วิกฤต COVID-19 กระตุ้นให้ไทยและนานาประเทศต้องเร่งคิดค้นนวัตกรรม ร่วมกับการหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อป้องกัน ดูแลรักษา ฟื้นฟู ฯลฯ ให้แก่ประชากรของตน ศักยภาพนี้สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จึงมีการจัดอันดับ GII 2021 ดัชนีนวัตกรรมโลก โดยปีนี้ นวัตกรรมไทยได้อันดับ 43 ในเวทีโลก
GII : Global Innovation Index หรือ การจัดอันดับ ดัชนีนวัตกรรมโลก ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาหลายปี โดย World Intellectual Property Organization (WIPO) หรือ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ซึ่งในปี 2021 นี้ ไทยอยู่ในอันดับ 43 จาก 132 ประเทศ/เขตการปกครอง ที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด
มองนวัตกรรมไทยผ่าน Global Innovation Index: GII 2021
ทันทีที่ทราบผลการจัดอันดับจากสวิตเซอร์แลนด์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ก็วิเคราะห์เจาะลึกผลการจัดอันดับและจัด FB LIVE : เปิดผลการจัดอันดับนวัตกรรมโลก ประจำปี 2021 (Global Innovation Index: GII) ไทยอยู่ตรงไหนในเวทีโลก? ภายใต้แนวคิด “Tracking Innovation through the COVID-19 Crisis” สะท้อนมิติการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมไทย หลังทราบผลเพียง 3 ชั่วโมง โดย 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม
ประเด็นสำคัญที่ควรรู้
"ไทยได้ที่ 1 ด้านค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา เพราะภาคเอกชนเห็นความสำคัญของการใช้นวัตกรรม จึงลงทุนสูงและทำให้นวัตกรรมหลายตัวเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการหรือเอกชน เอกชนไทยจึงค่อนข้างมีความเข้มแข็งในด้านนี้"
ถามว่า NIA ควรส่งเสริมหรือขับเคลื่อนตัวไหน?
"เทคโนโลยี, ความหลากหลายทางธุรกิจ และตลาดทุน แต่ถ้ามองด้านนวัตกรรม สัดส่วนการลงทุนด้าน R&D ของเอกชนกับรัฐ เอกชนลงทุนเยอะที่สุดแล้ว ทำให้ไทยเป็น Worldclass ในสาขาของเราเอง นั่นคือ Biotech"
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ อธิบายผ่าน FB LIVE อีกว่า "เอกชนไทยเก่งด้านนวัตกรรม ถ้าเราพัฒนาต่อยอดจุดแข็งไปเรื่อยๆ ตลาดทุนก็จะได้ประโยชน์ "
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนนวัตกรรมไทยที่ SPRiNG เคยนำเสนอไว้
ความสามารถด้านนวัตกรรมไทยในอาเซียน
เมื่อพิจารณาอันดับของประเทศไทยในกลุ่มอาเซียน เราเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซียเรื่อยมา ขณะเดียวกัน เวียดนามก็ขยับขึ้นจนได้อันดับ 44 ตามเรามาติดๆ
"ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง เวียดนามอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ หลายคนเปรียบเทียบแต่ไทยกับเวียดนาม แต่ที่น่าจับตาคือ ฟิลิปปินส์ เติบโตเร็วที่สุดในชาร์ต GII โดยเขาขึ้นมา 50 อันดับ ถ้าย้อนดูปี 1960 ฟิลิปปินส์เจริญที่สุด ตอนนั้นเจริญกว่าญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเป็น Cosmopolitan City” ผู้อำนวยการ NIA เผยประเด็นชวนคิด และย้ำเส้นทางที่จะไปต่อว่า ขณะนี้ไทยมีความร่วมมือระดับประเทศในลักษณะของ เครือข่ายนวัตกรรมประเทศไทย (INNOVATION THAILAND ALLIANCE) ที่จะผนึกกำลังพาไทยไต่อันดับขึ้นไปติด Top 30 ของดัชนี GII ภายใน 2027 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า
Top 10 ประเทศที่โดดเด่นด้านเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม
1. สวิตเซอร์แลนด์
2. สวีเดน
3. สหรัฐอเมริกา
4. สหราชอาณาจักร
5. สาธารณรัฐเกาหลี
6. เนเธอร์แลนด์
7. ฟินแลนด์
8. สิงคโปร์
9. เดนมาร์ก
10. เยอรมนี
นอกจากนี้ เมื่อดูการจัดอันดับ GII ในหัวข้อ 'ประเทศที่โดดเด่นด้านเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมมากที่สุด' ยิ่งเห็นชัดว่า สิงคโปร์ มีศักยภาพสูงทั้งในอาเซียนและเวทีโลก และหากมองเอเชียด้วยกัน สาธารณรัฐเกาหลี ยังเป็นอีกประเทศที่โดดเด่นด้านการสร้างนวัตกรรม เพราะปูพื้นการศึกษาและมายด์เซ็ตให้คนในชาติมาเป็นอย่างดี
มาที่ด้านการพิจารณาอันดับของไทยกับความพร้อมด้านทุนมนุษย์ ดร.ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ กล่าวว่า
"เราเองอยู่อันดับ 43, 44 การก้าวกระโดดออกจากจุดนี้อาจต้องหากลไกมาเสริม เช่น การจ้างงานในธุรกิจบริการบนฐานความรู้ ที่เราได้อันดับ 98 ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ถ้าเราแก้ปัญหา Future Workforce ได้ จะช่วยให้อันดับของเราเข้มแข็งขึ้น"
สร้างสรรค์นวัตกรรมได้มาก เพิ่มความได้เปรียบ ลดความเหลื่อมล้ำ
ชาติใดที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีได้ล้ำหน้ากว่าชาติอื่น ย่อมมีความได้เปรียบ ตลอดจนมีอิทธิพลเหนือกว่าประเทศอื่นๆ หรืออาจขึ้นเป็นมหาอำนาจได้ ประเทศไทยเห็นความสำคัญของนวัตกรรมเพราะรู้ว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยและช่วยลดความเหลื่อมล้ำของคนในชาติ
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีอุปสรรคหลายด้านที่ส่งผลต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้น้อยและใช้เวลานานกว่าหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน จุดนี้สัมพันธ์กับการขาดปัจจัยสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพทั้งด้านปริมาณและสายป่านที่ช่วยเร่งให้เติบโต เช่นเรื่อง แหล่งเงินทุน
"เรามีไมโครไฟแนนซ์ อยากให้ธนาคารช่วยดูนวัตกรรมเกี่ยวกับการเงินเพื่อความทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ กับ ดัชนี ธุรกิจที่ได้รับเงินร่วมลงทุน ที่ได้อันดับ 85 เราจึงต้องช่วยกันลงทุนแบบ Venture Capital และการที่เราไม่มีข้อมูลขาใส่สตางค์กับขารับสตางค์ ไม่รู้ว่ามูลค่าการร่วมลงทุนอยู่ที่เท่าไหร่ NIA จึงอยากพัฒนาฐานข้อมูลนี้และส่งให้ WIPO พิจารณาประกอบการจัดอันดับในปีต่อไป" ดร.พันธุ์อาจกล่าวปิดท้าย
ที่มา