Dont Look Up Just Look Around ไม่ต้องแหงนมองบนท้องฟ้าก็ได้ เพราะรอบตัวเราก็คือหายนะ ระเบิดเวลาที่ไม่รอการพุ่งชนของดาวหาง แต่เรากำลังรอความตายเพราะตัวเราเองจากภาวะโลกร้อน
ภาพยนตร์ Don’t Look Up เมื่อโลกกำลังเข้าสู่หายนะ แต่กลับไม่มีใครสนใจและมองว่ามันเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ แม้แต่ผู้นำก็เฮงซวย ประจบสอพลอแต่กับนักธุรกิจและชื่อเสียงของตนเอง แม้กระทั่งสำนักข่าวเอง สื่อต่างๆยังมองเรื่องซีเรียสเหล่านี้เป็นเรื่องขำขัน แต่นอกจากเรื่องจะเน้นไปที่ประเด็นทางการเมือง และสังคมที่เพิกเฉยต่อสิ่งที่หลายคนคิดว่าไม่น่าเป็นไปได้แล้วล่ะก็ อีกประเด็นนึงที่น่าสนใจคือการเกิดขึ้นของดาวหางที่กำลังพุ่งชนโลกในอีก 6 เดือน แต่กว่าผู้คนจะตื่นรู้ก็สายไปเสียแล้ว นั่นก็เปรียบเสมือนสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังนับถอยหลังสู่อุณหภูมิของโลกที่กำลังสูงขึ้น อันนำไปสู่หายนะของมวลมนุษยชาติ ที่ยากจะย้อนกลับมาแก้ไขได้แล้ว แต่ตอนนี้ผู้คนแต่ละประเทศตื่นรู้มากแค่ไหนแล้ว
โลกนี้มีเดดไลน์ คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าเดดไลน์ของคุณจะหมดลงเมื่อไหร่ บทความนี้มีคำตอบ
Springnews ชวนรู้จัก Climate Clock นาฬิกานับถอยหลังสู่อุณหภูมิโลกที่กำลังจะแตะไปถึง 1.5 องศาเซลเซียส ห่างออกไป 80 ฟุต มองแหงนสูงตระหง่านไปสี่ชั้นเหนือ Union Square ของนิวยอร์ก จะพบกับจดหมายสีส้มที่กำลังนับเวลาถอยหลังสู่เวลาที่เหลืออยู่ของมนุษย์ ถ้าหากเราไม่กอบกู้บ้านตัวเองที่เป็นบ้านแห่งเดียวหลังนี้ล่ะก็ เราได้จบเห่แน่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การประชุม COP26 จบแล้วยังไงต่อดี? สรุปสาระสำคัญจากการหารือของผู้นำโลก
ป้ายโฆษณาใช้ ขยะจริง ประกอบงานป้าย กระตุ้นคนฉุกคิดปัญหาสิ่งแวดล้อม
COP26 เรื่องเงินๆทองๆในการชดใช้ค่าเสียหายจากภาวะโลกร้อนของประเทศร่ำรวย
เกรต้า ธันเบิร์ก ซัดแรง ประชุม "COP26" แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็แค่งาน PR ผู้นำ
เพื่อเตือนให้เราไม่ทำกิจกรรมเพิ่มอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กลายเป็นสิ่งที่ไม่อาจหวนคืนไปแก้ไขได้แล้ว ตอนนี้เราทุกคนมีเวลาเหลืออีก 7 ปี 204 วัน เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นที่น่าตกใจ และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับไม่ค่อยมีใครสนใจและเล็งเห็นถึงความสำคัญของภาวะโลกร้อนที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ตอนนี้!
นาฬิกา Climate Clock นี้เป็นผลงานความร่วมมือของนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ Gan Golan และ Andrew Boyd ในส่วนของการออกแบบ Art-Fixer นั้น ผู้ออกแบบคือ Katie Peyton Hofstadter ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Adrian Carpenter และทีมสนับสนุนคลัตส์ ทีมนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ และสำนักนายกเทศมนตรี เป็นผู้ที่สนับสนุนและติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด และนี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกของพวกเขาในการสร้างความตระหนักให้กับผู้คนทั่วโลก
ในปี 2009 ธนาคารดอยซ์แบงค์ (Deutsche Bank) ได้สร้างป้ายโฆษณา Carbon Counter เหนือไทม์สแควร์ของนิวยอร์ก เพื่อติดตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย (ขณะนั้นประมาณ 2 พันล้านตันต่อเดือน)
ปี 2015 David Usher นักดนตรี และนักวิทยาศาสตร์ Damon Matthews เริ่มจัดทำนาฬิกาแสดงสภาพอากาศออนไลน์ที่ Human Impack Lab ของมหาวิทยาลัย Concordia ซึ่งนอกจากจะแสดงค่าคาร์บอน อุณหภูมิและเวลาทั่วไปแล้ว ก็ยังมีนาฬิกาหน้าเว็บออนไลน์อีกที่คือ Bloomberg Carbon Clock ซึ่งก็เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 2015 ด้วยเช่นกัน
ปี 2018 The 2° Window เป็นโครงการแนวคิดเชิงศิลปะโดย Andy McWilliams และ Amay Kataria ซึ่งได้เผยแพร่ทางออนไลน์ และได้รับการติดตั้งในแกลเลอรีไม่กี่แห่งในปีถัดมา
และปี 2019 นาฬิกาคาร์บอนเบอร์ลิน เป็นประติมากรรม LED ขนาดใหญ่ ได้รับการติดตั้งโดย Fridays for Future และ EUREF บน Gasometer ที่มีชื่อเสียงในกรุงเบอร์ลิน
ด้วยแรงบันดาลใจจากความพยายามเหล่านี้ และพวกเขาตระหนักดีว่าโลกต้องการนาฬิกาสภาพอากาศมากกว่าเว็บไซต์หรือการทดลองงานศิลปะเพียงครั้งเดียว ทีมงาน New York Climate Clock ได้รวบรวมข้อเสนอที่ดีกว่าที่จะสามารถเชื่อมต่อได้ทั่วโลก แต่โครงการนี้ถูกละเลยมาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี
แต่มันถูกกลับมากระตุ้นอีกครั้งเพราะ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) ในขณะที่ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่หน้าสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เธอถือนาฬิกาไว้ระหว่างพูดเป็นระยะเวลา 9 วันที่เธออยู่ตรงนั้น ทางทีมงานที่ติดตามเรื่องนี้จึงได้ตัดสินใจส่งสัญญาณให้ทีมออกแบบให้เริ่มลงมือกับโครงการที่ค้างไว้ได้เลย และเรียกรวมทีมงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อสร้างนาฬิกา พวกเขาไม่ได้เพียงแต่ทำนาฬิกาให้เกรตาเท่านั้น แต่เพราะคำกล่าวสุนทรพจน์ของเธอ ทำใหเกิดความสนใจในสังคมกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ประจวบกับนาฬิกาเสร็จพอดี จึงได้ทำการเปิดตัวนาฬิกา Climate Clock อย่างเต็มรูปแบบและก็ได้เสียงตอบรับอย่างดีเพราะส่วนหนึ่งมาจากเกรตา
นาฬิกานี้เปรียบเสมือนระเบิดเวลา ที่ทำให้ UN ปฏิเสธในตอนแรกอย่างฉุนเฉียวเพราะสร้างความตระหนกแก่ประชาชน แต่พวกเขาก็ได้ตั้งคำถามกลับว่า นั่นเป็นเรื่องจริงเหรอ แล้วตัวเลขเหล่านี้เป็นของจริงไหม และก็เริ่มมีการขบคิดและถกเถียงกันอยู่ช่วงหนึ่งในช่วงตอนแรกของการเปิดตัวนาฬิกา
ในปีนี้ แม้ว่านาฬิกา Climate Clock เหล่านี้จะยังคงเดินนับเวลาต่อไปเรื่อยๆไม่มีทีท่าลดน้อยถอยลง แต่ผู้คนอีกหลายล้านคนกำลังเพิกเฉยต่อสิ่งที่พวกเราพยายามพร่ำบอกเสมอ จากการประชุม COP26 ที่กรุงกลาสโกลว์ ประเทศสก็อตแลนด์เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา แม้มันดูเหมือนจะสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ต่อสู้และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ในด้านของการรับรู้ของเหล่าผู้นำและการกำหนดนโยบายร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นการรับทราบแล้วว่าโลกกำลังเผชิญกับอะไร และสิ่งที่ตามมาคือการจับตาดูและการลงมือทำ ว่าผู้นำเหล่านี้จะลงมือทำให้ได้เหมือนที่พูดไว้ไหม
ตอนนี้โลกของเราเดินทางมาถึง 1.2 องศาเซลเซียสแล้ว เราเหลือเวลาอีกไม่มากในการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิไม่ให้สูงไปมากกว่านี้ แม้ว่าตอนนี้การจัดการของภาครัฐนั้นจะยังคงไม่สามารถทำได้ทันที แต่ภาคประชาชนสามารถร่วมมือกันได้ แม้ว่ามันอาจจะไม่มากเท่ากับการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากภาครัฐและภาคเอกชน
สิ่งที่โลกต้องการตอนนี้คือการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็น 0 หรือ zero-emission ปล่อยเท่าไหร่ ลดเท่านั้น และยกเลิกการขุดหรือใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืนและร่อยหรอเร็วที่สุด ยากที่จะฟื้นฟู ภาคครัวเรือนก็ทำได้เพียงแค่ไม่เพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศโดยไม่จำเป็น แยกขยะให้ถูกวิธี ใช้ของให้เหมาะสมกับอายุการใช้งาน กินอาหารอย่างพอดี เหลือขยะอาหารให้น้อยที่สุด
ก่อนจากไป ขอย้อนกลับมาที่เรื่องราวในภาพยนตร์นิดนึง
ในความเป็นจริง ถ้าเกิดเหตุการณ์ดาวหางพุ่งเข้าชนโลกจริงๆสักวัน เราก็คงไม่รู้หรอกว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อถือมากขนาดไหน เพราะทุกวันนี้เราไม่เคยเจอเรื่องที่ต้องถึงกับสูญพันธุ์มนุษยชาติขนาดนั้นจริงๆสักทีแบบกระทันหัน หรือแม้จะเคยได้ยินแต่ทุกครั้งก็รอดไปได้เพราะมันเปลี่ยนวิถีเส้นทางก็มี แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมแบบนี้ที่เริ่มมีการสัญญาณเตือนมาเป็นระยะๆอย่างต่อเนื่องหลายปี หลายคนก็ยังมองว่ายังไงมันก็ไปไม่ถึงหรอก เช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่ผู้คนคิดว่ามันเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ แต่ถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆล่ะ คณยอมที่จะค่อยๆสูญหายไปใช่หรือไม่
เฉกเช่นเดียวกับเรื่องล่ำลือของน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ที่หลายคนอาจมองว่า บ้าเหรอ! มันจะเกิดขึ้นได้ไง? กรุงเทพฯเนี่ยนะจะจมน้ำ นี่มันชีวิตจริงไม่ใช่หนังเรื่อง 2012 นะ แต่คุณอย่าชะล่าใจไป เพราะเราเคยหวาดเสียวกับคำทำนายไปแล้ว แต่ก็อาจเสียวสันหลังได้อีกหากคำทำนายนั้นกลับกลายมาเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือได้
งานวิจัยชิ้นใหม่โดย Climate Central แสดงให้เห็นว่าเส้นทางการปล่อยมลพิษในปัจจุบันเป็นหนทางนำไปสู่ภาวะโลกร้อนที่ร้อนขึ้น 3 องศาเซียลเซียสในเมืองใหญ่ทั่วโลกประมาณ 50 เมือง ซึ่งต้องหารทางป้องกันและแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะสูญเสียพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นไป จากการหนุนของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายร้อยปี จากการสะสมของมลภาวะในตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา และกรุงเทพฯคือหนึ่งในเมืองที่จะจมน้ำตามการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์
นี่เป็นตัวอย่างของการชะล่าใจแม้ว่าจะมีหลักฐานจากนักวิจัยหรือนักวิทยาศาสตร์มากมาย แต่คนทั่วโลกหลายล้านคนยังคงเพิกเฉยต่อการคืบคลานของหายนะ หากไม่รีบแก้ไขตอนนี้ คุณล่ะอยากเปลี่ยนแปลงไหม? ปีใหม่นี้มอบสิ่งที่ดีให้กับโลกกันเถอะ
ที่มาข้อมูล