ครม.ไฟเขียวแก้กฎหมายอาญา เด็กอายุไม่เกิน 12 ปี เว้นโทษอาญา ส่วนเด็กที่ใช้มาตรการอื่นเเทนโทษอาญา เป็นเกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณคุณ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 มิ.ย.63 ว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. .. ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเกณฑ์อายุของเด็กที่ไม่ต้องรับโทษทางอาญา จากที่ปัจจุบันกำหนดไว้ไม่เกิน 10 ปี เป็นไม่เกิน 12 ปี
และเกณฑ์อายุของเด็ก ที่ใช้มาตรการอื่นเเทนการรับโทษทางอาญา จากเดิมกำหนดไว้เกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี เป็นเกิน 12 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และเป็นไปตามแผนการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่น โดยสมัครใจ ภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ.2559-2563
นอกจากนี้ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป้องกัน และปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ มี 3 ประเด็นหลักๆ ด้วยกัน คือ
คุ้มครองทรมาน-ทำให้สูญหาย
1.เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
2.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว และ 3.เพื่อขจัดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรง และสร้างหลักประกันความเป็นธรรมแก่ประชาชน
เหตุจำเป็นที่ต้องร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพราะปัจจุบันนี้ ยังมีการกระทำทรมาน และทำให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นอยู่ ยังมีการร้องเรียนไปยังสหประชาชาติเรื่องการงดเว้นโทษให้เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่มีการกำหนดความผิด บทลงโทษ รวมถึงมาตรการป้องกัน และเยียวยาในกรณีการกระทำทรมาน และกระทำให้บุคคลสูญหายไว้ในกฎหมาย เพราะฉะนั้น การตราร่างกฎหมายฉบับนี้จึงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และมากไปกว่านั้น
ร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังเป็นมาตรการสำคัญ ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ
กำหนดไม่เป็นความผิดการเมือง
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการกำหนดฐานความผิด การกระทำทรมาน และการทำให้บุคคลสูญหาย มีการกำหนดมาตรการป้องกันการเยียวยาผู้เสียหาย และการดำเนินคดีสำหรับความผิดดังกล่าว ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ยกตัวอย่างเช่น มีการกำหนดฐานความผิดการกระทำทรมาน และการทำให้บุคคลสูญหาย โดยกำหนดให้ไม่เป็นความผิดทางการเมือง
โดย สามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้เสียหายสามารถดำเนินการฟ้องร้องในคดีได้กำหนดให้เป็นคดีพิเศษและมีการกำหนดให้ความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เป็นคดีพิเศษตามกฎหมาย ว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษมีหน้าที่สอบสวนเป็นหลัก เว้นแต่คดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษตกเป็นผู้ต้องหา ให้ตำรวจเป็นผู้มีอำนาจสืบสวนแทน
โทษ 1- 10 ปี ปรับ 2 หมื่น - 2 แสน
นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ.ยังได้ระวางโทษความผิดฐานกระทำทรมาน หรือกระทำให้บุคคลสูญหายด้วย เช่น ผู้ใดทำความผิดฐานกระทำทรมาน หรือกระทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายคือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปแล้ว ดังนั้น หลังจาก ครม.เห็นชอบแล้ว จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบพิจารณาอีกครั้ง ก่อนให้สภาฯพิจารณาต่อไป
ลด-งดค่าธรรมเนียมทะเบียนราษฎร
ทางด้าน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.เพิ่มเติมว่า ที่ประชุมอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง 5 ฉบับ เพื่อยกเว้นและลดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร ทะเบียนครอบครัว ทะเบียนชื่อบุคคลและบัตรประชาชน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19
ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจดทะเบียนชื่อสกุลและค่าธรรมเนียมการออกหนังสือสำคัญ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พุทธศักราช 2478 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับคนสัญชาติไทย ในเขตพื้นที่ประสบภัยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ทั้งการขอคัดสำเนา หรือคัดและรับรองสำเนารายการทะเบียนราษฎร การออกบัตรประจำตัวประชาชน การแจ้งเกิดและการตายต่างท้องที่ การแจ้งการย้ายที่อยู่ และการขอรับสำเนาทะเบียนบ้าน ยกเว้นค่าธรรมเนียม
สำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ประสบภัยหรือได้รับผลกระทบจากภัยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ได้แก่ การออกบัตรประจำตัวคน ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย การขอคัดสำเนาหรือคัดและรับรองสำเนารายการทะเบียน หรือบัตรประจำตัว และรายการข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร แจ้งเกิดและการตายต่างท้องที่ แจ้งการย้ายที่อยู่ ขอรับสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และในช่วงสถานการณ์ที่เกิดสาธารณภัยอื่นด้วย