svasdssvasds

เสร็จศึกฆ่าขุนพล? สำรวจสวัสดิการนักกีฬาโอลิมปิกไทยเพียงพอหรือยัง

เสร็จศึกฆ่าขุนพล? สำรวจสวัสดิการนักกีฬาโอลิมปิกไทยเพียงพอหรือยัง

มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิกกำลังบรรเลงอยู่ในกรุงปารีส ทัพนักกีฬาไทย 51 คนที่เข้าร่วมแข่งขันต่างแบกศักดิ์ศรีไว้ที่ธงบนหน้าอก และแบกอนาคตในฐานะนักกีฬาไว้บนไหล่ทั้งสองข้าง

ถึงแม้การเข้าร่วมโอลิมปิกเป็นเกียรติยศสูงสุดสำหรับนักกีฬา แต่กลับไม่ใช่หลักประกันถึงคุณภาพชีวิตที่ดี ดั่งที่ปรากฎบนหน้าข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงชีวิตหลังทีมชาติของนักกีฬา เช่น พเยาว์ พูนธรัตน์ นักกีฬาคนแรกที่คว้าเหรียญโอลิมปิกกลับสู่แผ่นดินไทย เขาเสียชีวิตอย่างยากลำบากด้วยโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บที่สะสมจากการชกมวย 

เมื่อปรากฎการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น เราจึงลงไปสำรวจว่าชีวิตหลังมหกรรมกีฬาโอลิมปิกของนักกีฬาไทยเป็นอย่างไร ภาครัฐไทยสนับสนุนและดูแลพวกเขาอย่างไรบ้าง ดีเพียงพอไหม หรือเป็นเช่นที่ใครสักคนพูดไว้ว่า... เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล

ทัพนักกีฬาไทย [source: Reuters/ Albert Gea]
 

เปิดโครงสร้างสวัสดิการนักกีฬาโอลิมปิกไทย 

ถ้าจะอธิบายโครงสร้างสวัสดิการนักกีฬาทีมชาติไทย แบ่งออกได้เป็น 3 ขาใหญ่ๆ ได้แก่ 

  • ขาแรก แรงสนับสนุนจากภาคเอกชน 

ในขานี้แน่นอนว่าขึ้นอยู่กับแรงสนับสนุนจากภาคเอกชน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดกับภาครัฐ

  • ขาสอง การรับเข้าสู่ระบบราชการ (โดยเฉพาะกองทัพและตำรวจ) 

โดยขานี้ค่อนข้างซับซ้อน เพราะในบางกรณี เช่น เพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล ที่ได้รับเหรียญทองแดงโอลิมปิก (2008) ย้อนหลัง ก็ไม่ได้รับโอกาสเข้ารับราชการ หรือกรณีของ บุตรี เผือดผ่อง ที่ต้องสอบเข้าเป็นพนักงานไปรษณีย์ด้วยตัวเอง
 

ชาลิณี สนพราย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ทำวิจัยเรื่องกีฬากับการเมืองให้ความเห็นว่า ระบบที่ข้าราชการเข้ามาโอบอุ้มวงการกีฬาเกิดขึ้นเพราะการสนับสนุนวงการกีฬาที่ไม่เป็นระบบและธุรกิจกีฬาที่ไม่แข็งแรง ระบบราชการจึงกลายเป็นตาข่ายที่เข้ามารองรับชีวิตของนักกีฬาเอาไว้หลังเลิกเล่น พร้อมกับที่เป็นแม่เหล็ก ดึงดูดนักกีฬารุ่นใหม่ๆ ให้วางใจที่จะเข้าสู่วงการกีฬา

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ระบบแบบนี้กลับ “บ่อนเซาะระบบราชการ” เพราะนักกีฬาที่เข้าไปอาจไม่ได้มีทักษะที่สอดรับกับที่ระบบราชการต้องการ ทำให้ระบบราชการขาดประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส อีกทั้งยังมีแนวโน้มทำให้เกิดการสร้างอาณาจักรของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ดั่งที่เห็นได้ว่านายกสมาคมกีฬามักเป็นอดีตข้าราชการเกษียณเป็นส่วนมาก

ทัพนักกีฬามวยสากลหญิงไทย [source: FB สมาคมกีฬามวยสากลแห่งประเทศไทย]

  • ขาสาม แรงสนับสนุนจากภาครัฐ 

ในส่วนนี้ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ สวัสดิการในฐานะนักกีฬาทีมชาติโดยทั่วไปและสวัสดิการสำหรับนักกีฬาที่เข้าร่วมโอลิมปิก 

ในด้านรายได้ ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท.เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อเดือนมกราคมปี 2024 ว่า นักกีฬาทีมชาติไม่มีเงินเดือน แต่จะได้รับเบี้ยเลี้ยง 900 บาท/ วันตลอดระยะเวลาที่เตรียมทีม และอาจมากกว่านี้ขึ้นกับว่าสมาคมกีฬาที่สังกัดได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากส่วนอื่นหรือไม่ 

ในด้านสวัสดิการ ตามประกาศคณะกรรมการบริหารพัฒนาการกีฬาแห่งชาติระบุไว้ว่า ผู้มีสิทธิขอรับความช่วยเหลือ ประกอบด้วย นักกีฬาทีมชาติ, นักกีฬาจังหวัด, บุคลากรกีฬา และอดีตนักกีฬาทีมชาติที่ผ่านการแข่งขันมาแล้วไม่เกิน 4 ปี โดยกองทุนมีสวัสดิการช่วยเหลือในด้าน 

  • การรักษาพยาบาล
  • เงินช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่บุตร กรณีนักกีฬาเสียชีวิต 
  • ค่ายังชีพรายเดือน กรณีทุพลภาพหรือเสียชีวิตจากการแข่งหรือซ้อม 
  • เงินช่วยเหลือกรณีเสียชีวิต 

ทั้งนี้ กองทุนยังเปิดช่องให้อดีตนักกีฬาสามารถขอความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มเติมได้ ผ่านการพิจารณาความรุนแรงของโรคเป็นรายๆ ไป (ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นโรครุนแรง เช่น มะเร็งระยะลุกลาม, เนื้องอกสมอง, การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะสำคัญ) 

สำหรับนักกีฬาทีมชาติไทยที่เข้าร่วมโอลิมปิกในปี 2024 ทางกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF) ออกหลักเกณฑ์ไว้ชัดเจนว่า นักกีฬาที่เข้าร่วมโอลิมปิกและสามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับมา สามารถเลือกรับเงินรางวัลได้ 2 รูปแบบ คือจ่ายรวดเดียวและแบ่งจ่าย (จ่าย 50% แล้วแบ่งจ่ายอีก 50% ในระยะเวลา 4 ปี) โดยเป็นเงินรางวัล ดังนี้ 

  • เหรียญทอง: จ่ายรวดเดียว 10 ล้านบาท/ แบ่งจ่าย 12 ล้านบาท 
  • เหรียญเงิน: จ่ายรวดเดียว 6 ล้านบาท/ แบ่งจ่าย 7.2 ล้านบาท 
  • เหรียญทองแดง: จ่ายรวดเดียว 4 ล้านบาท/ แบ่งจ่าย 4.8 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการระบุถึงเงินรางวัลพิเศษสำหรับนักกีฬาที่เข้าร่วมโอลิมปิก แต่ไม่ได้รับเหรียญ ซึ่งไทยเคยมอบให้แก่นักกีฬาที่เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ปี 2016 คนละ 100,000 บาท 

คำถามคือสวัสดิการดังกล่าวเหมาะสมและเพียงพอต่อนักกีฬาที่ทุ่มทั้งหมดของชีวิตเพื่อติดทีมชาติและเข้าร่วมโอลิมปิกหรือไม่?  

ทวี อัมพรมหา [source: คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย]

ชีวิตอดีตนักกีฬาโอลิมปิกไทย

“ผมไม่เคยได้รับอะไรจากภาครัฐเลย นอกจากขันน้ำพานรองจาก กทม.หนึ่งใบ”

ข้างต้นคือคำบอกเล่าของ ขาวผ่อง หรือ ทวี อัมพรมหา เจ้าของเหรียญเงินจากโอลิมปิกปี 1984 โดยนอกเหนือจากนั้นเขาได้รับเงินอัดฉีดจำนวน 1 ล้านบาทและบ้านหนึ่งหลังจากผู้จัดการทีม และเข้าทำงานใน บ.โอสถสภา บริษัทที่ปลุกปั้นเขาขึ้นมา เวลาผ่านไปหลายสิบปี กว่าที่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยจะหันมาเห็นขาวผ่อง และมอบเงินช่วยเหลือ 10,000 บาท/ เดือนต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งในปัจจุบันหมดลงแล้ว 

แต่ถึงกระนั้น ขาวผ่องยังเล่าถึงปัญหาด้านสวัสดิการการรักษา ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยติดต่อไปที่ กกท.เพื่อขอเงินช่วยเหลือในการผ่าตัดต่อมทอนซิล แต่ถูกปฏิเสธ เนื่องจากไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต ซึ่งสำหรับเขามัน “แทงลึกลงไปในจิตใจ” ของเขามาก 

บุญศักดิ์ พลสนะ [source: STADIUMTH]

คำบอกเล่าของขาวผ่อง ใกล้เคียงกับ บุญศักดิ์ พลสนะ อดีตนักกีฬาแบตมินตันทีมชาติไทยที่เข้าร่วมโอลิมปิกมากถึง 5 ครั้ง (2002 - 2016) และทำผลงานได้ดีที่สุดด้วยลำดับที่ 4 ในโอลิมปิกปี 2004 โดยบุญศักดิ์เล่าว่า เขาไม่เคยได้รับสวัสดิการอะไรจากภาครัฐ นอกจากเบี้ยซ้อม และรางวัลปลอบใจจากการได้ที่ 4 เท่านั้น  

“มันเป็นเแบบนี้มานานแล้ว มีรุ่นพี่หลายคนที่กังวลว่าหลังเลิกเล่นหรือถ้ามีอาการบาดเจ็บใครจะเป็นคนดูแล ส่วนใหญ่หลังเลิกเล่น อาจโชคดีได้รับราชการ (ทหารเรือ) เหมือนผม แต่บางคนก็อาจไม่ได้โอกาส” บุญศักดิ์กล่าว

เรื่องเล่าทั้งหมด ถูกตอกย้ำผ่านงานวิจัยการจัดสวัสดิการให้นักกีฬาโอลิมปิกของประเทศไทยที่เก็บข้อมูลนักกีฬาทีมชาติไทยที่เข้าร่วมโอลิมปิก 77 คนพบว่า นักกีฬาที่เคยเข้าร่วมโอลิมปิกมากกว่าครึ่งยังคงประกอบอาชีพด้านกีฬา และส่วนใหญ่มีรายได้อยู่ที่ 20,000 - 25,000 บาท/ เดือนเท่านั้น

งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า นักกีฬาที่เคยเข้าร่วมโอลิมปิกล้วนคาดหวังให้ภาครัฐมีสวัสดิการที่ดีขึ้นให้แก่นักกีฬาและอดีตนักกีฬาโอลิมปิก โดย 3 ลำดับแรก ได้แก่ 

  • สวัสดิการด้านสุขภาพ เช่น การช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล
  • สวัสดิการด้านการศึกษา เช่น โอกาสในการศึกษาจนจบปริญญาตรี หรือทุนการศึกษาภายในและต่างประเทศ
  • สวัสดิการด้านอาชีพ เช่น การจ้างงานอดีตนักกีฬา  

หรืออาจสรุปได้ว่าในมุมของนักกีฬาที่เคยเข้าร่วมโอลิมปิก พวกเขายังคาดหวังแรงสนับสนุนและสวัสดิการจากภาครัฐมากกว่านี้ อย่างน้อยเพื่อให้คุ้มกับที่ฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อเกียรติยศของธงชาติบนหน้าอก

 

4 ข้อเสนอพัฒนาสวัสดิการนักกีฬาโอลิมปิก

เราได้พูดคุยกับ เยาวภา บุรพลชัย เจ้าของเหรียญเงินเทควันโดโอลิมปิกปี 2004 และนายกสมาคมนักกีฬาโอลิมปิกแห่งประเทศไทย และ ดร.สุพิตร สมาหิโต รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย เพื่อหาข้อเสนอให้การพัฒนาสวัสดิการของนักกีฬาโอลิมปิกไทย สรุปออกมาได้ทั้งหมด 4 ประการ 

เยาวภา บุรพลชัย [source: STADIUMTH]

  • ประการแรก ปรับสวัสดิการด้านสุขภาพให้ครอบคลุม

เยาวภาเปรียบว่านักกีฬาที่ไปเป็นตัวแทนประเทศในการแข่งโอลิมปิก ก็ไม่ต่างจาก “ทหาร” ซึ่งต้องทุ่มเทและฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อเป็นตัวแทนประเทศ ดังนั้น รัฐควรดูแลนักกีฬาในด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งเลิกเล่นให้กับทีมชาติแล้ว

“อยากให้แก้เรื่องรักษาพยาบาลเป็นลำดับแรก อย่างน้อยนักกีฬาจะได้ไม่ต้องอนาถา ถ้านักกีฬาไปแข่งโอลิมปิกไม่ต้องไปกังวลเรื่องเจ็บป่วย อย่างน้อยเขาจะได้สบายใจเรื่องนี้และไปทำประโยชน์อื่นต่อได้” เยาวภากล่าว 

  • ประการสอง จัดตั้งหน่วยงานสำหรับดูแลนักกีฬาโอลิมปิกโดยเฉพาะ

ข้อเสนอด้านนี้เริ่มมีการขยับบ้างแล้ว โดยเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพิ่งมีการจัดตั้งสมาคมนักกีฬาโอลิมปิกไทยขึ้น โดยหวังเป็นศูนย์กลางเชื่อมอดีตนักกีฬาไทยที่เข้าร่วมโอลิมปิก และผลักดันให้นักกีฬามีคุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างประโยชน์ต่อสังคมให้มากที่สุด 

ดร.สุพิตร หนึ่งในที่ปรึกษาสมาคมนักกีฬาโอลิมปิกไทยให้ข้อมูลว่า ในขั้นแรก ทางสมาคมกำลังจัดทำทำเนียบนักกีฬาโอลิมปิกไทย เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลของนักกีฬาทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อเป็นเกียรติประวัติให้แก่นักกีฬา รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนที่มุ่งมั่นอยากเป็นนักกีฬา 

ดร.สุพิตรยังหวังให้สมาคมดังกล่าวเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยนักกีฬาที่ไม่ได้รับรางวัลหรือเลิกเล่นแล้ว ในการสร้างอาชีพที่เหมาะสม โดยเฉพาะการพัฒนานักกีฬาสู่อาชีพที่เกี่ยข้องกับวงการกีฬาอื่นๆ เช่น โค๊ช, ดูแลนักกีฬา หรืออาสาสมัคร 

อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ยอมรับว่าสมาคมยังอยู่ในระยะตั้งไข่เท่านั้น โดยขณะนี้กำลังจดทะเบียนสมาคมกับกระทรวงมหาดไทย และยังต้องอาศัยแรงสนับสนุนอีกมาก โดยเฉพาะจากภาครัฐ

ในข้อนี้ เยาวภาเสนอว่าภาครัฐควรจัดตั้งองค์กรที่รองรับนักกีฬาโอลิมปิกที่เลิกเล่นโดยเฉพาะ มากกว่าจะปล่อยให้พวกเขากลายเป็นทหาร, ตำรวจ หรือเข้ารับราชการแต่เพียงอย่างเดียว เพื่อใช้ศักยภาพและประสบการณ์ของนักกีฬาได้อย่างสูงสุด และเพื่อเลี่ยงข้อครหาว่า “ทำไมเป็นนักกีฬาถึงต้องเป็นข้าราชการ? ทำไมต้องกินภาษีประชาชนสองทาง?”

  • ประการสาม สนับสนุนทางด้านการศึกษา

ดร.สุพิตรชี้ว่าการเป็นนักกีฬาเสี่ยงต่อการหลุดจากระบบการศึกษา ดังนั้น ควรมีองค์กรเข้าไปเป็นสะพานเชื่อมระหว่างนักกีฬาและสถาบันการศึกษา เพื่อป้องกันไม่ให้นักกีฬาหลุดจากระบบการศึกษาและมีลู่ทางในอาชีพอื่นต่อไป 

  • ประการสี่ รางวัลแก่นักกีฬาทุกคนที่เข้าร่วมโอลิมปิก

ดร.สุพิตรเสนอว่ารัฐไม่จำเป็นต้องอัดฉีดเฉพาะนักกีฬาที่ได้เหรียญรางวัล แต่ควรสนับสนุนเงินให้แก่นักกีฬาตั้งแต่ถูกคัดเลือกเข้าสู่โอลิมปิก เพราะผู้ที่ได้รับเหรียญจากโอลิมปิกมีเพียงแค่ 1/ 3 ของกีฬาแต่ละประเภทเท่านั้น ดังนั้น จึงมีนักกีฬาจำนวนมากที่พลาดเงินอัดฉีด

“ให้เงินช่วยเหลือเขาก่อนเลยได้ไหม ไม่จำเป็นต้องรอให้เขาได้เหรียญ มันไม่เยอะเลย เช่นครั้งนี้ก็ 51 คน สมมติให้คนละ 100,000 บาทก็ไม่มากเท่าไหร่จริงไหม (5.1 ล้านบาท)” ดร.สุพิตรกล่าว 

“อย่างนักกีฬาบางคนไม่ได้เหรียญ เขาก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนจำนวนมากได้ไม่ใช่หรอ เช่น วีรยา สุขเกษม ถึงเขาไม่ชนะ แต่เขาก็ชนะใจเราไปแล้ว มันก็น่าจะมีรางวัลให้เขาบ้าง หรืออยากให้ดูแลเขาบ้าง เช่น เรื่องรักษาพยาบาล” เยาวภากล่าว 

วีรยา สุขเกษม และครอบครัว [source: Nation Story/ ณปกรณ์ ชื่นตา]

ปลายน้ำไม่ดี ต้นน้ำไม่มีทางดี 

เมื่อวงการธุรกิจกีฬาในไทยยังไม่แข็งแรง บวกกับสวัสดิการที่ยังไม่ครอบคลุม ทำให้บุญศักดิ์และเยาวภาในฐานะอดีตนักกีฬาโอลิมปิกและนักธุรกิจเกี่ยวกับกีฬาต่างเห็นตรงกันว่า สวัสดิการนักกีฬาที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ ส่งผลให้ต้นน้ำหรือการสร้างนักกีฬารุ่นใหม่มีปัญหา 

"นักกีฬาหรือผู้ปกครองที่จะทุ่มเทกับกีฬาก็ต้องคิดแล้วว่า เขาจะยอมมุ่งมาทางด้านกีฬาดีไหม มันมีแรงจูงใจที่ดีไหม ซึ่งบอกได้เลยว่าไม่มีอะไรเลย ทำให้เราไม่ค่อยเห็นนักกีฬาที่มาจากทางบ้านที่มีฐานะไม่พร้อม เพราะถ้าเขาไปได้ไม่สุด มันมีอะไรรองรับเขาเลย เขาต้องกลับไปเรียน กลับไปเริ่มต้นใหม่" บุญศักดิ์กล่าว 

“อุปสรรคของคนที่สอนกีฬาปัจจุบันคือ พ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกมุ่งมั่นเต็มร้อยกับกีฬา เพราะกังวลว่าถ้าไม่สำเร็จ มันจะไม่ได้อะไรเลย ดังนั้น เอาเวลาไปติวหนังสือเพื่อเป็นอาชีพที่ได้เงินเยอะๆ ดีกว่า” เยาวภากล่าว

ประเด็นนี้ตรงกับที่ผู้ปกครองของวีรยา นักกีฬาสเก็ตบอร์ดที่เข้าร่วมโอลิมปิกปี 2024 เคยเล่าให้เราฟังว่า ทั้งคู่ต้องใช้เงินส่วนตัวเพื่อพาวีรยาเข้าแข่งในรายการต่างๆ ซึ่งบางครั้งไกลถึงประเทศฮังการี และกว่าที่จะสมาคมจะเข้ามาช่วยเหลือก็เมื่อวีรยาคว้าตั๋วโอลิมปิกได้แล้ว 

เยาวภาชี้ว่าภาครัฐต้องทำอย่างน้อย 3 อย่างถ้าอยากพัฒนาวงการกีฬาไทย หนึ่งคือสร้างแรงบันดาลใจ สองคือจัดสวัสดิการรองรับที่ดี และสามสร้างโอกาสการเข้าถึงกีฬาให้มากขึ้น เช่น นำหลักสูตรกีฬาโดยเฉพาะวิ่ง, ว่ายน้ำ และยิมนามสติกซึ่งเป็นกีฬาพื้นฐานเข้าสู่ระบบการศึกษา 

“เราคิดว่ารัฐบาลสนับสนุนกีฬาแล้ว เพียงแต่มันยังไม่เป็นระบบเต็มที่ การสนับสนุนกีฬามันต้องสนับสนุนตั้งแต่รากฐาน มันต้องสร้างและต้องใช้เวลาเป็น 5-10 ปี แล้วเราจะเห็นเพชรในวงการกีฬาไทยมากขึ้น” เยาวภาทิ้งท้าย

related