องค์การเภสัชกรรม คาดว่ายาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นนั้น จะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และจากนั้นจะเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงยาอย่างเพียงพอ
ความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศ สำหรับต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG (Bio-Circula-Green Economy) ของรัฐบาล โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รายงานว่า ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช. องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ บมจ. ปตท. (PTT) เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์สารตั้งต้น (Active Pharmaceutical Ingredients : API) ของการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงพาณิชย์ เพี่อสร้างความมั่นคงทางยาให้แก่ประเทศไทย
"ยาฟาวิพิราเวียร์" คืออะไร?
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลในบทความวิชาการ (18 พ.ค.64) เอาไว้ว่า ฟาวิพิราเวียร์ถูกขึ้นทะเบียนเป็นยาที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ แต่เนื่องจากเป็นยาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์กว้าง จึงใช้ได้กับโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ ด้วย เช่น ชิคุนกุนยา และ โควิด-19
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ให้คำอธิบายในบทความทวิชาการ (8 ก.ค.64) ในทิศทางเดียวกันว่า ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ใหม่ๆ มีกลุ่มนักวิจัยชาวจีนได้ตรวจหาฤทธิ์ยาและสารอื่นจำนวนกว่า 70,000 ชนิด เพื่อนำมาใช้รักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัสโควิด-19
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รัฐบาล เผย อย. เตรียมขึ้นทะเบียน "ฟาวิพิราเวียร์" ผลิตในประเทศ รักษาโควิด
เช็กลิสต์รายชื่อประเทศไหนบ้าง ใช้วัคซีนโควิด-19 แบบผสมสูตร
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศ ไม่มีนโยบายฉีดวัคซีนต่างชนิด เว้นมีอาการแพ้
ฤทธิ์ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ต้านไวรัสได้ยังไง?
"ยาฟาวิพิราเวียร์" มีฤทธิ์ต้านไวรัสในกลุ่ม RNA virus ได้หลากหลายชนิด เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus), ไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย (foot-and-mouth disease virus), ไวรัสไข้เหลือง (yellow fever virus) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอย่างต่อเนื่องกับไวรัสที่ก่อโรคในคนอีกหลายชนิด
โดยลักษณะการออกฤทธิ์ของฟาวิพิราเวียร์ คือ ตัวยาจะมีฤทธิ์ในการเข้าไปเปลี่ยนแปลงเอนไซม์ภายในเซลล์ของร่างกาย เพื่อยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัส นอกจากนี้สารสำคัญจากตัวยา ยังทำให้เกิดการสร้างสารพันธุกรรมอาร์เอนเอของไวรัสที่ผิดปกติ และทำให้ไวรัสตาย ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์เมื่อกินเข้าไปแล้วจะไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของคนและสัตว์
ยานี้ถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดีเกือบสมบูรณ์ เกิดระดับยาสูงสุดภายใน 1 ชั่วโมง (ช่วงตั้งแต่ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง) จากนั้น ยาจะถูกเปลี่ยนสภาพที่ตับให้กลายเป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์และถูกขับออกทางปัสสาวะได้
ไทยกำลังจะผลิต "ฟาวิพิราเวียร์" ได้แล้ว
ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในประเทศไทย ระบุว่า
ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 ทางองค์การเภสัชกรรมคาดว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ได้วิจัยและพัฒนาขึ้นนั้น จะได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจาก อย. และจากนั้นจะเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงยาอย่างเพียงพอ เมื่อทุกอย่างสำเร็จลุล่วง ประเทศไทยจะสามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ในราคาที่ถูกกว่านำเข้าอย่างมาก
โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. อภ. และ บริษัท ปตท. ที่เริ่มการวิจัยมาตั้งแต่การทดสอบในระดับห้องปฏิบัติการ (Laboratory scale) การถ่ายทอดเทคโนโลยี จนถึงระดับอุตสาหกรรม (Industrial scale) ตลอดจนการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Feasibility Study) ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์