Remdesivir และ Favipiravir เป็นชื่อยาต้านไวรัสที่พูดถึงในโซเชียลอย่างล้นหลาม ซึ่งชาวเน็ตก็ข้องใจกันมากว่า Remdesivir ใช้ในอเมริกาได้ แต่ Favipiravir ใช้ในไทยได้ ใช้ในอเมริกาไม่ได้
ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ยาต้านไวรัสที่ผู้ติดเชื้อหลายรายขอผ่านระบบแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับ จึงคาดการณ์กันไปว่า หรือมียาในคลังไม่พอ? มียาตัวอื่นเป็นทางเลือกอีกมั้ย? จึงเกิดเสียงเรียกร้องให้นำยา เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) มาใช้เพราะ FDA ในอเมริกาอนุญาตให้ใช้ได้ ผู้ติดเชื้อหายป่วยเร็วขึ้น แต่สำหรับคนไทย ทำไมจึงเข้าถึงยา Remdesivir ได้น้อยกว่า?
ความเหมือนของยาต้านไวรัส Remdesivir และ Favipiravir
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบายเกี่ยวกับยาตัวนี้ไว้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ว่า ถ้าแพทย์ให้ยาต้านไวรัสตัวใดตัวหนึ่งแก่ผู้ป่วยโควิด 19 แล้ว การให้ยาอีกตัวนั้นจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะ Favipiravir เป็นยาต้านไวรัสที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เดียวกับ Remdesivir และปัจจุบันก็แจกจ่ายยา Favipiravir เป็นหลัก
ในด้านเหตุและผลที่ไทยใช้ยา Favipiravir เป็นหลัก เพราะองค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตได้เองและสั่งซื้อในปริมาณมากมาสำรองทำให้ราคาเฉลี่ย (economy of scale) ลดลงอยู่ที่เม็ดละ 15 บาท กล่าวคือ สำหรับผู้ป่วย 1 ราย ใช้ยา 1 โดส จำนวน 50-90 เม็ด ค่ายาจะอยู่ที่ราว 2,000-3,000 บาท ขณะที่ Remdesivir 1 โดส 6 ขวด ราคาประมาณ 30,000-40,000 บาท เทียบได้ว่า แพงกว่า 10 เท่า!
อย่างไรก็ตาม Favipiravir ที่ใช้กันในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นล็อตที่สั่งซื้อมาจากญี่ปุ่น ราคาเม็ดละ 150-160 บาท (แพงกว่าจีน) ถ้าให้ยาครบคอร์สใช้เวลา 5-10 วัน คิดเป็นมูลค่าหลายพันถึงหลักหมื่นกว่าบาท
ย้อนอ่านข่าวและบทความเกี่ยวกับการจ่ายยา
ถกความจำเป็นที่จะต้องใช้ยา Remdesivir
ยิ่งมีคำถามว่า อเมริกาใช้ยา Remdesivir ในผู้ป่วยโควิดที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงได้ ในไทยกลับมีข่าวว่า งดจ่ายยา Remdesivir ให้โรงพยาบาลเอกชน ประเด็นนี้ นพ.สมศักดิ์อธิบายว่า
"ตอนนี้เราเปิดกว้างขึ้น เรื่องไม่ให้เอกชนเบิก ไม่จริง คนคุมสต็อกยาคือองค์กรเภสัชกรรม (อภ.) โดยหลักการแล้ว Remdesivir ไม่ขาย แต่สามารถเบิกฟรีได้ ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน"
พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ แพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเสริมว่า อภ.มียา Remdesivir สำรองอยู่ที่ราว 10,000 ขวด และกำลังสั่งซื้อเพิ่ม
เทียบข้อมูลจากกรมการแพทย์ Remdesivir vs Favipiravir ต่างกันยังไง
ที่มา : กรมการแพทย์
ข้อมูลเพิ่มเติมและกรณีตัวอย่างของการใช้ยา Remdesivir
หากผู้ป่วยมีอาการปอดบวมรุนแรงและแพทย์วินิจฉัยว่าให้เริ่มใช้ Remdesivir ได้ ผู้ป่วย 1 รายที่จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองหรือสีส้มที่มีอาการแล้ว จะได้รับยา Remdesivir โดยการฉีดเข้าเส้น ซึ่งตามไกด์ไลน์การให้ยาใช้เวลา 5 วัน และด้วยอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น ผู้ป่วยจึงต้องอยู่ในโรงพยาบาลหรือ Hospitel และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
ที่มา : https://covid19.dms.go.th