เว็บไซต์ Livescience ได้รวบรวม 10 เรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการค้นพบเรื่องราวของบรรพบุรุษมนุษย์เราแห่งปี 2021 ที่ทาง Springnews จะมาเรียบเรียงให้ได้อ่านกันในบทความนี้
บรรพบุรุษของมนุษย์เราที่มีชีวิตอยู่เมื่อหลายล้านปีก่อน พวกเขาต้องเรียนรู้ในการเอาตัวรอดเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตบนโลกกว้างได้ และความสามารถของพวกเขาเหล่านี้คือวิวัฒนาการของมนุษย์เราที่สืบต่อและพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นเราในทุกวันนี้ ในปี 2021 ที่ผ่านมา การค้นคว้าและการค้นพบเกี่ยวกับเบาะแสของบรรพบุรุษสมัยโบราณทำให้เรากระจ่างชัดมากขึ้น ว่าพวกเขาดำรงชีวิตกันอยู่ได้อย่างไรในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย บทความจาก Livescience ได้รวบรวมการค้นพบเกี่ยวกับเรื่องราวมนุษย์โบราณตลอดปี 2021 ว่าเราได้ค้นพบเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจบ้าง
มนุษย์ยุคแรกมีสมองเหมือนลิง
แน่นอนว่ามนุษย์เราได้แต่งตั้งตนเองว่าเป็นสัตว์ที่ฉลาดที่สุดในบรรดาของสิ่งมีชีวิต แต่ก็ไม่เสมอไป สมาชิกรุ่นแรกของมนุษย์สกุล Homo มีสมองเหมือนลิง จนกระทั่งเมื่อราวๆ 1.7 ล้านถึง 1.5 ล้านปีก่อนถึงจะเริ่มมีการพัฒนาสมองขั้นสูงในมนุษย์ หรือก็คือการวิวัฒนาการของสมองให้ทิ้งห่างจากลิงมากขึ้น นี่เป็นผลการศึกษาที่ได้ตีพิมพ์ลงวารสาร Science เมื่อเดือนเมษายน 2021 หรืออีกนัยหนึ่งคือต้องใช้เวลามากกว่า 1 ล้านปีในสกุล Homo เพื่อพัฒนาสมองขั้นสูง
นักวิจัยค้นพบสิ่งนี้โดยวิเคราะห์เอนโดคาสต์ของกะโหลกศีรษะของมนุษย์สมัยโบราณและสมัยใหม่ รวมทั้งลิงใหญ่ซึ่งเป็นญาติที่อยู่ใกล้ชิดที่สุดของเรา การวิเคราะห์เหล่านี้เปิดเผยว่ามนุษย์ต้องใช้เวลาในการพัฒนากลีบสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่จะประมวลผลงานด้านความรู้ความเข้าใจที่ซับซ้อนได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อังกฤษค้นพบสุสานแมมมอธอายุ 200,000 ปี จิ๊กซอว์เชื่อมเรื่องราวในอดีต
ชิลีค้นพบมัมมี่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อายุกว่า 7,000 ปีมากกว่าอียิปต์ซะอีก
ฟอสซิลหมีแพนด้ายักษ์ อายุกว่าแสนปี ถูกค้นพบใน ถ้ำซวงเหอ ถ้ำใหญ่สุดในเอเชีย
‘มนุษย์มังกร’ อาจใกล้เคียงเรามากกว่ามนุษย์นีแอนเดอร์ธัล
กะโหลกมนุษย์โบราณที่พบในจีนนำไปสู่การตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่คือ Homo longi หรือ Dragon man ตามผลการศึกษา 3 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Innovation เมื่อเดือนมิถุนายน สปีชีส์นี้อาจเป็นญาติสนิทที่สุดของเราแม้จะใกล้ชิดกับเรามากกว่านีแอนเดอร์ธัล ซึ่งก่อนหน้านี้ นีแอนเดอร์ธัลถือเป็นญาติที่สนิทที่สุดของเรา กะโหลกศีรษะมีอายุประมาณ 146,000 ปี เป็นกะโหลกของโฮโมที่ใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์และเป็นของชายคนหนึ่งที่เสียชีวิตเมื่อตอนอายุประมาณ 50 ปี
อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ผู้เชี่ยวชาญ 3 คนในการศึกษาวิวัฒนาการครั้งนี้ต่างสงสัยว่าชายผู้นี้อาจเป็นเชื้อสายมนุษย์ลึกลับของเดนิโซแวน* (Denisovan) หรือไม่
(*เดนิโซแวน เป็นสปีชีส์หนึ่งของมนุษย์ที่นักวิจัยกำลังค้นหาคำตอบว่าเป็นสปีชีส์อีกหนึ่งชนิดของมนุษย์หรือเป็นส่วนย่อยของสปีชีส์อื่นหรือไม่ หรือก็คือสปีชีส์ลึกลับ ส่วนใหญ่พบหลักฐานในแถบเอเชียช่วงล่าง หรืออาจเป็นปีชีส์ที่ผสมข้ามสปีชีส์กันซึ่งเรื่องนี้ยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้)
กะโหลก ‘Child of Darkness’ โบราณถูกค้นพบในถ้ำ
ซากของเด็ก Homo naledi ที่ยังเยาว์วัย มีข้อสงสัยผุดขึ้นมาว่าเธอลงเอยชีวิตบนทางเดินที่ลึกและแคบในแอฟริกาใต้ได้อย่างไร นักวิทยาศาสตร์พบกะโหลกศีรษะของเด็กน้อย ซึ่งพวกเขาเรียกว่า “เลตี” ในส่วนที่ลึกที่สุดของถ้ำ ซึ่งมีการคาดเดากัยว่าเธออาจถูกฝังโดยเจตนา
เลตีอาศัยอยู่ระหว่าง 335,000 – 241,000 ปีก่อน และเป็นหนึ่งในสิบสองบุคคล H.naledi ที่ถูกค้นพบในถ้ำตั้งแต่ปี 2013 มีการเปิดเผยว่า H.naledi เดินตัวตรง หากยืนจะมีความสูงประมาณ 1.44 เมตร และหนักประมาณ 40-56 กิโลกรัม
พบกับบรรพบุรุษของมนุษย์โดยตรง Homo bodoensis
การวิเคราะห์ใหม่ของกะโหลกศีรษะอายุ 600,000 ปีซึ่งพบครั้งแรกในปี 1976 โดยได้เปิดเผยสายพันธุ์มนุษย์ใหม่คือ Homo bodoensis ซึ่งเป็นบรรพบุรุษโดยตรงที่เป็นไปได้ของ Homo sapiens การค้นพบนี้อาจช่วยคลี่คลายว่าสายเลือดของมนุษย์มีการเคลื่อนไหวหรือมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยไม่เพียงแค่ค้นพบกะโหลกศีรษะ แต่พวกเขาได้ทำการทบทวนระบบฟอสซิลของมนุษย์ตั้งแต่ 774,000-129,000 ปีก่อน หลักฐานกองหนึ่งแสดงให้เห็นว่าสปีชีส์ก่อนหน้านี้ H.heidelbergensis และ H.rhodesiensis มีปัญหา ตอนนี้ตัวอย่างของ H. heidelbergensis อาจถูกจัดประเภทใหม่เป็นนีแอนเดอร์ธัล (Neanderthals) หรือ H.bodoensis การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Homo จากช่วงเวลานี้อาจเปิดเผยสายพันธุ์ที่ไม่รู้จักก่อนหน้านี้ได้ ตามการศึกษาเดือนตุลาคมที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evolutionary Anthropology
การฝังศพของมนุษย์เผยให้เห็นเชื้อสายที่หายไปในอินโดนีเซีย
เชื้อสายมนุษย์โบราณไม่ทิ้งร่องรอยไว้เสมอ แต่การค้นพบการฝังศพอายุ 7,200 ปี ในอินโดนีเซียเปิดเผยว่ามีเชื้อสายมนุษย์ที่ไม่รู้จักมาก่อน ซึ่งเสียชีวิตตามจุดต่างๆ การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมของซากศพหญิงชรา พบว่า เธอเป็นญาติห่างๆของชาวอะบอริจินและเมลานีเซียน หรือชนพื้นเมืองบนเกาะนิวกินีและแปซิฟิกตะวันตก
ผู้หญิงคนนี้มีสัดส่วนของ DNA ที่สำคัญจากเผ่าพันธุ์มนุษย์โบราณที่รู้จักกันในชื่อเดนิโซแวน เช่นเดียวกับชาวอะบอริจินออสเตรเลียและนิวกินี ดังนั้นบางที อินโดนีเซียและหมู่เกาะโดยรอบจะเป็นจุดนัดพบระหว่างมนุษย์สมัยใหม่กับเดนิโซแวนได้ เรื่องราวนี้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature เมื่อเดือนสิงหาคม 2021
การฝังศพโดยเจตนาที่เก่าแก่ที่สุดในแอฟริกาเกิดขึ้นเมื่อ 78,000 ปีก่อน
เด็กคนหนึ่งถูกฝังไว้ลึกลงไปในถ้ำแห่งหนึ่งในเคนยาเมื่อประมาณ 78,000 ปีก่อน ทำให้เป็นการฝังศพมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ในแอฟริกา โดยเป็นเด็กอายุ 3 ขวบ มีชื่อเล่นว่า “Mtoto” ซึ่งเป็นภาษาสวาฮิลี แปลว่า “เด็ก” นอนขดตัวอยู่ราวกับว่ากำลังนอนหลับอยู่ นักวิจัยพบหัวของเธอถูกวางไว้บนเบาะหรือหมอน
มีการฝังศพของ H.sapiens ที่เก่าแก่กว่านั้น รวมทั้งการฝังศพที่มีอายุเมื่อ 120,000 ปีก่อนในยุโรปและตะวันออกกลาง แต่ซากศพของ Mtoto เป็นการฝังศพมนุษย์โดยเจตนาที่เร็วที่สุดในแอฟริกา ตามผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคมในวารสาร Nature
การวิเคราะห์จีโนมจำนวนมากเผยให้เห็นถึงความสำคัญของคาบสมุทรอาหรับ
การศึกษาจีโนมอาหรับที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาเผยให้เห็นถึงความสำคัญของคาบสมุทรอาหรับที่มีต่อมนุษย์ยุคแรกๆที่อพยพออกจากแอฟริกา โดยศึกษาจาก DNA ของผู้ใหญ่ชาวตะวันออกกลาง 6,218 คนและเปรียบเทียบกับ DNA ของคนโบราณและคนสมัยใหม่จากทั่วทุกมุมโลก
การวิเคราะห์ได้เปิดเผยให้เห็นว่า กลุ่มตะวันออกกลางมีส่วนสนับสนุนทางพันธุกรรมอย่างมากต่อชุมชนยุโรป เอเชียใต้และอเมริกาใต้ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะศาสนาอิสลามที่ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกในช่วง 1,400 ปีที่ผ่านมา ผู้คนในเชื้อสายตะวันออกกลางได้ผสมพันธุ์กับประชากรเหล่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ผลการวิจัยยังระบุด้วยว่า บรรพบุรุษของกลุ่มอาหรับแยกตัวจากชาวแอฟริกาตอนต้นเมื่อประมาณ 90,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่บรรพบุรุษของชาวยุโรปและเอเชียใต้แยกออกจากชาวแอฟริกา เรื่องราวนี้ถูกตีพิมพ์ลงในวรสาร Nature Communications เมื่อเดือนตุลาคม การค้นพบนี้ได้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า มนุษย์ยุคแรกออกจากแอฟริกา และพวกเขาได้เดินทางผ่านประเทศอาระเบียได้ในตอนนั้น
ยีนจากชาวอเมริกันคนแรกตรงกับยีนจากชาวออสเตรเลีย
ชาวอเมริกันกลุ่มแรกที่ข้ามสะพาน Bering Land และเข้าสู่อเมริกาเหนือในช่วงยุคน้ำแข็งสุดท้าย พวกเขามีสิ่งพิเศษบางอย่างในยีนของพวเขา นั่นคือชิ้นส่วนของ DNA ออสตราเลเซียนของบรรพบุรุษ ชาวออสเตราเลเซียนเป็นชนพื้นเมืองจากออสเตรเลีย เมลานีเซีย นิวกินี และหมู่เกาะอันดามันในมหาสมุทรอินเดีย
ชื้นส่วน DNA ของออสตราเลเซียนเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน รุ่นต่อๆมาในชนพื้นเมืองอเมริกาใต้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกกลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันที่จะมี DNA นี้
ซึ่งนั่นก็ทำให้คดเดาได้ว่า อาจมีแนวโน้มว่าจะมีเหตุการณ์เกี่ยวพันกันระหว่างบรรพบุรุษของชาวอเมริกันคนแรกและบรรพบุรุษของชาวออสตราเลเซียนใน Beringia หรือ Siberia ตามผลการศึกษาเดือนเมษายนที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences
รอยเท้าฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในทวีปอเมริกา
เมื่อชาวอเมริกันกลุ่มแรกมาถึงในยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม รอยเท้า 60 รอยที่พบในก้นทะเลสาบโบราณในอุทยานแห่งชาติไวท์แซนด์ รัฐนิวเม็กซิโก มีอายุระหว่าง 23,000 – 21,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีผู้คนมาที่นี่ค่อนข้างเร็ส ซึ่งเร็วกว่าการค้นพบโคลวิสอายุประมาณ 13,000 ปีเมื่อปีก่อน
รอยเท้าเหล่านี้ไม่ใช่หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ในอเมริกา แต่เป็นหลักฐานขั้นสุดท้ายว่าผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่ที่ความสูงของ Last Glacial Maximum ซึ่งกินเวลาตั้งแต่ 26,500 ถึง 19,000 ปีก่อนตามการศึกษาในเดือนกันยายนที่ตีพิมพ์ ในวารสาร Science
พบฟอสซิลเดนิโซวานที่เก่าแก่ที่สุด
ซากดึกดำบรรพ์เดนิโซแวน ที่เก่าแก่ที่สุดที่รู้จักกันนั้นมีอายุประมาณ 200,000 ปี ตามข้อมูลของกระดูกที่เพิ่งค้นพบใหม่ในถ้ำไซบีเรีย
เดนิโซแวนอาจเคยแพร่หลายไปทั่วทวีปเอเชีย ตามการวิจัยเกี่ยวกับ DNA ที่สกัดได้จากฟอสซิลเดนิโซแวนที่ค้นพบ แต่ซานของพวกมันนั้นหายาก จนถึงขณะนี้ มีบุคคลเดนิโซแวนที่รู้จักเพียง 6 คนเท่านั้น โดย 5 คนมาจากถ้ำเดนิโซวาในไซบีเรียและอีกหนึ่งคนมาจากประเทศจีน ด้วยการค้นพบครั้งใหม่นี้ นักวิจัยจึงมีฟอสซิลจากบุคคลเดนิโซแวนเพิ่มอีก 3 คนจากถ้ำเดนิโซวา
หากนักวิจัยยังคงพบว่าเดนิโซแวนยังคงอยู่ บางทีสายพันธุ์ลึกลับนี้อาจจะไม่ลึกลับสำหรับเราอีกต่อไปในอนาคต
ที่มาข้อมูล
https://www.livescience.com/10-discoveries-human-evolution-2021