ขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา อีกปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนมองข้าม ภัยเงียบที่สามารถคร่าสิ่งมีชีวิตทุกสรรพสิ่งได้อย่างง่ายดาย และอุปสรรคชิ้นใหญ่ของภารกิจกู้ชีพทางน้ำ
หลังจากข่าวของคุณแตงโม นิดา ประสบอุบัติเหตุตกเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยาและเสียชีวิต มีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม คือ ช่วงตอนหนึ่งของภารกิจโดยใช้เรดาร์ค้นหาร่าง แต่ดันไปเจอซากผ้านวมขนาดใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่น่าขบคิดในอีกแง่มุมหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ที่แม้จะดูกว้างใหญ่และทิวทัศน์งดงาม แต่อีกด้านก็ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางน้ำ และอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัยทางน้ำ
ทีมงาน Springnews จึงทำการลงพื้นที่เก็บภาพและสำรวจบริเวณที่พบร่างของคุณแตงโมอีกครั้งในบริเวณท่าน้ำพิบูลย์ 1 ว่าบริเวณนั้นมีปริมาณขยะที่เป็นอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน และสิ่งที่พบก็คือเศษซากขยะพลาสติกลอยเหนือผิวน้ำเต็มไปหมด หากลองคิดภาพผู้เสียชีวิตหรือสิ่งมีชีวิตใดๆก็ตามไปจมอยู่ในกองเศษซากขยะเหล่านี้คงจะน่าหดหู่และน่าเศร้าพอดู
และหากเกิดเหตุฉุกเฉินในลักษณะของอุบัติเหตุทางน้ำเช่นนี้ ปัญหาขยะเหล่านี้ก็เป็นอุปสรรคในการค้นหาที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานลำบากมากขึ้น เจ้าหน้าที่จะต้องเผชิญกับเศษขยะที่ลอยตามกระแสน้ำ หรือนักประดาน้ำได้รับบาดเจ็บจากขยะชิ้นใหญ่บ้าง และปัจจัยอื่นๆอีกมากที่ส่งผลต่อความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เที่ยวอุทยานฯแล้ว อย่าลืมนำขยะติดมือกลับมาด้วยเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
ลดโลกร้อน 3 ร้านอาหารดังเดลิเวอรี่ ใช้แพ็กเกจรักษ์โลก ช่วยลดต้นทุน 50%
เศรษฐกิจที่เติบโตตัวเร่งปฏิกิริยาเพิ่มขยะในทะเล ปัญหาที่โลกต้องเผชิญ
ขยะส่วนมากที่พบในแม่น้ำมีต้นทางมาจากภาคครัวเรือน ร้านอาหาร โรงงาน โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวและเรือที่สัญจรไปมา ไม่ว่าตั้งใจทิ้งแบบทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม แต่สุดท้ายขยะทั้งหมดก็จะถูกสะสมและทยอยมาเป็นอุปสรรคของเราในอนาคต ซึ่งหมุดหมายสุดท้ายของขยะแม่น้ำเหล่านี้คือทะเล ก็จะกลายเป็นการทับถมปัญหามลพิษทางทะเลเพิ่มไปอีก
ขยะเพียงหนึ่งชิ้น สามารถคร่าชีวิตหนึ่งได้แบบไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะมนุษย์หรือสัตว์น้ำก็ตาม ทุกชีวิตล้วนมีค่า ภารกิจของการกู้ภัยนั้นต้องแข่งกับเวลา แต่อุปสรรคเช่นนี้จะเพิ่มเวลาความเป็นความตายเพิ่มไปอีก ดังนั้นจึงต้องขอขอบคุณทีมกู้ภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำหน้าที่แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคเช่นนี้ และ Springnews ก็ขอเชิญชวนให้ทุกคนมาช่วยกันทิ้งขยะให้ถูกที่เพื่อลดผลกระทบที่อาจรุนแรงขึ้นในภายภาคหน้าต่อไป