ไฟป่าซีกโลกเหนือปีนี้ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทำลายสถิติ เป็นผลพวงมาจาก Climate Change ที่มาจากฝีมือมนุษย์
ศูนย์บริการตรวจสอบบรรยากาศโคเปอร์นิคัสแห่งสหภาพยุโรป รายงานว่า ไฟป่าจำนวนมากและรุนแรงในซีกโลกเหนือในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมาของปีนี้ ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมหาศาล จนทำลายสถิติที่ผ่านๆ มา
เปลวเพลิงที่รุนแรงทั้งในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อเมริกาเหนือ และไซบีเรีย ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่า 2.7 พันล้านเมตริกตัน โดยเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมได้ทำลายสถิติการปล่อยมลพิษจากไฟป่าทุกเดือน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าครึ่งในเดือนกรกฎาคมมาจากในอเมริกาเหนือและไซบีเรีย
ยุโรปยังประสบกับฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนก็ทำลายสถิติอุณหภูมิด้วยส่วนต่างขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับบางส่วนของอาร์กติกและแคนาดา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้นทำให้สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น และสภาพอากาศที่แห้งแล้งและคลื่นความร้อนในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในปีนี้ ทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นจุดที่มีไฟป่าบ่อยครั้งและปล่อยมลพิษจากควันจำนวนมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ในขณะเดียวกัน ไฟป่าในแถบอาร์กติก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่ร้อนขึ้นเร็วกว่าสองเท่าของส่วนอื่นๆ ของโลกตั้งแต่ปี 2000 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 66 ล้านตันระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม ศูนย์โคเปอร์นิคัส ระบุ
ฤดูที่เกิดไฟป่าบ่อยในซีกโลกเหนือมักเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม และไฟป่าจะมาถี่ขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม
มาร์ค แพร์ริงตัน นักวิทยาศาสตร์อาวุโสและผู้เชี่ยวชาญด้านไฟป่าจากศูนย์โคเปอร์นิคัส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางของยุโรป กล่าวว่า "ตลอดฤดูร้อน เราได้เฝ้าติดตามการเกิดไฟป่าทั่วซีกโลกเหนือ สิ่งที่โดดเด่นกว่าปกติคือจำนวนไฟป่า ขนาดของพื้นที่ที่ไฟกำลังลุกไหม้ ความรุนแรง และความคงของไฟป่า"
ไฟป่าในสาธารณรัฐซาฮาทางตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรียเริ่มลุกไหม้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน และเริ่มลดน้อยลงในปลายเดือนสิงหาคม โดยไฟป่าบางส่วนยังคงดำเนินต่อไปจนถึงเดือนกันยายน แพร์ริงตัน กล่าวเสริม
แพร์ริงตัน กล่าวอีกว่า ในไซบีเรียประมาณการการปล่อยมลพิษในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม มากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับข้อมูลที่บันทึกไว้ในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา
ในขณะเดียวกัน บางส่วนของแคนาดา แปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ และแคลิฟอร์เนีย ประสบกับไฟป่าครั้งใหญ่ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนและต้นเดือนกรกฎาคม ซึ่งบางส่วนยังคงโหมกระหน่ำ
"เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิภาคที่แห้งแล้งและร้อนขึ้น ซึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อน เพิ่มความสามารถในการติดไฟและความเสี่ยงจากไฟไหม้ของพืชพรรณ สิ่งนี้นำไปสู่ไฟที่รุนแรงและลุกลามอย่างรวดเร็ว" แพร์ริงตัน กล่าวเสริม
นักวิทยาศาสตร์อาวุโส กล่าวว่า "ในขณะที่สภาพอากาศในท้องถิ่นมีบทบาทในพฤติกรรมการเกิดไฟจริง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศช่วยให้สภาพแวดล้อมในอุดมคติสำหรับไฟป่า คาดว่าจะมีไฟมากขึ้นทั่วโลกในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เช่นฤดูไฟในอเมซอนและอเมริกาใต้ พัฒนาต่อไป"
"เห็นได้ชัดว่าควันเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างมาก นอกจากนี้ยังทำให้คุณภาพอากาศเสื่อมโทรม และเราได้เห็นแล้วว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่อยู่เบื้องล่างทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไซบีเรีย" แพร์ริงตัน กล่าว