svasdssvasds

รู้เท่าทัน “หัวใจ” ก่อนเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่านี้ รับ 29 กันยายน วันหัวใจโลก

รู้เท่าทัน “หัวใจ” ก่อนเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่านี้ รับ 29 กันยายน วันหัวใจโลก

รู้หรือไม่ ทุกวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น "วันหัวใจโลก" เพราะหัวใจของทุกคนต้องการการดูแลที่เหมาะสม ชวนทำความรู้จักภาวะเสี่ยงหัวใจขาดเลือด โรคร้านที่เป็นสาเหตุเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรโลก แถมไทยพบการเสียชีวิตถึงปีละ 2 หมื่นคน

วันหัวใจโลก หรือ World Heart Day ตรงกับวันที่ 29 กันยายนของทุกปี ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคหัวใจ เพราะโรคหัวใจไม่ได้จำกัดที่อายุหรือเพศ แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะการเป็นอีกหนึ่งสาเหตุการเสียชีวิต ที่นับว่าเป็นอันดับที่ 1 ของโลก

วันหัวใจโลก จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2000 โดยสมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสององค์กร คือ The International Society of Cardiology (ISC) และ International Cardiology Federation ที่ได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมา เพื่อตระหนักถึงโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 17.5 ล้านคนต่อปี

ในช่วง 10 ปีแรก ได้กำหนดให้เป็นทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกันยายน ก่อนที่จะมีมติเปลี่ยนให้เป็นวันที่ 29 กันยายน ของทุกปี เมื่อปี ค.ศ. 2011 มาจนถึงปัจจุบัน

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

หัวใจถือเป็นอวัยวะขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญต่อร่างกายอย่างมาก ประเทศไทยพบอัตราการป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดกว่า 4 แสนราย รวมถึงการเสียชีวิตที่มีถึง 2 หมื่นรายต่อปี เนื่องจากเป็นโรคที่ผู้ป่วยจะไม่ทราบได้ทันทีว่าตนเองป่วยเป็นโรคดังกล่าว

เนื่องในวันหัวใจโลก รศ. นพ. สุพจน์ ศรีมหาโชตะ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อุปนายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ความรู้และตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัวใจ ไว้ดังนี้

ทำไมเป็นโรคหัวใจกันเยอะ?
ในปัจจุบัน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ นับได้ว่าเป็นโรคหัวใจที่คนไทยเป็นกันมากที่สุด โดยเกิดจากผนังของหลอดเลือดหัวใจ (Coronary) เสื่อมสภาพส่งผลทำให้ไขมันและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ก่อตัวหนาขึ้นและทำให้เกิดการอุดตันภายในหลอดเลือดหัวใจ เป็นเหตุให้หลอดเลือดหัวใจเกิดการตีบและตันส่งผลให้การไหลเวียนเลือดภายในหัวใจมีประสิทธิภาพลดลงและสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ไม่เพียงพอ

ท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลให้เกิด ‘ภาวะหัวใจล้มเหลว’ ได้ในที่สุด ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยด้านอายุ เพศ ที่ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแล้ว ปัจจัยทางพันธุกรรม อย่างการมีพันธุกรรมผิดปกติ การมีฮอร์โมนทางเพศไม่สมดุล หรือพันธุกรรมที่ส่งผลให้เกิดไขมันมากผิดปกติ เป็นต้น

และปัจจัยด้านพฤติกรรมและปัญหาสุขภาพ ที่มีความเสี่ยง และส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพอย่าง การสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายให้พอเหมาะไม่หนักเกินไปอย่างสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อสุขภาพและการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ เช่น การสูบบุหรี่ ควบคุมอาหารและทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ ไม่ทานอาหารที่มีไขมันสูงจนเกินไป จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงและวางแผนการป้องกัน

เนื่องจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ภาวะรุนแรงต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อชีวิต อย่าง ‘ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด’ และ ‘ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน’ ซึ่งเป็นผลมาจากไขมันที่สะสมอยู่ในผนังหลอดเลือดเกิดการแตกตัวออกและเกิดลิ่มเลือดอุดตันแบบเฉียบพลัน

วิธีการตรวจเช็คความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ พร้อมเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ
  • การตรวจแบบ Thai CV Risk Score เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและปัญหาสุขภาพ

วิธีการสังเกตอาการเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด

  • มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยผิดปกติในขณะออกกำลังกาย อาการจะดีขึ้นเมื่อได้พักหรือได้ยาอมใต้ลิ้น
  • รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์
  • เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กและทำการรักษา

วิธีการสังเกตอาการเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

  • มีอาการเจ็บแน่นหน้าอกมากเป็นเวลานานติดต่อกัน 20 นาทีหรือมากกว่า
  • รับประทานยาบรรเทาอาการแล้วยังไม่ดีขึ้น
  • เป็นลมหมดสติ
  • มีเหงื่อออกมากเป็นพิเศษ
  • ควรรีบเข้าพบแพทย์หากเริ่มมีอาการหรือเมื่อสงสัยว่าเป็นโรคภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • ติดต่อศูนย์เอราวัณ สายด่วน 1669 เพื่อประสานเข้ารับผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด

รู้เท่าทัน “หัวใจ” ก่อนเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่านี้ รับ 29 กันยายน วันหัวใจโลก