เจนมิลเลนเนียมและอัลฟ่าอยากเป็นนายตัวเอง เป็นผู้ประกอบการ เป็นสตาร์ทอัพกันมากมาย แต่เส้นทางนี้ไม่ได้ราบเรียบอย่างที่หวัง หลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการจึงได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ผู้เรียนจะได้เรียนอะไร ผู้สอนสอนอย่างไรถึงจะเวิร์กในยุคหลังโควิด-19
ได้ยินชื่อ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) หลายคนอาจนึกถึงสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และอดีตอธิการบดี สจล. พี่เอ้ - ดร.สุชัชชวี สุวรรณสวัสดิ์ ที่ลาออกจากตำแหน่งแล้ว และคนก็ยังจับจ้องทั้งตัวดอกเตอร์และก้าวต่อไปของสถาบันการศึกษา ว่าจะตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเจเนอเรชันใหม่ที่อยากเป็น ผู้ประกอบการ อย่างไร
อัปเดตการเรียนการสอนหลังสถานการณ์โควิด-19
เพื่อส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ SPRiNG ทราบมาว่าหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการระดับโลก (นานาชาติ) หรือ BBAGE, KMITL Business School (KBS) เป็นหลักสูตรอินเตอร์ของ สจล.ที่แตกไลน์ออกมาได้ไม่นาน และสำหรับความเปลี่ยนแปลงสารพัดที่เกิดขึ้น ผศ.ดร.สุดาพร สาวม่วง คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KBS) เปิดเผยว่า รูปแบบการเรียนการสอนในอนาคตของระดับอุดมศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
คือ จะมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น การเรียนการสอนจะทำผ่านระบบออนไลน์ และทั้งผู้เรียนผู้สอนอยู่สถานที่ใดก็ได้ในโลก แค่มีอินเทอร์เน็ตก็สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา
“พฤติกรรมผู้สอนออนไลน์ ต้องเท่าทัน เอาใจใส่ เรียนรู้มากขึ้น อำนวยความสะดวกนักศึกษาอย่างเต็มที่ คือผู้สอนต้องเป็นดีเจเปิดเพลง เป็นโปรแกรมเมอร์ ต้องเต้น ต้องบรรยาย เล่นเกมแจกของรางวัลจูงใจ เตรียมบทเรียน เตรียมเทคนิคการสอนในรูปแบบต่างๆ ต้องสร้างสรรค์กิจกรรม การบรรยายเนื้อหาผ่านระบบออนไลน์ไม่ควรเกินครึ่งชั่วโมง เวลาที่เหลือก็นำเอาความรู้แทรกในกิจกรรม ในขณะที่การเรียนปกติแบบเดิมใช้เวลา 3 ชั่วโมง" ผศ.ดร. สุดาพรกล่าว
แนวคิดในการพาผู้ประกอบการบุกตลาดโลก
สจล.ผลักดันให้คณะบริหารธุรกิจมีความเป็นนานาชาติในทุกๆ ด้าน ทั้งอาคารสถานที่ คณาจารย์ บุคลากร สิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมถึงการเพิ่มสาขาวิชาการเป็นผู้ประกอบการระดับโลก (นานาชาติ) หรือ BBAGE เข้ามา
คณะบริหารธุรกิจเป็นคณะที่มีผู้เรียนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ ปากีสถาน บรูไน ออสเตรีย ออสเตรเลีย และทุกประเทศในอาเซียน โดยในสาขา BBAGE ผศ.ดร. ฉัตรชัย ฉัตรปุณญกุล ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการผู้ประกอบการระดับโลก (นานาชาติ) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกระบวนการเรียนการสอนที่จะไม่กลับไปเป็นแบบเดิม ดังนี้
SPRiNG : รูปแบบการสอนท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 เป็นอย่างไร
ผศ.ดร. ฉัตรชัย : พอมีโควิด สถานการณ์มันบังคับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสอนที่เปลี่ยนมาใช้ Microsoft Team, Zoom เอกสารที่ใช้สอนก็เปลี่ยนมาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นหลัก แล้วก็จะมีพวก assignment ที่เราให้ผู้เรียนทำผ่านแพลตฟอร์ม LMS (Learning Management System) ของ สจล.
SPRiNG : ผู้เรียนมีความพร้อมมากแค่ไหน เพราะนอกจากโควิดยังมี Digital Disruption ที่เข้ามาเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
ผศ.ดร. ฉัตรชัย : ตอนแรกให้นักเรียนโชว์หน้า แต่นักศึกษามีความเครียด เราจึงไม่ได้ไปกดดันเขามาก ว่าต้องเปิดกล้องนะ ต้องเช็กชื่อตลอด เพราะว่านักศึกษาบางคนก็ไม่พร้อม
การเรียนออนไลน์ เห็นได้ชัดว่า ประสิทธิภาพในการเรียนลดลงสำหรับบางกลุ่มนะครับ บางคนอาจจะเหมือนเดิม มันต่างจากการสอนในห้อง เพราะเวลาเราบรรยายจะมีปฏิสัมพันธ์ได้ทันที
แต่ข้อดีคือ ทางออนไลน์ เราสามารถให้เขาหาข้อมูล เรา assign งานได้เลยว่า จะให้ไปเสิร์ชเว็บไหน หรือเปิดให้ดู แชร์กันดูได้ มันก็จะง่ายขึ้นเวลาเด็กทำพรีเซนต์ หรือ assign ให้เขาอัดคลิป เขาก็จะมีความสามารถในการทำคลิป การใช้งานสื่อดิจิทัล และรู้จักหาข้อมูลนอกห้องเรียนได้เยอะขึ้น
SPRiNG : อยากทราบวิธีคัดเลือกผู้เรียนและจำนวนนักศึกษา ณ ปัจจุบัน
ผศ.ดร. ฉัตรชัย : เราคัดเลือกจากการสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษและวัตถุประสงค์การสมัครเรียน แล้วเราก็จะโฟกัสว่า เขามี passion ที่จะเป็นผู้ประกอบการมากแค่ไหน หลักสูตร BBAGE นี้เปิดมาได้ 2 ปี โดยขยายออกมาจากภาคอินเตอร์ ตอนนี้ปี 1 มีอยู่ประมาณ 30 คน ปี 2 มีประมาณ 40 คน มีเด็กจีน เด็กไทย แต่เด็กจีนเยอะกว่า ส่วนเด็กไทยก็มาจากโรงเรียนนานาชาติหรือโปรแกรม 2 ภาษา
SPRiNG : อาจารย์นำกรณีศึกษาด้านไหนมาสอนบ้าง แล้วประสิทธิภาพของผู้เรียนเป็นอย่างไร
ผศ.ดร. ฉัตรชัย : เราก็จะให้กรณีศึกษาเรื่อง Crowdfunding ของสตาร์ทอัพ assign ให้เขาไปดูแพลตฟอร์ม Crowdfunding ต่างๆ แนะให้ดู pitching ทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งนี่ถือเป็นข้อดีของเทคโนโลยีดิจิทัล และทำให้เราพบว่ามีเด็กไทยเก่งเยอะ ส่วนเด็กจีนก็เก่งพอๆ กัน
SPRiNG : มายด์เซ็ตของ "ผู้ประกอบการ" กับ "สตาร์ทอัพ" เหมือนกันไหม
ผศ.ดร. ฉัตรชัย : คำว่า ผู้ประกอบการ เป็นร่มใหญ่ของคำว่า สตาร์ทอัพ ส่วนมายด์เซ็ตมีพื้นฐานเดียวกันคือ ต้องการสร้างธุรกิจ แต่เราจะเน้นว่า สร้างธุรกิจที่มันสร้างสรรค์ ไม่ใช่แค่ว่า เราเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวขึ้นมาร้านหนึ่ง เพราะก็ต้องมีการจัดการ หา pain point และวิธีแก้ปัญหา ว่าลูกค้าต้องการอะไร หาความแตกต่าง แล้วจะใช้เครื่องมือดิจิทัลได้อย่างไรบ้าง
ผู้ประกอบการ ก็คล้ายๆ กับสตาร์ทอัพ แต่ไม่จำเป็นจะต้องมีแอปอย่างเดียวหรือต้องไประดมทุน (Raise Fund) ขณะที่ SME ทำแค่เปิดร้านขายของชำ ขายก๋วยเตี๋ยว
SPRiNG : สอนเรื่องความล้มเหลว หรือ Fail Fast, Learn Faster ด้วยหรือเปล่า
ผศ.ดร. ฉัตรชัย : เราสอนทั้ง Fail fast and learn faster, Design Thinking, Scrum, Agile ฝึกให้เขาหา Business Idea แล้วก็ทำการทดลองเล็กๆ เพื่อเขาจะได้เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าที่เขาคิด ลูกค้ามองอยู่ หรือไม่ได้มอง ถ้าไม่สนใจ เขาก็จะรู้ว่ามัน Fail นะ แต่ไม่ได้เป็นอะไรใหญ่มาก เพราะอยู่ในช่วงทดลอง เขาก็จะได้เรียนรู้ต่อ
SPRiNG : เนื้อหาหรือองค์ความรู้เก่ายังใช้สอนไหม
ผศ.ดร. ฉัตรชัย : มีบางส่วน แต่เนื้อหาบางส่วนก็เพิ่มขึ้นมาใหม่ เช่น สอนการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการทำธุรกิจให้ถูกต้อง เพราะแต่ก่อนผู้ประกอบการไม่ได้ดูการตลาด ส่วนมากทำธุรกิจแบบคิดไปเอง เช่น ก๋วยเตี๋ยวนี้อร่อยนะ เราก็สอนการใช้ Data เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพและปริมาณ และยังมีวิชา IoT for Business เพื่อหาโอกาสในการทำธุรกิจ Digital Marketing, e-Commerce ก็มีอยู่แล้ว
SPRiNG : เทรนด์ Metaverse มาแน่ ทางคณะหรือสาขาวิชาของอาจารย์เตรียมการสอนด้านนี้หรือยัง
ผศ.ดร. ฉัตรชัย : ตอนนี้ยังไม่มีวิชาที่รองรับ Metaverse โดยตรงเพราะค่อนข้างใหม่ ต้องขอเวลาปรับเนื้อหาก่อน เร็วๆ นี้จะประชุมหลักสูตรเรื่องนี้ครับ
SPRiNG : ความท้าทายเมื่อต้องสอนวิชาการเป็นผู้ประกอบการในยุคหลังโควิด
ผศ.ดร. ฉัตรชัย : ปัจจุบันโลกธุรกิจปรับเปลี่ยนเร็วมาก ทฤษฎีหลายทฤษฎีมาแป๊บเดียวก็ต้องเปลี่ยนแล้ว อาจารย์ ผู้บริหาร เราก็ต้องตามเทรนด์พอสมควร ปกติ สจล.จะเปลี่ยนหลักสูตรทุก 5 ปี แต่ตอนนี้เฉลี่ยทุกๆ 3 ปี เพื่อให้ทันเทรนด์ต่างๆ และดูว่าวิชาไหนควรเพิ่ม วิชาไหนควรลด เพื่อให้ทันสถานการณ์โลก