สุสานแมมมอธ 200,000 ปีถูกค้นพบในอังกฤษ กองซากแมมมอธจะเป็นจุดเชื่อมสำคัญของการสูญพันธุ์ของแมมมอธเมื่อ 200,000 ปีก่อนและเรื่องราวขงอมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลส์
การค้นพบเรื่องราวหรือหลักฐานในอดีต ทำให้มนุษย์วิวัฒนาการขึ้น เชื่อว่ามีบางคนสงสัยว่าทำไมเราต้องเรียนรู้เรื่องราวของประวัติศาสตร์ ในเมื่อมันผ่านมาแล้ว ทำไมต้องไปรื้อฟื้นและการค้นพบหลักฐานในอดีตมันช่วยให้เราเติบโตได้อย่างไร Springnews จะอธิบายให้ฟัง
ประวัติศาสตร์ คือเรื่องราวที่ผ่านมาแล้วแต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นคือวิวัฒนาการของโกลใบนี้ รวมไปถึงการเติบโตของมนุษย์ เราเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ไปทำไม แน่นอนว่าประวัติศาสตร์สอนให้เราไม่ทำพลาดอีก เราไม่สามารถรักษาโรคต่างๆด้วยการผ่าตัดได้ ถ้าคนในอดีตไม่เป็นผู้เสียสละในการทดลอง เราไม่สามารถมีเสื้อผ้าดีๆใส่ได้ ถ้ามนุษย์ยุคนั้นไม่ผ่านการแปรปรวนของสภาพอากาศที่รุนแรง เราคงไม่สามารถกินอาหารได้อย่างอร่อยได้ ถ้ามนุษย์ยุคก่อนไม่รู้จักการปรุงสุก มนุษย์อาจไม่อยู่รอดมาถึงวันนี้ได้ ถ้ายอมแพ้ให้กับภัยธรรมชาติที่รุนแรง บรรพบุรุษของเรานั้นฉลาดและแข็งแรง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนฆาตรกรของโลกใบนี้เช่นเดียวกับเราในตอนนี้
เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยค้นพบ “สุสานแมมมอธ” ขนาดมหึมาแต่ไม่ได้มีเพียงแค่ซากแมมมอธเท่านั้น แต่มันยังเต็มไปด้วยซากกระดูกมนุษย์ ได้แก่ ทารก เด็ก 2 คนและผู้ใหญ่ 2 คน ซึ่งเสียชีวิตในช่วงระหว่างปลายของยุคน้ำแข็งในเหมืองแร่ของเมือง Swindon ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ ที่คาดว่าจะเป็นมนุษย์สปีชีส์นีแอนเดอร์ธัลส์ และจะกลายเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญเพื่อเป็นใบเบิกทางสู่เรื่องราวของอังกฤษเมื่อ 200,000 ปีก่อน ในยุคที่มนุษย์ไม่ได้มีแค่สปีชีส์เดียว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปิดตำนาน แดงซ่า ช้างประจำเขาสอยดาวล้มแล้ว จากเหตุรั้วไฟฟ้าช็อต
ฟอสซิลหมีแพนด้ายักษ์ อายุกว่าแสนปี ถูกค้นพบใน ถ้ำซวงเหอ ถ้ำใหญ่สุดในเอเชีย
การหายตัวไปของเสือโคร่งพิจิตร และความสำคัญของเสือที่กำลังจะสูญพันธุ์
การค้นพบที่สำคัญเพื่อตามหาจิ๊กซอว์ที่หายไปของสหราชอาณาจักร
นอกเหนือจากซากแมมมอธแล้ว นักวิจัยยังค้นพบเครื่องมือหินที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลส์ รวมถึงขวานมือและเครื่องมือหินเหล็กไฟขนาดเล็กที่เรียกว่า 'เครื่องขูด' ซึ่งใช้สำหรับทำความสะอาดหนังสัตว์สดๆที่เพิ่งแล่มา ตามข้อมูลของ DigVentures กลุ่มนักโบราณคดีในสหราชอาณาจักรที่เป็นผู้นำการขุดค้นครั้้งนี้
อย่างไรก็ตาม ทีมงานยังได้วิเคราะห์กระดูกแมมมอธเพื่อดูว่ามีร่องรอยของเครื่องมือชาวนีแอนเดอร์ธัลส์อยู่หรือไม่
Lisa Westcott Wilkoms ผู้ร่วมก่อตั้ง DigVentures กล่าวว่า
“การค้นหากระดูกแมมมอธเป็นเรื่องที่พิเศษเสมอแต่การค้นพบกระดูกที่เก่าแก่และได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี และใกล้เคียงกับเครื่องมือหินในยุคหินด้วยก็เป็นเรื่องที่น่าพิเศษมาก”
นักล่าฟอสซิลสมัครเล่น 2 คน Sally และ Neville Hollingworth เป็นผู้ค้นพบสุสานและเครื่องมือของ นีแอนเดอร์ธัลส์ (Neanderthal) ไม่นานหลังจาก DigVentures ได้จัดกิจกรรมภาคสนาม 2 ฤดูกาลในปี 2019และปี 2020 เพื่อขุดพื้นที่ งานขุดครั้งนี้ทำให้นักโบราณคดีค้นพบซากดึกดำบรรพ์เพิ่มเติม รวมทั้งปีกด้วงที่ละเอียดอ่อน หอยทากน้ำจืดที่เปราะบางและซากแมมมอธ เช่น กระดูกขา ซี่โครง งา และกระดูกสันหลังที่เป็นของแมมมอธทุ่งหญ้าสเตปป์ (Mammuthus trogontherii)และสายพันธุ์ที่มีลูกหลายมากมายอย่าง ‘เมมมอธขนดก(Mammuthus primigenius)’
แม้ว่าแมมมอธสเตปป์ในยุคแรกนั้นเมื่อยืนจะมีความสูงถึง 13.1 ฟุต (4 เมตร) หากวัดถึงไหล่ แต่แมมมอธ 5 ตัวที่พบในสุสานนั้นมีขนาดเล็กกว่า ซึ่งบ่งชี้ว่าสปีชีส์ของแมมมอธในยุคนั้นอาจหดตัวลงในช่วงที่อากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะในยุคน้ำแข็งที่พวกมันอาศัยอยู่ ตามข้อมูลของ DigVentures
นักวิจัยระบุช่วงระยะเวลาหรืออายุของสุสานนี้น่าจะอยู่ในช่วงราวๆ 220,000-210,000 ปีก่อน จนถึงช่วงปลายยุคน้ำแข็งหรือช่วงที่อากาศอบอุ่นขึ้น ซึ่งเป็นช่วงที่มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลส์ยังอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร และเมื่ออุณหภูมิลดลง มนุษย์นีแอนเดอร์ธัลส์ก็เคลื่อนตัวไปทางใต้มากขึ้น
ในอนาคต ทีมงานวางแผนว่าจะเริ่มกันหาคำตอบว่า ทำไมแมมมอธจำนวนมากถึงตาย ณ จุดหนึ่ง และไม่ว่ามนุษย์ยุคหินจะล่าสัตว์หรือกำจัดซากของพวกมันไป แต่หลักฐานก่อนประวัติศาสตร์บางส่วนที่ค้นพบก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่ามนุษย์ยุคหินสะกดรอยตามแมมมอธและช้างเผือกขนาดใหญ่อื่นๆ ตัวอย่างเช่น พบรอยเท้ามนุษย์ยุคหินอายุ 100,000 ปีสำหรับช้างงานตรง (Palaeoloxodon antiquus ช้างสกุลเอเชีย) ทางตอนใต้ของสเปน
การค้นพบสุสานครั้งใหม่นี้อธิบายไว้ในสารคดีของ BBC เรื่อง “Attenborough and the Mammoth Graveyard” ของ BBC ที่นำแสดงโดย Sir David Attenborough และ Ben Garrod นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการที่มหาวิทยาลัย East Anglia ในสหราชอาณาจักร ซึ่งก็ได้เข้าร่วมกับ DigVentures ในสถานที่ถ่ายทำการขุดค้นพบ
คันแคน วิลสัน (Duncan Wilson) หัวหน้าผู้บริหารของ Historic England ซึ่งเป็นหน่วยงานอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของอังกฤษกล่าวว่า
“การค้นพบนี้มีค่ามหาศาลสำหรับการทำความเข้าใจการยึดครองของมนุษย์ในสหราชอาณาจักร และหลักฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ละเอียดอ่อนที่เราได้รับมาจะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องนี้ในแง่บริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีต จากการค้นพบเหล่านี้และผลการวิจัยที่ตามมา เราตั้งตารอที่จะได้เห้นแสงสว่างเพิ่มเติมเกี่ยวกับสหราชอาณาจักรเมื่อ 200,000 ปีก่อน”
งานนี้ส่วนหนึ่งได้รับทุนมาจาก Historic England และได้รับการสนับสนุนจาก Keith Wilkinson แห่ง ARCA ที่มหาวิทยาลัย Winchester เจ้าของที่ดิน Hills Group Quarry Products และทีมผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัยหลายแห่งในสหราชอาณาจักร
สปีชีส์มนุษย์ ไม่ได้มีแค่โฮโมเซเปียนส์
หนังสือ Sapiens ได้อธิบายมนุษย์อีกสปีชีส์หนึ่งที่นอกเหนือจากเซเปียนซ์หรือก็คือสปีชีส์ของมนุษย์เราในปัจจุบัน เมื่อราวๆ 50,000 ปีก่อน มนุษย์มีอย่างน้อย 6 สปีชีส์ เพราะน่าแปลกไหมล่ะ สงสัยกันไหมว่าทำไมสัตว์เกือบทุกชนิดมีสปีชีส์ที่แตกต่างกันออกไป แต่ทำไมมนุษย์เราถึงไม่มีสปีชีส์ ในความเป็นจริงเรา มนุษย์เราเคยมีสปีชีส์เหมือนสัตว์ทั่วไปนั่นแหละ แต่พวกเขาเหล่านั้นได้สาบสูญหายไป หรือเรียกอีกอย่างว่า ‘สูญพันธุ์’
สปีชีส์ของมนุษย์เมื่อ 50,000 ปีก่อน มีทั้งหมด 6 สปีชีส์คือ
แต่ที่จะเน้นกันในบทความนี้คือ นีแอนเดอร์ธัลส์
การมีอยู่ของนีแอนเดอร์ธัลส์ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1856 ที่ถ้ำเฟลด์โฮเฟอร์ในหุบเขาเนอันเดอร์ ทางตอนเหนือของเยอรมนี
หากเปรียบเทียบทางกายภาพกับมนุษย์สมัยใหม่ นีแอนเดอร์ธัลส์นั้น มีรูปร่างที่กำยำล่ำสัน แข็งแรงกว่าสปีชีส์อื่นๆ มีขาและท่อนล่างที่สั้นกว่า และมีภูมิคุ้มกันโรคที่ดีกว่ามนุษย์ในปัจจุบัน มีประสิทธิภาพในการหายใจสูงกว่ามนุษย์สายพันธุ์อื่น จากงานวิจัยการค้นพบ ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่านีแอนเดอร์ธัลส์มีฟันตัดซี่ใหญ่ มีร่องรอยการสึกกร่อนของฟันอยู่มาก คาดว่าพวกเขาใช้ฟันคาบสิ่งของแทนการถือด้วยมือ นั่นจึงทำให้ขากรรไกรและฟันของนีแอนเดอร์ธัลส์มีประสิทธิภาพอ่อนแอกว่ามนุษย์ยุคใหม่ แต่สามารถทนอยู่กับสภาพอากาศที่หนาวจัดได้ ด้วยการเคลื่อนที่ตลอดเพื่อเผาผลาญพลังงานให้ได้ราวๆ 4,480 กิโลแคลอรีต่อวัน และอาจเป็นเพราะความสามารถในการหายใจที่มีประสิทธิภาพนั้น นักวิทย์คาดว่าสิ่งนี้เองส่งผลให้ใบหน้าของนีแอนเดอร์ธัลส์มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
บทสรุปของกองศพของแมมมอธจำนวนมาก ใครคือคนร้าย มนุษย์หรือภัยธรรมชาติ?
ไม่เพียงแค่แมมมอธเท่านั้นที่หลับไหลอยู่ใต้พิภพนี้ หรือสูญพันธุ์ไป หนังสือเซเปียนส์ยังได้อธิบายถึงผู้ร้ายของการสูญพันธุ์ที่แท้จริง
ในออสเตรเลีย เมื่อ 50,000 ปีก่อน จิงโจ้ที่สูงราว 2 เมตรหนักราว 200กิโลกรัม หรือสิงโตมีถุงหน้าท้อง ฉายานักล่าแห่งออสซี่ ขนาดตัวเท่าเสือปัจจุบัน กิ้งก่ามังกร และงูยาว 5 เมตร หรือไดโปรโตดอนยักษ์ หรือก็คือวอมแบตขนาด 2.5 ตัน ที่เคยตระเวนไปตามป่า พวกมันหายตัวไปเพียงไม่กี่พันปีหลังโฮโมเซเปียนส์เดินทางไปถึง
เรื่องทำนองเดียวกัยก็เกิดขึ้นกับแมมมอธของเกาะแรงเกลในมหาสมุทรอาร์กติกทางตอนเหนือของไซบีเรีย 200 กิโลเมตร แมมมอธมีชีวิตอยู่ได้เป็นอย่างดีนานนับล้านๆปี จนเมื่อโฮโมเซเปียนส์กระจายตัวข้ามยูเรเชียและข้ามไปอเมริกาเหนือ พวกแมมมอธก็เริ่มล่าถอยออกไป จน 10,000 ปีก่อนก็ไม่เหลือแมมมอธที่ใดอีกเลย ยกเว้นเกาะแถบอาร์กติก โดยเฉพาะแรงเกล
แน่นอนว่ามีการโต้เถียงกันในเรื่องของสภาพอากาศที่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้พวกมันหายสาบสูญไปด้วย สรุปสั้นๆได้ว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้การใช้ชีวิตของสัตว์ยากขึ้นอยู่แล้ว มนุษย์เข้าไปสมทบความยากลำบากนั้นด้วยการล่า และการผสมพันธุ์และการตั้งท้องของสัตว์นั้นใช้เวลานาน โดยเฉพาะแมมมอธ มนุษย์ล่าโดยไม่เว้นช่วงพักให้สัตว์ได้ฟื้นฟู จึงไม่แปลกที่มันจะหายไป
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือ เซเปียนส์ (Sapiens) ตามร้านขายหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ
ที่มาข้อมูล
https://www.livescience.com/ice-age-mammoth-graveyard-uk