svasdssvasds

เมื่อโลมาไม่อยู่เคียงคู่ธารา หลังโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายจากไป บอกอะไรบ้าง?

เมื่อโลมาไม่อยู่เคียงคู่ธารา หลังโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายจากไป บอกอะไรบ้าง?

โลมาอิรวดีตัวสุดท้ายแห่งลุ่มน้ำโขงเขตสปป.ลาวจากไปแล้ว ส่งผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์บ้าง โลมาอิรวดีสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์เต็มที เราช่วยอะไรได้บ้าง?

โลมาอิรวดี สัตว์น้ำหายากอีกสปีชีส์หนึ่งที่กำลังจากโลกใบนี้ไป หรือที่เรียกว่า ‘สูญพันธุ์’ จำนวนของโลมาอิรวดีลดลงเรื่อยๆจนน่าใจหาย ความสมดุลทางธรรมชาติเริ่มแปรเปลี่ยนเมื่อสัตว์น้ำไม่อยู่ Springnews ชวนมาส่องปัญหาของระบบนิเวศ เมื่อโลมาไม่อยู่เคียงคู่กับธารา ใครล่ะรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา มีการรายงานข่าวจากสื่อกัมพูชาว่า โลมาอิรวดีแห่งลุ่มแม่น้ำโขงในเขต สปป.ลาวตัวสุดท้ายได้จากโลกใบนี้ไปแล้ว หลังมีคนไปพบซากโลมาอิรวดีเพศผู้ อายุ 25 ปี ยาว 2.6 เมตร น้ำหนักประมาณ 110 กิโลกรัม ลอยตายใกล้ริมฝั่งแม่น้ำโขง คาดว่าเสียชีวิตมาแล้ว 3 วัน โดยมีพยานผู้พบเห็นกล่าวกับสื่อว่า เคยเห็นโลมาที่คาดว่าเป็นตัวที่ตายไป เคยไปติดอวนจับปลาเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า

หลังจากที่มีการพบซากโลมาตัวดังกล่าวได้ไม่นาน ทาง WWF หรือองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ได้ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการจากไปของโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายแห่งลุ่มน้ำโขงเขตสปป.ลาว แม้ว่านักวิจัยหรือNGOs ในพื้นที่จะพยายามควบคุมอุปสรรคที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพวกมันมากขนาดไหน แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถช่วยเหลือยื้อชีวิตโลมาอันล้ำค่าตัวสุดท้ายไว้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แม้ว่าก่อนหน้านี้ในปี 2016 WWF จะทำการประกาศว่าสปป.ลาวเหลือโลมาอิรวดีแห่งลุ่มน้ำโขงเพียง 3 ตัวและต้องเร่งอนุรักษ์แล้ว แต่วันนี้โลมาอิรวดีได้หมดแม่น้ำบริเวณนั้นไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว ยิ่งการขยายพันธุ์ยิ่งยาก การเพิ่มจำนวนจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย

นอกจากนี้ในวันที่ 23 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมาในประเทศไทยเองก็พบซากโลมาอิรวดีด้วยเช่นกัน คาดว่าจะเป็นลูกโลมาอิรวดี เพราะตัวที่พบนั้นความยาวเพียง 1.04 เมตร น้ำหนักเพียง 5.75 กิโลกรัม พบบริเวณสะพานอรุณ อ.แหลมงอบ จ.ตราด โดยผู้พบเห็นคือชาวบ้านและได้แจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 4 จ.ตราดได้เข้าไปตรวจสอบ

การสูญเสียลักษณะเช่นนี้เริ่มเกิดถี่ขึ้น แม้ว่าจะมีการรณรงค์ การตรวจตราดูแลดีแค่ไหน แต่ก็หยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศโดยมนุษย์ไม่ได้

โลมาอิรวดีจัดอยู่ในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (EN-Endangered)จัดทำโดย International Union for Conservation of Nature’s (IUCN) หรือ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยโดนประกาศเป็นสัตว์สูญพันธุ์ไปโดยปริยายแล้ว หรือที่เรียกว่า (Functionally Extinct) แต่ก็มีการฟื้นฟูและบำรุงให้กลับมาได้ทันก่อนที่ตัวสุดท้ายจะจากไป โดยเฉพาะเขตสปป.ลาวนั้นเสี่ยงที่สุดและต้องเฝ้าสังเกตดีๆ

เมื่อโลมาไม่อยู่เคียงคู่ธารา หลังโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายจากไป บอกอะไรบ้าง?

แต่ก็ไม่วายพบเจอกับความสูญเสียซ้ำสอง เมื่อโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายจากไป เมื่อโลมาไม่อยู่คู่ธารา แม่น้ำที่เคยมีชีวิตก็กลับมาเงียบเหงาและเริ่มป่วยลง สุขภาพของลำน้ำเริ่มแย่ลง เนื่องจากขาดสมดุลของระบบนิเวศเดิม แต่ก่อนที่จะไปดูความเสียหายหรือผลกระทบของมนุษย์ เรามาดูปัจจัยที่เป็นต้นเหตุให้โลมาต้องสูญพันธุ์กันก่อน

ปัจจัยที่เป็นสาเหตุการตายของโลมาอิรวดี

ต้นเหตุหลักมีอยู่ 2 เหตุผลหลักด้วยกันคือ

  1. การตายโดยตรงจากการทำประมง หรือก็คือการทำประมงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โลมาต้องตายลงเนื่องจากอุปกรณ์จับปลา อวนลาก หรืออะไรก็ตาม ที่ชาวบ้านใช้หากินตามแม่น้ำและตั้งเป็นกับดักทิ้งไว้ หรือทิ้งเศษซากอวนลงแม่น้ำ ก็จะไปขวางทางของโลมาที่มองไม่เห็นอวน เมื่อว่ายเข้าไปมันก็จะไปพันลำตัวจนไม่สามารถขยับได้ หรือรัดเป็นแผลจนทำให้พวกมันตายลงนั่นเอง
  2. การเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัย ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างเขื่อนและตลิ่งที่จะไปขัดขวางการเคลื่อนตัวของตะกอนที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์น้ำอื่นๆที่เป็นแหล่งอาหารของโลมาอีกต่อหนึ่ง

ลำน้ำโขงถือเป็นแหล่งน้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอีกแหล่งหนึ่ง ที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลาประมาณ 1,100 สายพันธุ์ และเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ชั้นดีสำหรับชุมชนและผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณริมน้ำ

ผลกระทบต่อมนุษย์

แต่แน่นอนว่า เมื่อการไม่อยู่ของโลมากระทบต่อระบบนิเวศเดิมแล้ว มันยังส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อมนุษย์เราเองด้วย

ประการแรก ส่งผลกระทบต่อผู้คน 60 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในบริเวณภูมิภาคดังกล่าว เพราะหลายคนมีฐานะยากจน และต้องพึ่งพาแม่น้ำเพื่อหาอาหารและเลี้ยงชีพ เมื่อโลมาไม่อยู่ ระบบนิเวศและจำนวนปลาที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็ลดจำนวนลง รวมไปถึงแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์อย่างการล่องเรือเยี่ยมชมโลมาก็ลดน้อยลงไป

ประการที่สอง ต้นเหตุหนึ่งเป็นผลพวงมาจากการสร้างเขื่อน การสร้างเขื่อนจะเร่งให้เกิดการจมและการหดตัวของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง คุกคามอนาคตของตะกร้าข้าวรายใหญ่ของเวียดนาม ชุมชนประมงนับไม่ถ้วนและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในระยะยาว

แม้ว่าการจากไปของโลมาหนึ่งตัวดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับบางคน แต่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ของระบบนิเวศ แม้จำนวนพวกมันอาจมีไม่ยอะเท่ามนุษย์ที่แพร่กระจายไปทั่วทุกสารทิศเหมือนในปัจจุบัน หากลองมองกลับกัน มนุษย์เราเป็นฝ่ายที่ถูกทำลายและเหลือประชากรน้อยมากๆเช่นโลมา คงจะเป็นอะไรที่น่าเศร้าและอารยธรรมมนุษย์ก็ต้องสลายไปเช่นโลมา

จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถส่งต่อความอุดมสมบูรณื ความหลากหลายของสายพันธุ์สัตว์ให้กับคนรุ่นต่อไปดูแลและเพื่อการศึกษา ทำไมเราต้องทำทุกอย่างรอบตัวให้สูญพันธุ์ด้วยฝีมือเราด้วยล่ะ มาช่วยกันดูแลและรักษาสิ่งอวดล้อม ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพให้โลกน่าอยู่ต่อไปด้วยกันนะ

เกร็ดความรู้เรื่องโลมาอิรวดี

โลมาอิรวดี มีชื่อหรือฉายาที่หลากหลายค่ะตามสถานที่ที่พบเจอ เช่น โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง โลมาน้ำจืด โลมาหัวหมอน หรือปลาข่า ในภาษาลาว พวกมันอยู่ในวงศ์โลมามหาสมุทร (Delphinidae) หรือชื่อทางการทางวิทยาศาสตร์คือ Orcaella brevirostris

ลักษณะเด่นของพวกมันคือ มีรูปร่างคล้ายโลมา หัวโปนกลมมน ลำตัวสีเทาล้วน บางตัวก็มีสีเทาอ่อน บางตัวก็สีเทาเข้ม ตาเล็ก ปากสั้น ครีบบนมีขนาดเล็กมาก น้ำหนักประมาณ 90- 200 กิโลกรัม มีฟัน 12-19 ซี่ที่ขากรรไกรทั้งสองข้าง ตัวเมียจะตั้งท้อง 9 เดือนและคลอดลูกโลมาออกมาทีละ 1 ตัวเท่านั้น ซึ่งการผสมพันธุ์และระยะเวลาในการแพร่จำนวนประชากรต่อ 1 ตัวยาวนานขนาดนี้ คงไม่น่าแปลกใจใช่ไหม ทำไมการฟื้นฟูจำนวนประชากรถึงได้ยากเย็นนัก

เมื่อโลมาไม่อยู่เคียงคู่ธารา หลังโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายจากไป บอกอะไรบ้าง? โลมาอิรวดีพบได้ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแม่น้ำสามสาย ได้แก่ แม่น้ำอิระวดี (เมียนมาร์) มหากัม/มาฮาคัม (เกาะบอร์เนียวชาวอินโดนีเซีย) แม่น้ำจิลิกา ประเทศอินเดีย ปากแม่น้ำบางปะกง ทะเลสาบสงขลาและแม่น้ำโขง โลมาอิรวดีแม่น้ำโขงอาศัยอยู่ในลำน้ำยาว 118 ไมล์ ระหว่างกัมพูชาและสปป.ลาว

เมื่อโลมาไม่อยู่เคียงคู่ธารา หลังโลมาอิรวดีตัวสุดท้ายจากไป บอกอะไรบ้าง? หากอยากเรียนรู้เรื่องราวของโลมาอิรวดีเพิ่มเติมไปศึกษาต่อได้ที่ >>> The Society for Marine Mammalogy

ที่มาข้อมูล

https://iucn-csg.org/mekong-dolphins/

https://www.worldwildlife.org/species/irrawaddy-dolphin

https://marinemammalscience.org/facts/orcaella-brevirostris/

https://www.dmcr.go.th/detailAll/13931/nws/16

related