มว่า การวิจัยภาคสนามจะยังคงดำเนินต่อไป ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้น่าใจหายมาก แต่เราจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ระบบนิเวศจะสามารถฟื้นคืนสภาพภายในสัปดาห์ เดือน หรือปี หลังเกิดเพลิงไหม้ได้อย่างไร
ผลพวกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นักวิจัยชี้ให้เห็นว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนี้ เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์อย่างชัดเจน ดร.โทมัสยังเสริมอีกว่า การศึกษาครั้งนี้ ระดับตัวเลขและความรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้นจะสามารถนำมาซึ่งความพยายามในการสนับสนุนการพัฒนา เพื่อให้เกิดกลยุทธ์และนโยบายในการจัดการกับอัคคีภัยได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องของการศึกษานี้ ว่ามันอาจมีช่องว่างขนาดใหญ่ที่ทีมงานสามารถคาดการณ์ผิดพลาดได้ในเรื่องของการนับจำนวนสัตว์ที่สูญเสียไป ซึ่งแน่นอนว่าการประมาณการณ์ที่แท้จริง อาจได้จำนวนสัตว์ที่ตายไปมากกว่าจำนวนที่พบ เพราะมันยังมีสัตว์อีกหลายล้านตัวอาศัยอยู่ที่นั่น และเราไม่รู้ว่าพวกมันเป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้าง
สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนข้อความที่ส่งต่อมาบอกกับมนุษย์ มันกำลังแสดงให้เราเห็นว่า ธรรมชาติกำลังทุกข์ทรมาน ซึ่งส่วนหนึ่งก็ทำให้เราทุกข์ไปด้วย จากการขาดแคลนน้ำสะอาดและการขาดแคลนอาหาร ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในเคนย่า เราจำเป็นต้องปลี่ยนวิธีที่เชื่อมต่อกับธรรมชาติเสียใหม่ หากเราต้องการให้คนรุ่นหลังอยู่บนโลกใบนี้ต่อไปได้
ที่มาข้อมูล