The Nation Thailand ร่วมกับ SpringNews จัดงาน “Thailand Startup in Post Covid Era 2022” ซึ่งมีปาฐกถาพิเศษ ประสบการณ์พัฒนาสตาร์ทอัพของออสเตรเลีย โดยทูตออสเตรเลีย และ “สตาร์ทอัพ ขุนพลเศรษฐกิจไทยตัวใหม่ จะมีทิศทางอย่างไร” Virtual Forum โดยผู้บริหาร ปตท. ซีอีโอ QueQ และ Bitkub
สำหรับการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ ประสบการณ์พัฒนาสตาร์ทอัพของออสเตรเลีย จากงาน “Thailand Startup in Post Covid Era 2022” ได้รับเกียรติจาก มร.อัลลัน แมคคินนอน เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย กล่าวถึงประเทศออสเตรเลียกับประเทศไทยว่า สามารถเรียนรู้จากกันและกันได้
มร.อัลลัน เริ่มกล่าวถึงจุดเด่นของออสเตรเลียว่า เป็นประเทศที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยว โรงไฟฟ้า เหมืองแร่ และเกษตรกรรม เป็นประเทศที่มีมหาวิทยาลัยระดับเวิลด์คลาส และมีระบบสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง นั่นคือ Australian Landing Pads โครงการที่ช่วยขยายธุรกิจให้สตาร์ทอัพในออสเตรเลียเพื่อไปต่อได้ในระดับสากล เช่น การเปิดพื้นที่ให้สตาร์ทอัพได้รู้จักนักลงทุน รู้จักผู้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจ (Mentors) ตลอดจนพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจด้านต่างๆ
“จากการจัดอันดับความเข้มแข็งของระบบนิเวศสตาร์ทอัพ 1,000 เมือง ใน 100 ประเทศทั่วโลกประจำปี 2021 ออสเตรเลียอยู่อันดับที่ 9 ของโลก และถ้าดูในเอเชียแปซิฟิก เราเป็นรองเพียงประเทศจีน และยังนำหน้าสิงคโปร์อีกด้วย ส่วนดัชนีสตาร์ทอัพอีกแห่งจัดอันดับให้ออสเตรเลียเป็นอันดับ 1 ด้าน Technology Readiness Level เท่าสิงคโปร์กับสวีเดน”
Atlassian, Canva, Afterpay คือสตาร์ทอัพออสเตรเลียที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกและมีมูลค่าเป็นพันล้านดอลลาร์ จากการเริ่มต้นกิจกรรมที่รัฐบาลสนับสนุนในซิดนีย์กับเมลเบิร์น และแหล่งเงินของสตาร์ทอัพเหล่านี้ก็กระจายอยู่ทั่วประเทศ
“GDP และอัตราการจ้างงานที่เกิดจากธุรกิจสตาร์ทอัพนั้น น่าเหลือเชื่อ แม้ว่าบริษัทสตาร์ทอัพจะไม่ใหญ่มาก แต่ก็สามารถสร้าง GDP สูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการจ้างแรงงานมากถึง 13 ล้านตำแหน่ง"
สตาร์ทอัพจึงเป็น Engine สำคัญของระบบเศรษฐกิจ แต่เมื่อเกิดกฤตโควิด ธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวนมากได้รับผลกระทบอย่างหนัก บางรายต้องเลิกกิจการ เนื่องจากผู้ประกอบการ นักลงทุน เข้าออกประเทศยากขึ้น เงินลงทุนจากทั่วโลกหดหายราว 20%
รัฐบาลออสเตรเลียจึงอัดเงินเข้าระบบคุ้มครองแรงงาน สนับสนุนความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การจัดทำ JobKeeper โครงการแรกที่รัฐบาลมอบเงินจำนวน 2.5 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยสตาร์ทอัพกว่า 3.5 ล้านราย และเอสเอ็มอีกว่า 800,000 รายทั่วประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้การสนับสนุนและช่วยเหลือสตาร์ทอัพที่ขยายธุรกิจจากออสเตรเลียไปยังพื้นที่ต่างๆ ผ่านศูนย์ที่จัดตั้งขึ้น 5 แห่งทั่วโลก
คำกล่าวของ มร.อัลเลน จึงบ่งบอกได้ชัดเจนว่า ภาครัฐมีบทบาทหลักในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตและอยู่รอดทั้งระบบนิเวศ
ด้านงานสัมมนาเสมือนจริง “สตาร์ทอัพ ขุนพลเศรษฐกิจไทยตัวใหม่ จะมีทิศทางอย่างไร” ผู้บริหารองค์กรชั้นนำและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพดาวรุ่งที่มาร่วมสัมมนา ได้แก่ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ปตท., คุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด และคุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ ปตท. กล่าวถึงการเข้ามารับบทบาทผลักดันนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนภาพขององค์กรระดับชาติที่ต้องปรับเปลี่ยนขนานใหญ่
“ด้วยสถานการณ์ที่ทุกคนก็ทราบว่าในอนาคต ธุรกิจที่เป็น Oriented Gas ต้องเผชิญเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สังคมที่เป็น Low Carbon Society เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ทาง ปตท. เองจึงเปลี่ยนวิสัยทัศน์เป็น บริษัทพลังงานข้ามชาติ เพื่อเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนทุกชีวิต และนี่จึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อเป็นพลังแห่งอนาคต”
ช่วงหลังโควิด ดร.บุรณินเผยว่า ความร่วมมือร่วมใจระหว่างองค์กรที่จะมีมากขึ้น แต่อาจก้าวไปสู่จุดที่ไม่มีความชัดเจนว่า ใครเป็นผู้นำหรือผู้เล่นหลัก
"เราอยู่ในยุคฟิวชัน แยกไม่ออกว่าอันไหนคือ Core technology เช่น เรื่องพลังงานอาจจะไปต่อกับดิจิทัล ผมว่าบริษัทใหญ่ๆ ก็กังวลนะครับ เพราะไม่รู้ว่าใครคือเจ้าเทคโนโลยีและใครคือคู่แข่ง ช่วงหลังโควิดจึงเป็นช่วงที่เทคโนโลยีเบ่งบานและเป็น DeepTech มากขึ้น"
หากเป็นคนเมืองที่อยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น อาจได้เห็นหรือใช้บริการ QueQ (คิวคิว) แพลตฟอร์มจองคิวล่วงหน้าตามร้านอาหาร ที่ขยายสู่การใช้งานในกลุ่มโรงพยาบาล และประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง คุณรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด เผยทิศทางธุรกิจของ QueQ ในยุคหลังโควิดว่า
“บริษัทต้องการจะเป็น touchpoint ของผู้ให้บริการและรับบริการ เราต้องการเชื่อมทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันและแก้ปัญหา ซึ่งหลังจากที่คนคุ้นชินกับการเข้าคิว การใช้งานแอปรับคิว จะกลายเป็น Digital Service Enabler เชื่อมต่อโรงพยาบาล ภาคสาธารณสุข ซึ่งตอนนี้เราก็เดินหน้ากันพอสมควร หรือทำบริการให้เข้ากับภาคเมือง เข้ากับพื้นที่ เช่น การตรวจสอบความปลอดภัยของคนที่จะเข้าเมือง”
มาที่ คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ผู้ก่อตั้ง Bitkub สตาร์ทอัพไทยที่กำลังมาแรงในฐานะของแพลตฟอร์มการเงินเพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล กล่าวถึง โควิด-19 ว่า เป็นเพียงตัวเร่งให้เทคโนโลยีและสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน โลกกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางนี้ เห็นได้จากผู้คนทั่วโลกทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตจึงทำงานจากที่ไหนก็ได้ โรงแรมต่างๆ ก็เปลี่ยน มารองรับ Workation มากกว่า Vacation กลายเป็นทางเลือกแบบ Longer-term stay และที่สำคัญ บริษัทต่างๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ใจกลางเมืองอีกต่อไป
คุณจิรายุสเล่าถึงทีม Bitkub ว่า ใช้มากกว่า 50 แอปพลิเคชันในการทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งเหมาะกับคนรุ่นใหม่
"ไม่ว่าจะเป็น Slack, Trello, Intercom, LastPass ซึ่งทุกอย่างอยู่บนระบบคลาวด์ (Cloud-based company) เราจึงไม่ต้องลงทุนทำอะไรเอง เพียงแค่ Subscription Fee เหมือนที่เรา Subscription Netflix ทุกเดือน เลิกใช้เมื่อไหร่ก็ Unsubscribe”
และหนึ่งในประเด็นปิดท้ายที่ชวนให้พิจารณาจากงาน “Thailand Startup in Post Covid Era 2022” คือ ความคิดเห็นของคุณรังสรรค์ จาก QueQ เกี่ยวกับแผนสนับสนุนสตาร์ทอัพของภาครัฐและสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องการมากที่สุด
“ในประเทศไทยมีหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนสตาร์ทอัพ อาทิ NIA, DEPA, สวทช. ออกมาให้ความรู้ ให้เงินทุน หรือ Granted เอาจริงๆ ก็สำคัญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังโควิด คือ สตาร์ทอัพพยายามจะทำเทคโนโลยีขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง และหลายๆ สตาร์ทอัพก็สามารถตอบโจทย์การใช้งานในยุคนี้ได้เลย
"เช่น HealthTech, AgriTech, EdTech มันจึงมีหลายเทคโนโลยีที่ภาครัฐไม่ต้องออก TOR ไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้างสร้างขึ้นมาใหม่ เพราะสามารถประกอบร่าง classified เทคโนโลยีมาใช้งานได้เลย ลองคิดภาพครับ โควิดมาแล้วอยากได้เทคโนโลยีเข้าไปตอบโจทย์ ต้องตั้งงบ รอ defend กว่าจะได้งบก็หมดไปแล้วเกือบปี หรืออาจต้องรอไปปีหน้า กว่าจะได้ implement ก็อีกปี ดังนั้น 3 ปีเป็นอย่างน้อยจึงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มันไม่ทันกับเทคโนโลยียุคนี้”